STA โบรกเคาะเป้า 41 บ. ยางธรรมชาติฟื้นตัวและธุรกิจถุงมือยางดีต่อเนื่อง
ทันหุ้น -สู้โควิด –บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบถึง STA ว่ามีมุมมองเป็นบวกเล็กน้อยจากการจัด SET Opportunity Day วานนี้ (16 ก.ย. 20) มีประเด็นสำคัญดังนี้
1) ราคายางยังมีแนวโน้มที่ดีในไตรมาส 3 และ 4 จากผู้ประกอบการล้อยางรถยนต์กลับมาเดินการผลิตได้มากขึ้นประมาณ 70-80%หลัง COVID-19 ผ่อนคลาย
2) แนวโน้มราคาถุงมือยางยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก Demand ของถุงมือยางที่ยังคงขยายตัว ขณะที่กำลังการผลิตทั่วโลกยังคงมีจำกัด ทำให้กลุ่มผู้ผลิตยังคงได้เปรียบในช่วง 1-2 ปีนี้ คาดไตรมาส 3-4Q20E ยังสามารถเห็นการเติบโตของ margin จากราคาถุงมือยางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาขาย 3Q20E ที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.12 บาท/ชิ้น (+70% QoQ) ซึ่งยังคงเป็นไปตามสมมติฐานของเรา
3) แม้จะมีข่าววัคซีนป้องกัน COVID-19 ออกมา แต่บริษัทลูกถุงมือยาง STGT ยังไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าว เนื่องจากลูกค้าไม่ยกเลิก order และยังคงจองไลน์การผลิตเต็มไปถึงปลายปี 2021 ซึ่ง backlog ที่บริษัทมีคิดเป็น 88-90% ของกำลังการผลิต
คงกำไรสุทธิของ STA ในปี 2020E อยู่ที่ 4.6 พันล้านบาท ดีขึ้นจากขาดทุนในปีก่อน -149 ล้านบาท และคงกำไรสุทธิปี 2021E อยู่ที่ 4.8 พันล้านบาท (+5% YoY) ราคาขายยางแท่งซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักยังอยู่ในระดับใกล้กับสมมติฐานของเราที่ 42 บาทต่อกก. ราคายางพารามีเสถียรภาพมากขึ้นในปีนี้ส่งผลให้การบริหารต้นทุนและวัตถุดิบทำได้ราบรื่นขึ้น โดยกำไรจากยางปีนี้คาดว่าจะอยู่ประมาณ 1.6 พันล้านบาทเทียบกับขาดทุน 728 ล้านบาทในปีก่อน เพราะในปีนี้ผู้ประกอบการธุรกิจยางธรรมชาติบางส่วนออกจากตลาดไป ทำให้การแข่งขันรวมถึงการแย่งซื้อวัตถุดิบลดลงมากรวมถึงกลุ่มลูกค้าในจีนเริ่มมีการฟื้นตัวและกลับมาเดินการผลิต
ในขณะธุรกิจถุงมือยาง คาดว่าบริษัทจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจถุงมือยางปี 2020E อยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านบาท จากกำไรของบริษัทลูก STGT ที่ประมาณ 5.8 พันล้านบาท(+809% YoY) ขณะนี้ยังไม่มีความกังวลในเรื่องของน้ำยางสังเคราะห์และน้ำยางข้น เนื่องจากบริษัทมีพันธมิตรที่ทำธุรกิจด้วยกันมายาวนานกว่า 10 ปี อีกทั้งบริษัทยังเป็นผู้เล่นรายใหญ่ของประเทศที่มีอำนาจต่อรองสูง
ราคาเป้าหมายที่ 41.00 อิง PER ที่ 14x เทียบเท่า ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี โดยมี key catalyst คือ ภาวะ COVID-19 ที่ยังยืดเยื้อรุนแรงในต่างประเทศ ขณะที่ความเสี่ยงคือ ความล่าช้าของการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ของลูกค้ารวมถึงการคิดค้นวัคซีนป้องกัน COVID