รีเซต

ไขปริศนา “พระธาตุอินทร์แขวน” ทำไมไม่สะเทือนหลังแผ่นดินไหวใหญ่เมียนมา

ไขปริศนา “พระธาตุอินทร์แขวน”  ทำไมไม่สะเทือนหลังแผ่นดินไหวใหญ่เมียนมา
TNN ช่อง16
2 เมษายน 2568 ( 18:27 )
9

ไขปริศนา “พระธาตุอินทร์แขวน” อ. เจษฎา ตอบให้ทำไมไม่สะเทือนหลังแผ่นดินไหวใหญ่

พระธาตุอินทร์แขวน หรือ "พระธาตุไจที่โย่" ตั้งอยู่ในรัฐมอญ ประเทศเมียนมา เป็นหนึ่งในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนิกชน และถือเป็น 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของชาวพม่า สิ่งที่น่าพิศวงคือก้อนหินขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนหน้าผาอย่างหมิ่นเหม่ แต่กลับไม่ล้มลงมา แม้จะเผชิญกับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวหลายครั้งก็ตาม และ เป็นที่กล่าวขานในโลกโซเชียลมีเดียเมื่อช่วง 2 - 3 วันที่ผ่านมา

ปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาที่อยู่เบื้องหลัง

ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยข้อมูลในกรณีนี้ ทางธรณีวิทยา อธิบายการเกิดของพระธาตุนี้ว่า เป็นผลจากการกัดเซาะ (erosion) ตามธรรมชาติ ที่ปรากฏขึ้นตามที่ต่างๆทั่วโลก เพียงแต่หาดูได้ยากสักหน่อย

สาเหตุนั้น เกิดจากการยกตัวของชั้นหินแกรนิต และเกิดการแตกร้าวขึ้นได้ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน
หลังจากนั้น น้ำเป็นตัวการในการกัดเซาะ โดยไหลไปตามแนวรอยแยกของหิน และกัดเซาะเปลี่ยนแปรรูปร่างของหินอย่างช้าๆ เป็นเวลาอันยาวนาน จนทำให้ก้อนหินดูเป็นรูปกลมเกลี้ยงขึ้น และดูหลอกตา เหมือนกับว่าก้อนหินนี้ถูกยกขึ้นไปวางไว้บนหน้าผา อย่างน่าอัศจรรย์

ปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาแบบนี้ อาจจะเรียกว่า เป็น  balancing rock หรือหินสมดุล (หรือ balanced rock หรือ precarious boulder) ซึ่งเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ และทำให้เห็นก้อนหินขนาดใหญ่ ไปตั้งอยู่บนก้อนหินก้อนอื่นหรือหน้าผา
หินสมดุลนั้น มีทั้งแบบที่เกิดจากการที่หินก้อนใหญ่ ไหลมาตามการเคลื่อนที่อันทรงพลังของ "ธารน้ำแข็ง Glacial" จนทำให้มันย้ายไปอยู่ที่อื่นได้อย่างน่ามหัศจรรย์ และสังเกตได้ว่าจะเป็นหินแร่คนละประเภทกัน

ขณะที่หินสมดุลแบบที่พบที่พระธาตุอินแขวนนั้น จะเป็นผลจากการเกิดการกัดเซาะ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากการกัดเซาะของน้ำ ลม หรือสารเคมีต่างๆ ลงไปบนชั้นหินที่ตำแหน่งนั้น  และชื่อ "หินสมดุล" นี้ อาจจะทำให้เข้าใจผิด ว่าหินก้อนหนึ่งไปวางตัวอยู่บนหินอีกก้อนหนึ่ง อย่างสมดุล ไม่ร่วงหล่นลงมา ทั้งที่จริงๆ แล้ว กินทั้งสองยังเชื่อมต่อกันอย่างแน่นหนาที่ฐานของหิน


“พระธาตุอินทร์แขวน” วิทยาศาสตร์ ที่รวมกับความเชื่อ “แผ่นดินไหว” ทำอะไรไม่ได้

แม้ว่าวิทยาศาสตร์จะสามารถอธิบายปรากฏการณ์ของพระธาตุอินทร์แขวนได้ แต่ในมุมของความเชื่อ พระธาตุแห่งนี้เป็นที่เคารพบูชาอย่างยิ่งของชาวพม่า โดยตำนานเล่าว่า ฤๅษีติสสะได้รับพระเกศาธาตุจากพระพุทธเจ้า และท้าวสักกะเทวราช (พระอินทร์) ได้นำก้อนหินจากใต้ทะเลมาวางไว้บนภูเขาเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุ

พระธาตุอินทร์แขวนเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ธรรมชาติที่หาชมได้ยาก ซึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาและกระบวนการกัดเซาะตามธรรมชาติ แม้จะดูเหมือนท้าทายแรงโน้มถ่วงของโลก แต่ก้อนหินนี้ยังคงตั้งอยู่ได้เนื่องจากสมดุลที่เหมาะสมของจุดศูนย์ถ่วงและแรงเสียดทานที่ช่วยยึดเกาะ นับเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่น่าทึ่งของปรากฏการณ์หินสมดุล ที่ทั้งวิทยาศาสตร์และความเชื่อทางศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างน่าประทับใจ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง