รีเซต

พล.อ.ประวิตรเยี่ยมชาวสระบุรีติดตามสถานการณ์น้ำ กำชับทุกหน่วยพร้อมรับมือเต็มศักยภาพ

พล.อ.ประวิตรเยี่ยมชาวสระบุรีติดตามสถานการณ์น้ำ กำชับทุกหน่วยพร้อมรับมือเต็มศักยภาพ
มติชน
15 สิงหาคม 2565 ( 16:10 )
52

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดสระบุรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ และการเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัย ตลอดจนความก้าวหน้าในการซ่อมแซมคันกั้นน้ำบริเวณคลอง 23 ขวา คลองชัยนาท-ป่าสัก โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเริงราง จังหวัดสระบุรี โดยมี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมบรรยายสรุปการดำเนินงาน

 

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ลุ่มน้ำป่าสักมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 15,623 ตารางกิโลเมตร มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยทั้งลุ่มประมาณ 3,320 ล้าน ลบ.ม. มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 1 แห่ง ได้แก่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ความจุ 960 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทาน ได้วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำเหนือเขื่อนป่าสักฯ (ปี 2547-2570) จำนวน 29 โครงการ คิดเป็นปริมาณน้ำเก็บกัก 254 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทาน 0.20 ล้านไร่ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 12 โครงการ เก็บกักน้ำได้ 197 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทาน 26,250 ไร่

 

สำหรับสถานการณ์น้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบัน(15 ส.ค. 65) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 450 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯ มีน้ำไหลเข้าอ่างฯในช่วงวันที่ 1-15 ส.ค. 65 รวมประมาณ 594.63 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำ 160 ลบ.ม./วินาที โดยจะทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันได และเป็นไปตามเกณฑ์การบริหารอ่างเก็บน้ำ (operations rule curve) ซึ่งจะพิจารณาร่วมกับแผนการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และท้ายเขื่อนพระราม 6 เพื่อจัดจราจรน้ำ ระหว่างทั้ง 3 เขื่อน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ภายใต้ขีดจำกัดของคลองที่รับน้ำต่อเนื่องในแนวคลองเหนือ-ใต้ (คลองชัยนาท-ป่าสัก คลองระพีพัฒน์ คลองระพีพัฒน์แยกใต้ คลองระบายน้ำ13 คลองพระองค์ไชยานุชิต ลงสู่คลองชายทะเล และสูบน้ำออกสู่อ่าวไทย) และแนวคลองออก-ตก ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกง รวมทั้งเตรียมพร้อมรับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นด้วยการพร่องน้ำในคลองสาขาต่างๆ เพื่อรองรับปริมาณน้ำจากทางตอนบน และปฏิบัติตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี65 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) อย่างเคร่งครัด ที่สำคัญได้ทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำล่วงหน้าให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง

 

ด้านการซ่อมแซมคันกั้นน้ำบริเวณคลอง 23 ขวา คลองชัยนาท-ป่าสัก จังหวัดสระบุรี ที่ชำรุดเสียหาย จากอิทธิพลของพายุ “เตี้ยนหมู่” เมื่อปลายเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณน้ำในคลองชัยนาท-ป่าสัก ไหลลอดกำแพงกั้นน้ำบริเวณคลองส่งน้ำ 23 ขวา ชัยนาท-ป่าสัก ช่วง กม.0+100 – 0+250 เข้าท่วมพื้นที่ตำบลสร่างโศก ตำบลตลาดน้อย อำเภอบ้านหมอ ตำบลหนองโดน และอำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี เบื้องต้น กรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเริงราง ได้ก่อสร้างทำนบชั่วคราวบริเวณคันคลองทั้งสองฝั่ง ปัจจุบันคืบหน้าไปแล้วร้อยละ 70 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2565 เพื่อให้สามารถรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนปี 65 นอกจากนี้ ยังได้วางแผนแก้ไขปัญหาระยะยาว ด้วยการปรับปรุงประตูระบายน้ำปากคลองส่งน้ำ 23 ขวา และปรับปรุงคลองส่งน้ำ 23 ขวา บริเวณ กม. 0+ 050 – 0+375 เพื่อใช้ควบคุมปริมาณน้ำและระดับน้ำไม่ให้สูงเกินความจุของคลองส่งน้ำ 23ขวา ซึ่งจะส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

ในการนี้ พลเอกประวิตร ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนรับมือฤดูฝนทั้ง 13 มาตรการอย่างเคร่งครัด และดำเนินการตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม ปี 2565 ที่ กนช. เห็นชอบ ที่สำคัญให้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์ให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง พร้อมบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างทั่วถึง และให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็วที่สุด พร้อมกับเร่งรัดให้กรมชลประทาน ดำเนินการซ่อมแซมคันดิน 23 ขวา คลองชัยนาท-ป่าสัก และวางแผนปรับปรุงให้มีความมั่นคงแข็งแรงโดยเร็วต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง