รีเซต

‘ประวิตร’ ห่วงกลุ่มเปราะบาง สั่ง ก.แรงงาน ร่วมมือเอกชน จ้างงานคนพิการทั่วประเทศ

‘ประวิตร’ ห่วงกลุ่มเปราะบาง สั่ง ก.แรงงาน ร่วมมือเอกชน จ้างงานคนพิการทั่วประเทศ
มติชน
26 ตุลาคม 2564 ( 11:19 )
66
‘ประวิตร’ ห่วงกลุ่มเปราะบาง สั่ง ก.แรงงาน ร่วมมือเอกชน จ้างงานคนพิการทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ที่ห้องประชุม ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจโครงการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ระหว่างกรมการจัดหางาน และสถานประกอบการชั้นนำ 7 แห่ง โดยมีนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงานร่วมงาน และมีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เป็นผู้ลงนาม

 

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า มีความห่วงใยประชาชนในกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะคนพิการที่ต้องการทำงาน เพื่อหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว แต่ยังขาดโอกาส จึงมอบหมายนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการโครงการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ และเสริมสร้างโอกาสให้คนพิการในประเทศไทยสามารถเข้าถึงสวัสดิการและบริการของรัฐ สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างมีศักดิ์ศรี และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ

 

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยได้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน ระหว่าง 12 กระทรวง 1 หน่วยงาน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

 

นายสุชาติกล่าวภายหลังเป็นสักขีพยานในการลงนามดังกล่าวว่า กระทรวงแรงงานขานรับนโยบายรัฐบาล และเร่งดำเนินการสนับสนุนการจ้างงานเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และการสนับสนุนให้คนพิการมีงานทำตามศักยภาพ และความต้องการทำงาน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ

 

สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการสร้างความร่วมมือด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ระหว่างกรมการจัดหางาน และสถานประกอบการชั้นนำ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ กลุ่มบริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย บริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท รักษาความปลอดภัยการ์ดฟอร์ซ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กลุ่มบริษัทชัยรัชการ และบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัส) ที่ได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนตามแนวทางประชารัฐ โดยจ้างงานคนพิการ จำนวน 329 อัตรา

 

“พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป จ้างคนพิการเข้าทำงานในอัตราส่วน 100 : 1 หากไม่สามารถดำเนินการได้ จะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตรา 34 ในอัตรา 114,245 บาทต่อปี ตามจำนวนคนพิการที่ไม่ได้จ้าง โดยที่ผ่านมามีการนำส่งเงินเข้ากองทุนปีละกว่า 800 ล้านบาท ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่สะดวกต่อนายจ้าง/สถานประกอบการที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย แต่คนพิการจะไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง จึงได้มอบหมายกรมการจัดหางานโน้มน้าวสถานประกอบการเพื่อเปลี่ยนมาจ้างงานคนพิการเชิงสังคม โดยใช้สิทธิตามมาตรา 35 ประเภทจัดจ้างเหมาช่วงงานหรือการจ้างเหมาบริการ เงินก้อนเดิมที่ถูกนำส่งกองทุนจะเปลี่ยนไปสร้างโอกาสให้คนพิการมีงานทำใกล้บ้าน คนพิการมีรายได้จากบริษัทโดยตรง

 

 

“จากความร่วมมือของสถานประกอบการภาคเอกชนทั่วประเทศ ยืนยันการจับคู่ (Matching) พร้อมทำงานแล้ว 568 อัตรา จากเป้าหมาย 1,000 อัตรา แบ่งเป็น จากสถานประกอบการทั้ง 7 แห่งที่ร่วมทำ MoU จำนวน 329 อัตรา และสถานประกอบการเอกชนอื่นๆทั่วประเทศที่ให้ตำแหน่งรวม 239 อัตรา ทั้งหมดจะทำสัญญาจ้าง ภายใน 31 ธันวาคม 2564 และเริ่มปฏิบัติงานในวันที่ 1 มกราคม 2565 วิธีนี้คนพิการจะมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ สามารถรับประโยชน์ได้โดยตรง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว

 

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีข้อสั่งการให้กรมการจัดหางาน ประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้สถานประกอบการเลือกใช้วิธีการจ้างเหมาบริการคนพิการปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐในจังหวัดที่คนพิการอาศัยอยู่ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการ ศูนย์บริการคนพิการของท้องถิ่น เทศบาล โดยครั้งแรกนี้มีเป้าหมายจ้างงานคนพิการเชิงสังคม จำนวน 1,000 อัตรา มีนายจ้าง /สถานประกอบการที่ประสงค์ให้สิทธิคนพิการฯ จำนวน 568 อัตรา คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการที่ประสงค์ทำงาน จำนวน 1,285 อัตรา และมีหน่วยบริการสาธารณะที่สามารถรับคนพิการเพื่อปฏิบัติงาน จำนวน 1,128 อัตรา โดยมีการยืนยันการจับคู่ (Matching) ครบ 3 ฝ่าย (นายจ้าง/สถานประกอบการ+คนพิการฯ+หน่วยบริการสาธารณะ) จำนวน 568 อัตรา ซึ่งจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศยังเร่งดำเนินการต่อไปเพื่อให้ถึงเป้าหมายจ้างงานคนพิการครบ 1,000 อัตรา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง