ช็อกเฮตสปีช! คลัสเตอร์เขาย้อย ถูกมองข้ามปัญหาแออัด-ตรวจไม่ครบแต่อ้างครบ
ชาวเน็ตไทยบางส่วนใช้เฮตสปีชต่อแรงงานต่างชาติ คลัสเตอร์เขาย้อย แต่มีชาวเน็ตอีกส่วน ใช้โซเชียลมีเดียปกป้องชาวเมียนมา พร้อมย้ำอย่ามองข้ามปัญหาการบริหารจากรัฐ
หลังจากมีการประกาศการแพร่ระบาดในจังหวัดเพชรบุรี คลัสเตอร์อำเภอเขาย้อย ซึ่งส่วนมากเป็นแรงงานต่างชาติชาวเมียนมา คลัสเตอร์อำเภอเขาย้อย ถูกจับตามองจากคนไทยจำนวนมาก เนื่องจากเมื่อวันที่ 27 พ.ค.64 ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น คือมีเหตุกระแสไฟฟ้าขัดข้องเป็นเวลานานกว่า 12 ชั่วโมงในโรงพยาบาลสนาม
จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ แรงงานผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างกักตัว รวมตัวออกมาประท้วง บริเวณด้านหน้าโรงงานแคลคอมพ์ อ.เขาย้อย ซึ่งกระแสไฟฟ้าที่ขัดข้องมีสาเหตุจากการใช้กระแสไฟฟ้าเกินกำหนด โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ใช้กาต้มน้ำร้อนเพื่อชงกาแฟ มีการใช้พัดลมจำนวนมากเนื่องจากอากาศที่ร้อนอบอ้าว และสภาพแวดล้อมที่แออัดเบียดเสียด จนน่าวิตกกังวลของโรงพยาบาลสนาม
ข่าวสารการประท้วงของผู้ป่วยแรงงานต่างชาติ ได้ถูกเผยแพร่ออกไปตามสื่อต่าง ๆ เช่น โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียเฟซบุ๊ก พบว่า มีชาวเน็ตส่วนหนึ่งที่เข้าไปคอมเมนต์ข้อความในเชิงสร้างความเกลียดชัง และต่อว่าแรงงานต่างชาติ ด้วยข้อความลดทอนความเป็นมนุษย์ จำนวนมาก ข้อความส่วนใหญ่กล่าวหาว่า แรงงานต่างชาติไม่มีความอดทน พร้อมไล่กลับไปอยู่อย่างลำบากและอันตรายที่ประเทศบ้านเกิด
ขณะเดียวกันในโซเชียลมีเดียก็มีชาวเน็ตจำนวนหนึ่ง พยายามต่อต้านคำพูดสร้างความเกลียดชังเช่นกัน โดยพยายามชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าการประท้วงขณะติดเชื้อเป็นเรื่องที่ไม่สมควรกระทำ แต่การพักฟื้นในสภาพแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เตียงสนามจำนวนมาก เป็นเพียงการปูผ้าที่พื้น ไม่มีระยะห่างที่มากเพียงพอระหว่างบุคคล และคาดว่าไม่มีการระบายอากาศที่เหมาะสม ชาวเน็ตส่วนหนึ่งระบุว่า สภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างย่ำแย่กว่าโรงพยาบาลสนามโดยทั่วไป และปัจจัยเหล่านี้น่าจะไม่เอื้ออำนวยแก่การพักฟื้นของผู้ป่วยได้ดีนัก
ผู้ใช้โซเชียลมีเดียบางส่วน ระบุว่า ต่อให้เป็นแรงงานต่างชาติ ที่ไม่ใช่คนไทย ก็สมควรได้รับการปฏิบัติในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง รวมถึงต่อว่าชาวเน็ตที่เข้าไปคอมเมนต์ข้อความสร้างความเกลียดชังว่า เป็นข้อความมีลักษณะที่ขาดความเห็นอกเห็นใจ และปัญหาใหญ่ในระดับโรคระบาด ไม่ใช่สิ่งที่แรงงานจะรับมือได้ แต่ต้องไปดูที่การบริหารจัดการจากภาครัฐว่ามีปัญหาในส่วนใด
ทั้งนี้ มีผู้ใช้โซเชียลทวิตเตอร์ จำนวนหนึ่ง ทวีตข้อความ เล่าถึงกระบวนการทำงานของภาครัฐ และเรียกร้องถึง การขาดความโปร่งใสในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีผู้ใช้โซเชียลมีเดียทวิตเตอร์คนหนึ่ง ระบุว่า ในคลัสเตอร์เขาย้อย มีเจ้าหน้าที่แจ้งว่า จะไม่ทำการตรวจโควิดให้ ผู้เช่าในหอพักแล้ว หอของคนรู้จัก มีคนอยู่ 99 คน เหลือยังไม่ได้ตรวจอีก 47 คน โดยเป็นเพียงการสุ่มตรวจหอละ 5 คน 10 คน จากหอพักที่มีผู้อาศัยหลักร้อย แต่เจ้าหน้าที่กลับรายงานไปว่าตรวจทุกหอแล้ว ต่อมาเจ้าหน้าที่แจ้งเพิ่มเติมว่า แม้ว่าจะอยู่คลุกคลีกับผู้ติดเชื้อ แต่ยังไม่แสดงอาการ ก็จะไม่อนุญาตให้ตรวจ
ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ถือเป็นครั้งแรก เนื่องจากก่อนหน้านี้ ในช่วงปลายปี 2563 สำนักข่าวระดับโลก 'รอยเตอร์' ก็เคยตีพิมพ์บทความและข่าวที่ระบุถึงปัญหาในลักษณะนี้ของไทยนี้มาแล้ว ซึ่งข่าวดังกล่าวมีใจความว่า คนไทยบางกลุ่ม ใช้เฮตสปีชต่อ ชาวเมียนมา ขณะที่คนไทยบางกลุ่มใช้โซเชียลมีเดียเพื่อปกป้องคนงานเมียนมา พร้อมตั้งคำถามต่อกรณี ผู้ติดเชื้อแฝงของไทย นอกจากนี้ ชาวเน็ตส่วนหนึ่งเชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยยังมีค่านิยมสุดโต่งเกี่ยวกับความเป็นชาตินิยม ทว่ายังขาดความเข้าใจและตระหนักรู้เกี่ยวกับหลักสากล เช่น หลักมนุษยธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึง ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น