วิ่งรถ บขส.กว่า 40 ปี ไปต่อไม่ไหว โควิดระบาด คนเดินทางน้อย ปิดกิจการ หันมาขายขนมของแพงอีก
ผู้ประกอบการเดินรถโดยสาร บขส.โคราช ตัดสินใจขายรถบัสทิ้ง ปิดกิจการถาวร หลังประสบกับปัญหาลูกค้าน้อย และค่าน้ำมันดีเซลแพงขึ้นต่อเนื่อง
จากกรณีที่ นางสุจินดา เชิดชัย หรือ เจ๊เกียว นายกสมาคมผู้ประกอบการรถร่วมโดยสาร บขส. เจ้าของอู่เชิดชัย และบริษัท เดินรถเชิดชัยทัวร์ ออกมาเปิดเผยว่า ได้ตัดสินใจจะศขายกิจการของบริษัท เดินรถเชิดชัยทัวร์ ที่ดำเนินการการมานานกว่า 65 ปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ทำให้มีผู้โดยสารลดน้อยลง ประกอบกับปัญหาต่างๆ อาทิ การเกิดขึ้นของสายการบินโลว์คอสต์ และน้ำมันดีเซลที่แพงขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องสุขภาพ อีกทั้งลูกๆ ทั้ง 5 คน ประกอบทำธุรกิจอื่น ไม่มีใครอยากสานต่อธุรกิจเดินรถ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่บ้นของ นายมานิต อัครวงศ์วัฒนา อายุ 69 ปี ใน ต.หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นครอบครัวหนึ่งที่ประกอบกิจการรถโดยสาร บขส.มานานกว่า 40 ปี และได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้มีผู้โดยสารมาใช้บริการน้อยลง ประกอบกับราคาน้ำมันดีเซลแพง ค่าครองชีพสูงขึ้นสวนทางรายได้ ทนแบกรับภาระไม่ไหว จนต้องตัดสินใจขายรถทัวร์ทิ้งทั้งหมด
นายมานิตเล่าว่า เมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้วได้เริ่มประกอบธุรกิจเดินรถโดยสาร บขส. ลงทุนซื้อรถบัสแบบพัดลมมา 1 คัน วิ่งระหวางนครราชสีมา-สุรินทร์ ซึ่งพี่น้องรวมทั้งตนเอง 8 คน ก็ทำธุรกิจเดินรถโดยสาร บขส.เช่นกัน ต่อมากิจการเริ่มไปได้ดีจึงสะสมเงินซื้อรถเพิ่ม ในที่สุดมีรถบัสถึง 5 คัน พร้อมกับจ้างลูกน้องช่วยขับ ต่อมาก็ได้มีการปรับปรุงรถให้เป็นรถแอร์เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้า ช่วงแรกก็รายได้ดี มีเงินจ้างลูกน้องถึง 15 คน
นายมานิตกล่าวว่า กระทั่งมาช่วงปี 2562 เริ่มมีการระบาดโควิด-19 ผู้โดยสารใช้บริการรถโดยสาร บขส.น้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2563 ลูกน้องเริ่มนำเงินมาส่งน้อยลงจนขาดทุนทุกวัน จึงตัดสินใจนำรถบัสจอดทิ้งไว้ที่ลานจอดรถปั๊มน้ำมันใกล้บ้านทีละคันๆ จนในที่สุดก็ต้องจอดทั้ง 5 คัน เพราะวิ่งไปก็มีแต่ขาดทุน เนื่องจากการวิ่งรถต้องมีภาระค่าใช้จ่ายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงลูกน้อง ค่าซ่อมบำรุง และที่หนักสุดคือค่าน้ำมันดีเซลที่แพงขึ้นต่อเนื่อง
“ตอนแรกจะจอดไว้จนกว่าสถานการณ์ดีขึ้นแล้วค่อยกลับมาวิ่งรถใหม่ แต่เพราะต้องจ่ายค่าสัมปทานการเดินรถทุกเดือน และสถานการณ์ก็ไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย ช่วงต้นปี 2564 จึงตัดสินใจขายรถบัสทั้ง 5 คันทิ้งไป และเลิกกิจการเดินรถอย่างถาวร เงินที่ได้จากการขายรถก็นำไปใช้หนี้สินต่างๆ จนหมด เหลือเพียงเล็กน้อย ได้ให้ภรรยานำไปต่อยอดทำธุรกิจขายขนมเข่ง แต่ก็ต้องมาประสบกับปัญหาราคาวัตถุดิบแพงอีก ไม่ว่าจะเป็น ราคาน้ำมันพืช แป้ง ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม พากันขึ้นราคาพร้อมกันหมด ตอนนี้ไม่รู้ว่าอะไรจะแพงขึ้นอีก ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก
“ไม่เพียงแต่ต้องตัดสินใจขายรถโดยสารที่เป็นธุรกิจหลักของครอบครัว แต่ญาติๆ และเพื่อนๆ ที่ทำธุรกิจเดียวกันก็มีหลายเจ้าทยอยปิดกิจการ ขายรถโดยสารทิ้งไปต่อเนื่อง เพราะเขาอยู่ไม่ได้ เนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลแพงขึ้น สวนทางกับรายได้น้อยลง อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการรถโดยสาร บขส.ด้วย” นายมานิตกล่าว