รีเซต

โควิด-19 : ผู้คนหันมาใช้บริการทำศพแบบทางเลือกมากขึ้นในยุคโรคระบาด

โควิด-19 : ผู้คนหันมาใช้บริการทำศพแบบทางเลือกมากขึ้นในยุคโรคระบาด
ข่าวสด
4 พฤษภาคม 2564 ( 00:31 )
132

 

การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้สร้างความเจ็บปวดใจให้กับผู้คนนับล้านทั่วโลกที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นเครื่องเตือนใจให้เราได้ระลึกไว้เสมอว่าความตายเป็นเรื่องแน่นอนที่ต้องเกิดขึ้นในชีวิตของทุกคน

 

แนวโน้มที่เกิดขึ้นนี้จึงทำให้ผู้คนหันมาคิดในเชิงสร้างสรรค์มากขึ้นว่าพวกเขาต้องการทำอะไรกับร่างกายหรือเถ้ากระดูกของตนเองเมื่อได้ลาโลกไปแล้ว

 

เบนด์ เดบุสแมนน์ จูเนียร์ ผู้สื่อข่าวสายธุรกิจของบีบีซี ได้พูดคุยกับธุรกิจรับจัดการศพแนวใหม่ที่มีบริการทำศพด้วยแนวคิดสร้างสรรค์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม นอกเหนือไปจากการจัดงานศพด้วยวิธีการดั้งเดิมเช่นการฝัง

 

Eternal Reefs
Eternal Reefs นำเถ้ากระดูกผู้เสียชีวิตไปเป็นส่วนผสมในการทำปะการังเทียมแล้วนำไปวางนอกชายฝั่งภาคตะวันออกของสหรัฐฯ

 

เปลี่ยนศพเป็นปะการังเทียม

 

Eternal Reefs บริษัทรับทำศพในรัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ บอกว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนสนใจใช้บริการของบริษัทมากขึ้น

 

นับตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจในปี 1998 บริษัทแห่งนี้ได้ช่วยผู้ที่เพิ่งเสียชีวิตได้แปลงสภาพร่างที่ไร้วิญญาณของพวกเขาไปเป็นปะการังเทียมรูปโดม เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในทะเล โดยนำเถ้ากระดูกของพวกเขาไปใส่ในส่วนผสมคอนกรีตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

จอร์จ แฟรงเคิล ผู้บริหารของ Eternal Reefs บอกว่า "โรคระบาดช่วยเพิ่มความสนใจ (บริการของบริษัท) ให้เพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย...ผมเชื่อว่าโรคระบาดที่เกิดขึ้นทำให้ผู้คนเปิดรับแนวคิดบางอย่างที่นอกเหนือไปจากการฝังศพตามธรรมเนียมปฏิบัติแบบดั้งเดิม"

 

"เรามีลูกค้าที่เป็นผู้มีความรักความสนใจในมหาสมุทร แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ชอบแนวคิดเรื่องการให้เพื่อตอบแทนโลก"

 

เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา บริษัทได้นำปะการังเทียมที่มีส่วนผสมของเถ้ากระดูกผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 ชิ้นไปวางไว้ในทะเล 25 จุด นอกชายฝั่งภาคตะวันออกของสหรัฐฯ

 

Eternal Reefs
ครอบครัวผู้เสียชีวิตสามารถชมการวางปะการังเทียมในทะเลได้

 

เปลี่ยนศพเป็นปุ๋ยอินทรีย์

 

ส่วนคนที่ต้องการให้ศพของตัวเองอยู่ที่พื้นดิน ก็สามารถใช้บริการของบริษัท Recompose ในนครซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน ที่พัฒนาเทคโนโลยี ทำให้ศพย่อยสลายกลายเป็นดินปุ๋ยชั้นดี เหมาะสำหรับนำไปทำสวนและเพาะปลูก

 

โดยกรรมวิธีที่ว่านี้คือการนำศพเข้าเก็บในช่องรูปทรงกระบอกทำจากเหล็กที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ แล้วกลบร่างของผู้เสียชีวิตด้วยเศษไม้สับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ฟาง และพืชตระกูลถั่วที่เรียกว่า "อัลฟัลฟา" (alfalfa)

 

จากนั้นก็ควบคุมระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจน ออกซิเจน ความร้อน และความชื้นในช่องเก็บศพเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเติบโตของจุลินทรีย์และแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ในการนี้

 

เมื่อครบกำหนดที่ศพได้ย่อยสลายลงอย่างสมบูรณ์ ซึ่งคาดว่ากินเวลาประมาณ 30 วัน ญาติมิตรจะสามารถนำดินปุ๋ยทั้งหมดหรือบางส่วนที่ได้จากการหมักศพไปใช้ปลูกต้นไม้และทำสวนได้ โดยจะมีดินปุ๋ยเกิดขึ้นราว 3 ลูกบาศก์ฟุตต่อการย่อยสลายศพ 1 ร่าง และหากยังมีดินที่เหลือหลังจากการมอบให้ญาติมิตรของผู้ตายอยู่อีก ทางบริษัทจะนำไปโปรยในป่าเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ธรรมชาติต่อไป

 

วิธีการทำศพแบบนี้นับว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการฉีดน้ำยาให้ศพแล้วใส่โลงฝังดิน หรือวิธีฌาปนกิจที่ต้องมีการเผาไหม้สิ้นเปลืองพลังงาน ทั้งยังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณมหาศาล

 

Recompose
การทำศพด้วยวิธีย่อยสลายตามธรรมชาติ ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนและช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (ในภาพเป็นแบบจำลองไม่มีศพจริงอยู่ในภาพ)

 

แคทรีนา สเปด ซึ่งก่อตั้งบริษัท Recompose ขึ้นในปี 2017 บอกว่า บริษัทมีผู้สนใจใช้บริการเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาด

 

เธออธิบายว่า มันคือการพูดคุยกับตัวเอง กับเพื่อนฝูงและครอบครัว แต่ขณะเดียวกันก็เป็นความคิดริเริ่มที่เป็นรูปธรรมที่บอกว่าเมื่อคุณเสียชีวิตลง คุณต้องการทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

"เราได้ยินจากผู้คนมากมายว่านี่ช่วยให้พวกเขามีความหวังและความสบายใจ"

 

ส่งเถ้ากระดูกขึ้นสู่อวกาศ

 

ส่วนผู้ที่ต้องการทางเลือกที่ไม่เหมือนใคร ก็สามารถใช้บริการส่งเถ้ากระดูกของตัวเองขึ้นสู่ห้วงอวกาศได้

 

บริษัท Celestis ในสหรัฐฯ ให้บริการดังกล่าวมาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว โดยส่งเถ้ากระดูกผู้เสียชีวิตไปพร้อมกับภารกิจอวกาศต่าง ๆ เพื่อให้ปล่อยสู่วงโคจรของโลก หรือห้วงอวกาศที่อยู่เหนือไปกว่านั้นได้

 

ชาร์ลส์ ชาเฟอร์ ประธานาเจ้าหน้าที่และผู้ร่วมก่อตั้ง Celestis บอกว่า การพัฒนาของผู้ให้บริการขนส่งทางอวกาศเชิงพาณิชย์ต่าง ๆ เช่น บริษัทสเปซเอ็กซ์ ของมหาเศรษฐี อีลอน มัสก์ ช่วยให้บริการเช่นนี้เกิดขึ้นได้

 

"ปัจจุบันเราส่ง (เถ้ากระดูก) ขึ้นสู่ห้วงอวกาศปีละ 2 - 3 ครั้ง...แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้าเราจะเพิ่มความถี่ขึ้นเป็นอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง"

 

John Krause
Celestis ส่งเถ้ากระดูกของลูกค้าไปพร้อมกับภารกิจอวกาศขององค์การนาซา ปี 2006

 

คนตะวันตกเลือกการฌาปนกิจศพเพิ่มขึ้น

 

ข้อมูลจาก The Business Research Company บริษัทวิจัยข้อมูลทางการตลาดระบุว่า ในปีนี้ภาคธุรกิจบริการทำศพทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3.41 ล้านล้านบาท) และจะเพิ่มเป็น 148,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 4.58 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2025

 

แนวโน้มของการทำศพรูปแบบใหม่ และการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการประกอบพิธีศพที่กำลังเพิ่มขึ้นนี้ สอดคล้องกับแนวโน้มของการที่ผู้คนในโลกตะวันตกเริ่มเสื่อมความนิยมกับการฝังศพ แล้วหันมาใช้วิธีเผาศพกันมากขึ้น

 

ในสหรัฐฯ คาดว่าเมื่อปีที่ผ่านมา ราว 56% ของผู้เสียชีวิตถูกฌาปนกิจ และคาดว่าแนวโน้มนี้จะเพิ่มเป็น 78% ในอีก 20 ปีข้างหน้า ในขณะที่สัดส่วนของชาวอเมริกันที่เลือกใช้วิธีการเผาศพในช่วงทศวรรษที่ 1960 อยู่ที่เพียง 4%

 

แนวโน้มเดียวกันนี้ยังพบเห็นได้ในสหราชอาณาจักร ที่ 78% ของผู้เสียชีวิตในปี 2019 ใช้วิธีฌาปนกิจ ขณะที่ตัวเลขดังกล่าวในปี 1960 อยู่ที่เพียง 35%

 

เทคโนโลยีกับพิธีศพ

 

ปีเตอร์ บิลลิงแฮม ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจงานศพในสหราชอาณาจักร เล่าให้บีบีซีฟังว่า โรคระบาดที่เกิดขึ้นทำให้ผู้คนยอมรับเรื่องการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในภาคธุรกิจนี้เพิ่มขึ้น

 

ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจในยุคนี้กำลังหันมาให้บริการถ่ายทอดสดงานศพกันมากขึ้น เนื่องจากมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนไม่สามารถเดินทางไปร่วมพิธีศพได้

 

Tribucast
บริษัท Tribucast ชี้ว่าการใช้เทคโนโลยีที่เอื้อให้ผู้คนเข้าร่วมพิธีศพแบบทางไกลได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว แต่การระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้มีผู้สนใจใช้บริการนี้เพิ่มขึ้นไปอีก

ตอนที่พ่อของไมเคิล เบอร์ริน เสียชีวิตที่นครนิวยอร์กเมื่อต้นปีนี้ เขาก็ใช้บริการที่กล่าวมาข้างต้น โดยว่าจ้างบริษัท Tribucast ถ่ายทอดสดพิธีศพเพื่อให้ญาติมิตรทั่วสหรัฐฯ และในประเทศอื่น เช่น แคนาดา อินเดีย อิสราเอล ปานามา สวีเดน และสหราชอาณาจักร ได้ร่วมชมพิธีศพด้วยเสียงและภาพที่มีความคมชัดสูง

 

เบอร์ริน บอกว่า "ทุกคนรู้สึกเหมือนได้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีศพ แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้เดินทางไปร่วมงานด้วยตัวเอง"

 

บรูซ ลิกลี ผู้ร่วมก่อตั้ง Tribucast บอกว่า บริษัทมีคนติดต่อขอใช้บริการตลอดทั้งปีที่ผ่านมา

 

"ธุรกิจของเราเติบโตขึ้นอย่างมาก เราคิดว่ามันเป็นกระแสที่กำลังมาอยู่แล้ว และยิ่งถูกเร่งให้เติบโตเร็วขึ้นจากการระบาดของโควิด -19"

 

Tribucast ก่อตั้งขึ้นในปี 2017 โดยมีบริการถ่ายวิดีโอบันทึกภาพงานศพ ลิกลีบอกว่า การใช้เทคโนโลยีที่เอื้อให้ผู้คนเข้าร่วมพิธีศพแบบทางไกลนั้นได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว จากรูปแบบครอบครัวและเพื่อนฝูงที่อาศัยและใช้ชีวิตอยู่ห่างไกลกันมากขึ้นในยุคปัจจุบัน

 

ซึ่งรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ ทำให้การเดินทางไปร่วมพิธีศพทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เป็นชาวยิว หรือชาวมุสลิมที่มีข้อกำหนดทางศาสนาให้ต้องฝังศพผู้เสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง