รีเซต

สนค. ชี้ส่งออกยางไทยปี'65 เติบโตฝ่าวิกฤต ครองแชมป์อันดับ 2 โลก

สนค. ชี้ส่งออกยางไทยปี'65 เติบโตฝ่าวิกฤต ครองแชมป์อันดับ 2 โลก
มติชน
7 เมษายน 2565 ( 12:31 )
103

เมื่อวันที่ 7 เมษายน นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า

 

สนค. ได้ทำการศึกษาการส่งออกยางพาราของไทย ตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์จากยางพาราสู่ตลาดต่างประเทศ

 

ยางพาราเป็นสินค้าเกษตรส่งออกอันดับที่ 2 ของไทย รองจากผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง โดยมีมูลค่าส่งออกในปี 2564 อยู่ที่ 175,978 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 61.6 ตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ จีน (มีสัดส่วนร้อยละ 35.3) มาเลเซีย (มีสัดส่วนร้อยละ 14.4) สหรัฐฯ (มีสัดส่วนร้อยละ 8.3) ญี่ปุ่น (มีสัดส่วนร้อยละ 7.6) และเกาหลีใต้


(มีสัดส่วนร้อยละ 4.0) โดยในปี 2564 มีการส่งออกสินค้าในรูปของยางแท่ง น้ำยางข้น และยางแผ่นดิบ โดยมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 88.3 24.1 และ 74.5 ตามลำดับ

 

สถิติการส่งออกสินค้ายางพาราไทย ปี 2564 ชี้ให้เห็นถึงการขยายตัว และนับเป็นปีทองของยางพาราไทย โดยปัจจัยสำคัญของการเติบโต มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ

 

1. ความต้องการในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการสินค้าป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะถุงมือยาง เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก

 

2. พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงจากการเดินทางโดยใช้รถสาธารณะ หันมาใช้รถยนต์ส่วนตัวที่เพิ่มขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการระบาด ทำให้ความต้องการยางยานพาหนะเพิ่มขึ้น การใช้ยางจึงเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย และ (3) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ส่งผลให้ความต้องการวัตถุดิบยางพาราในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

 

สนค. คาดว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 การส่งออกยางพาราของไทยจะยังเติบโตเป็นบวก แม้ว่าจะเผชิญความท้าทายในหลายปัจจัย อาทิ (1) แนวโน้มการระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มลดลง และ (2) สต็อกถุงมือยางที่อยู่ในมือของผู้นำเข้า ยังอยู่ในปริมาณสูง อย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกยางพาราของไทยยังคงมีปัจจัยบวกเนื่องจาก (1) ปริมาณน้ำยางในช่วงต้นปีของมาเลเซียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกหมดแล้ว (2) ผลผลิตยางพาราในอินโดนีเซียประสบปัญหาโรคใบร่วง ทำให้อุปทานสู่ตลาดโลกลดลง และ (3) การเติบโตของตลาดรถยนต์ในสหรัฐฯ ทำให้ความต้องการยางทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น คาดว่าปัจจัยเหล่านี้ จะช่วยให้การส่งออกยางพาราของไทยขยายตัวได้ดีในครึ่งปีแรกของปี 2565

 

นอกจากนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาส่งออกยางพาราในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยราคา F.O.B ยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 ณ วันที่ 30 มี.ค. 65 ราคา กก. ละ 76.95 บาท เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยทั้งปี 64 ที่ กก. ละ 65.34 บาท1 ซึ่งส่งผลบวกต่อมูลค่าการส่งออกยางพาราของไทย

 

สนค. ได้ประเมินตลาดศักยภาพในการส่งออกสินค้ายางพาราในแต่ละหมวด โดยพิจารณาจากลักษณะความต้องการสินค้า อัตราการเติบโตในปี 2564 และส่วนแบ่งในแต่ละตลาด ดังนี้

 

– น้ำยางข้น เป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือยาง ถุงมือทางการแพทย์ ถุงยางอนามัย ท่อยาง สายยาง กาวยาง และอุปกรณ์ยางที่ใช้ในทางการแพทย์ โดยมีตลาดศักยภาพ คือ มาเลเซีย จีน อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และบราซิล

 

– ยางแผ่นดิบ เป็นวัตถุดิบขั้นกลางในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง และเป็นชนิดของยางที่มีการผลิตมากที่สุดของไทย โดยตลาดสำคัญที่มีศักยภาพ คือ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ บราซิล และสเปน

 

– ยางแท่ง ผลิตจากยางแผ่นดิบ และน้ำยางข้น เป็นวัตถุดิบขั้นกลางที่ใช้ในการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ยางประเภทต่างๆ มีตลาดสำคัญที่มีศักยภาพ คือ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และไต้หวัน

 

นายรณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพาณิชย์โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนดนโยบายเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด เพื่อผลักดันและส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ โดยไตรมาสแรกของปี 65 ในส่วนของสินค้ายางพารา กระทรวงพาณิชย์โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสำนักงานพาณิชย์จังหวัดภาคใต้ 7 จังหวัด ดำเนินการจับคู่เจรจาธุรกิจสินค้ายางพารา ภายใต้กิจกรรม OBM RUBBER SMART CONNECT เมื่อ 23 – 24 ก.พ. 65 โดยคาดการณ์ว่าการซื้อขายภายใน 1 ปี จะมีมูลค่า 220.10 ล้านบาท ทั้งนี้ในปี 64 มูลค่าซื้อขายสินค้าผลิตภัณฑ์ยางพารา ได้แก่ ถุงมือยาง ยางรถบรรทุก จากการจับคู่เจรจาธุรกิจ มีมูลค่ารวม 170.73 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง