รีเซต

ฤดูฝนต้องรู้..รับมืออย่างไร? หากต้องเผชิญสถานการณ์น้ำท่วม-น้ำหลาก

ฤดูฝนต้องรู้..รับมืออย่างไร? หากต้องเผชิญสถานการณ์น้ำท่วม-น้ำหลาก
TNN ช่อง16
16 กรกฎาคม 2567 ( 20:06 )
45

ในช่วงนี้มีฝนตกต่อเนื่องมีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก  เพื่อป้องกันและลดผลกระทบ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะวิธีรับมือ และการปฏิบัติตนให้ปลอดภัย


หากมีประกาศแจ้งเตือนระดับน้ำมีความผิดปกติ ให้เตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า และ ยานพาหนะให้ย้ายไปไว้ในพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง อพยพผู้ป่วย ผู้สูงอายุ เด็ก และสัตว์เลี้ยง ไปอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย


เตรียมสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นไว้ใช้ในช่วงน้ำท่วม อาทิ เครื่องนุ่งห่ม น้ำดื่มสะอาด ยารักษาโรค ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น และจัดเก็บเอกสารสำคัญไว้ในถุงพลาสติกและซองกันน้ำ อาทิ บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน บุ๊คแบงก์  เพื่อป้องกันเอกสารได้รับความเสียหาย



เตรียมรับมือเหตุน้ำท่วม


-จัดเตรียมไฟฉายไว้ใช้ช่วงไฟฟ้าดับ หากมีเครื่องสำรองไฟควรศึกษาวิธีใช้ เผื่อจำเป็นต้องใช้งาน

-เก็บกวาดกำจัดขยะไม่ให้อุดตันท่อน้ำ รางน้ำฝน หรือกีดขวางทางน้ำ 

-เตรียมกระสอบทราย หรือ อุปกรณ์กั้นน้ำ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงน้ำเข้าท่วมบ้าน

-ตรวจเช็กระบบไฟฟ้าภายในบ้าน ป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วไหล พร้อมปิดครอบป้องกันละอองน้ำฝน เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 



นอกจากนี้ ยังมีข้อแนะนำจาก กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ถึงการป้องกันอันตรายจาก ไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าลัดวงจร  


-อันดับแรก ควรตัดกระแสไฟ และงดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดหากเกิดน้ำท่วมในบ้าน เพราะอาจเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วได้

-หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำใกล้ปลั๊กไฟ สายไฟ อุปกรณ์ที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า หรือ เสาไฟฟ้า เนื่องจากเมื่อเกิดไฟฟ้ารั่วจะมีกระแสไฟฟ้ากระจายเป็นวงกว้างไม่ต่ำกว่า 3 เมตรขึ้นไป

-อย่าแตะสวิตช์ ปลั๊กไฟ สายไฟ หลอดไฟ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสียบปลั๊กอยู่ในขณะที่ร่างกายเปียกชื้น หรือ กำลังยืนอยู่บนพื้นเปียกหรือเท้าแช่อยู่ในน้ำ



ส่วนการป้องกันไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าลัดวงจร


-ควรย้ายปลั๊กไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้าขึ้นที่สูง 

-ตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอยู่เป็นประจำ หากพบว่าชำรุดให้เรียกช่างมาซ่อม หรือ เลิกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านั้น

-ห้ามใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่โดนน้ำท่วมแล้ว หากจำเป็นต้องใช้ควรตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้งาน



พร้อมย้ำถึงการช่วยเหลือคนที่ถูกไฟดูด ที่สำคัญให้ตัดกระแสไฟในที่เกิดเหตุทันที ห้ามสัมผัสตัวผู้ถูกไฟดูดด้วยมือเปล่าเด็ดขาด ควรใช้วัสดุที่ไม่เป็นตัวนำไฟฟ้า เช่น ถุงมือยาง ผ้าแห้ง หรือ พลาสติกแห้ง



ข้อมูล : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) , กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค

ภาพ : ทีมกราฟิก TNN



ข่าวที่เกี่ยวข้อง