ผู้ว่าฯแถลงลูกจ้างโกงเกือบ 40ล. ชี้หน.งานบกพร่อง ส่อพิรุธ เช็คหายกลับไม่แจ้งความ สั่งสอบก่อนฟันวินัย
กรณี น.ส.ขนิษฐา หอยทอง อายุ 28 ปี พนักงานราชการ สำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถูกดำเนินคดีหลังโอนเงินงบประมาณของทางราชการ 39.2 ล้านบาท จากระบบการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเลคทรอนิคส์ หรือ GFMIS เข้าบัญชีส่วนตัว และพบการกระทำความผิดในการทำข้อมูลหลักฐานเท็จจาการปลอมเช็ครวม 165 ครั้ง ล่าสุด ถูกควบคุมตัวในเรือนจำ จ.ประจวบคีรีขันธ์
เมื่อเวลา 17.50น. วันที่ 29 มิถุนายน ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถนนสวนสน –อ่าวน้อย นายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานแถลงข่าว เผยความคืบหน้ากรณีการทุจริตดังกล่าว โดยมี รองผู้ว่าราชการจังหวัด 3 ราย พร้อมด้วย นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล ปลัดจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการาสอบข้อเท็จจริง พล.ต.ต.สุรศักดิ์ สุขแสวง ผู้บังคับการตำรวจภูธร ( ผบก.ภ.) จังหวัด และ น.ส.เกศริน ภัทรเปรมเจริญ หัวหน้าสำนักงานคลังจังหวัดเข้าร่วมแถลง ใช้เวลาแถลงข้อเท็จจริงกว่า 2 ชั่วโมง โดยไม่มีเจ้าหน้าที่สำนักงานจังหวัดเข้าร่วมชี้แจง
นายพัลลภ กล่าวว่า ขณะนี้พบยอดเงินในการทุจริตเพิ่มจาก 33.9 ล้านบาทเป็น 39.2 ล้านบาท จากการใช้ระบบออนไลน์ทำข้อมูลเท็จโอนเงินเข้าบัญชีมารดาและญาติ พร้อมปลอมลายมือผู้มีอำนาจจากบัญชีเช็คงบประมาณจังหวัด สั่งเบิกจ่ายเงินสดจากธนาคารกรุงไทย พบความผิดตั้งเดือนเมษายน 2562 ต่อเนื่องถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2563 เนื่องจากได้รับแจ้งจากธนาคารกรุงไทยว่าเจอเช็คเด้งจากสำนักงานจังหวัด ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ขณะที่ทางราชการได้อายัดเงินคืนได้เพียงกว่า 7 แสนบาท พร้อมสั่งให้ลูกจ้างออกจากราชการ และ จะตรวจสอบย้อนหลังกรณีลูกจ้างรายนี้สอบบรรจุเป็นพนักงานราชการเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ว่ามีความสามารถสอบได้เองหรือมีข้อพิรุธอย่างไร สำนักงานจังหวัดมีการประกาศเปิดสอบให้บุคคลทั่วไปเข้าสอบแข่งขันหรือไม่
“ ล่าสุด ได้สั่งให้นางประชิต วงค์ประภารัตน์ หัวหน้างานการเงินหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว แต่รับเงินเดือนตามปกติ ภายหลังพบความบกพร่องเนื่องจากได้รับการรายงานว่า เช็คงบประมาณจังหวัดหายไป 6 ฉบับ ยังไม่มีการแจ้งความเช็คหาย ถือว่าส่อพิรุธ จากนั้นสั่งการให้นักวิชาการการเงินจากสำนักงานปกครองจังหวัดทำหน้าที่แทนชั่วคราว แต่ยังไม่มีการใช้คำสั่งทางการปกครองสั่งย้ายข้าราชการรายใดในสำนักงานจังหวัด สำหรับการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ภายหลังมีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการตั้งบุคคลภายในสำนักงานจังหวัดสอบสวนกันเอง อาจมีการช่วยเหลือในการปกปิดข้อมูลทำให้เจ้าหน้าที่บางรายพ้นผิดนั้น ยืนยันว่า ถ้ากรรมการรายใดไม่เหมาะสม สามารถพิจารณาเปลี่ยนแปลงได้ทันที “นายพัลลภ กล่าว
นายพัลลภ กล่าวอีกว่า สำหรับการมอบอำนาจที่ให้พนักงานราชการทำหน้าที่เบิกจ่ายเงินและมอบรหัสผ่านให้เข้าถึงระบบการเบิกจ่ายระบบการเงินอีเลคทรอนิคส์ จากการผู้มีอำนาจสั่งจ่าย 2 ราย เบื้องต้นเป็นการมอบงานด้วยความความไว้วางใจให้ทำหน้าที่ เนื่องจากที่ผ่านมายอมรับว่ากระทรวงมหาดไทยขาดแคลนอัตรากำลังในการบรรจุแต่งตั้งนักวิชาการเงินและบัญชี ซึ่งมีโอกาสการเติบในตำแหน่งหน้าที่น้อยกว่าผู้ใช้วุฒิการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์
“ ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะมีการทุจริต จากการทำงานการเงินในเชิงระบบที่กรมบัญชีกลางวางรูปแบบไว้อย่างรัดกุม แต่ปัญหาเกิดจากผู้มีอำนาจในหน่วยงานปล่อยปละละเลย ปล่อยให้ลูกจ้างทำงานโดยพลการ เนื่องจากเห็นว่าเชี่ยวชาญใน ระบบ ไอที. หากผลการสอบสวนพบปัญหาจากการเบิกจ่ายที่ทำให้มีการทุจริต เกิดจากความบกพร่องของข้าราชการรายใด จะต้องรับผิดชอบทั้งทางวินัยและชดใช้ค่าเสียหายในทางละเมิด ตามอำนาจหน้าที่ได้รับมอบหมาย ขณะที่จังหวัดได้ใช้งบพัฒนาจังหวัด สำรองงบประมาณไว้ส่วนหนึ่งเพื่อจ่ายเงินให้ผู้วางเงินค้ำประกันงานที่มีการโอนออกนอกระบบ” นายพัลลภ กล่าวและว่า สำหรับสามีของผู้ต้องหาในทางพฤตินัยที่ทำหน้าที่ลูกจ้างประจำ สำนักงานจังหวัด ยังไม่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต
พล.ต.ต.สุรศักดิ์ สุขแสวง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด กล่าวว่า ขณะนี้คดีมีความคืบหน้าไปพอสมควร โดยประสาน ปปง.ให้ช่วยติดตามเงินที่โอนไปเว็ปพนันออนไลน์ โดยเฉพาะการนำเงินไปฝากในเว็ปเพื่อถอนคืนในภายหลัง หากพบการโอนเงินเข้าบัญชีผู้ใด จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมติดตามเส้นทางการเงินที่โอนให้เครือญาติ แต่ขณะนี้ยังไม่ออกหมายจับบุคคลใดเพิ่มเติม
นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ กล่าวว่า จะสรุปผลสอบข้อเท็จจริงเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดภายในกลางเดือนกรกฎาคมนี้ โดยสนใจปัญหาการลงลายมือชื่อในเช็คเปล่า เช็คที่สั่งจ่าย 3 แสนบาทให้หัวหน้างานการเงิน โดยยึดได้จากบ้านพักของผู้ต้องหา ดังนั้นจะต้องสอบถามผู้เกี่ยวข้องว่าเหตุใดไม่ทราบว่าเช็คงบประมาณจังหวัดสูญหายไปจากสำนักงานจังหวัด ปัจจุบัน ทราบว่ายังไม่มีการแจ้งความเอกสารสำคัญทางการเงินสูญหาย ทั้งที่เอกสารสำคัญทั้งหมดมีระเบียบการทรวงการคลังกำหนดให้เก็บรักษาอย่างชัดเจน นอกจากนั้นพบว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ( สตง.)จังหวัดตรวจไม่เจอการทุจริต ปัญหามาจากการปลอมแปลงเอกสารทั้งระบบ