อภ.เผยเอกชนอาสากระจายวัคซีนโควิด 2 ล้านโดสแรกฟรี! อนุทิน สั่ง รพ.ซื้อตู้แช่รอ
วันนี้ (19 กุมภาพันธ์ 2564) ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานอนุกรรมการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 พร้อมด้วย นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการ อภ.และ นายจอห์น แคลร์ รองประธานฝ่ายบริหารหน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพประเทศไทยและอินโดจีน (เมียนมา กัมพูชา ลาว) บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามความร่วมมือจัดเก็บ บรรจุและกระจายวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกของประเทศไทย
นพ.โสภณ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 เร่งด่วน ที่มีความปลอดภัยและเป็นการรับโดยความสมัครใจ จำนวน 2 ล้านโดส จากบริษัท ซิโนแวค ประเทศจีน เป็นจำนวนที่เพิ่มเติมจากแผนเดิมที่สั่งซื้อจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 61 ล้านโดส โดยมอบหมายให้ อภ. เป็นผู้เจรจากับบริษัท ซิโนแวค เพื่อนำเข้าและขึ้นทะเบียนยา โดยกรมควบคุมโรค สธ. เป็นผู้จัดซื้อและกระจายผ่าน อภ. ไปสู่ประชาชน ทั้งนี้ วัคซีนจากซิโนแวค จำนวน 2 ล้านโดส มีกำหนดส่งมอบให้กับประเทศไทยไทย 3 งวด ได้แก่ เดือนกุมภาพันธ์ 2 แสนโดส เดือนมีนาคม 8 แสนโดส และเดือนเมษายน 1 ล้านโดส
“วัคซีนทั้ง 2 ล้านโดส อภ. ได้รับความร่วมมือจากบริษัท ดีเคเอสเอช เป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บ บรรจุภายในห้องจัดเก็บยาเย็นและกระจายภายใต้มาตรฐานสากล ด้วยระบบลูกโซ่ความเย็น (cold chain system) ไปยังโรงพยาบาล (รพ.) แต่ละจังหวัด ทั้งในอำเภอเมือง และตำบล โดยไม่คิดมูลค่า ทั้งนี้ การกระจายวัคซีนมีความสำคัญอย่างมาก เพราะวัคซีนจะมีคุณภาพดีจะต้องอยู่ในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส” นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ขณะนี้โรงพยาบาลจังหวัดภายในประเทศไทยมีตู้เย็นแช่วัคซีนอยู่แล้ว เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนในเด็ก โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้แสดงความประสงค์ขอบริจาคเพิ่มเติมให้อีกจำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. มีนโยบายชัดเจนว่าจะไม่รอการบริจาคเพียงอย่างเดียว จึงได้มอบหมายให้ นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัด สธ. จัดสรรงบประมาณให้กับ รพ.จังหวัดแห่งละ 1 ล้านบาท ซื้อตู้เย็นแช่วัคซีนและเพื่อรองรับวัคซีนที่จะผลิตในประเทศไทยอีก 61 ล้านโดสด้วย จึงมั่นใจได้ว่าทุก รพ.จะมีที่เก็บวัคซีนอย่างเพียงพอ ขณะที่ การเตรียมความพร้อมกระจายวัคซีนโควิด-19 สำหรับประเทศไทยในอนาคต มีเชิญบริษัทโลจิสติกส์ทุกแห่งในประเทศ เข้ามาหารือกันแล้ว ซึ่งจะมีขั้นตอนในการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป
นพ.โสภณ กล่าวว่า ประชาชน 1 คน จะได้รับวัคซีนโควิด-19 จำนวน 2 เข็ม โดยแผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 จำนวน 2 แสนโดส ที่จะเข้ามาในประเทศไทย เบื้องต้นจะทยอยฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 1 แสนโดส ในกลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรด่านหน้าป้องกันโควิด-19 และประชาชนที่มีโรคประจำตัว ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง 10 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด และตาก ซึ่งจะมีการประชุมเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนอีกครั้งในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ พร้อมนำเข้าที่ประชุม ศบค.
“อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 2 จะห่างจากเข็มที่ 1 ประมาณ 2-4 สัปดาห์ ดังนั้น หากทราบวันที่ชัดเจนว่า วัคซีนในงวดที่ 2 เดือน มี.ค. จำนวน 8 แสนโดส จะเข้ามาในวันใด ถ้าอยู่ในช่วง 2-4 สัปดาห์ หลังจากฉีดเข็มที่ 1 ก็จะมีการพิจารณาฉีดอีก 1 แสนโดสแรกให้กับประชาชนที่ควรจะได้รับต่อไป และเมื่อวัคซีนงวดที่ 2 เข้ามาก็จะนำมาฉีดเป็นเข็มที่ 2 ต่อไป” นพ.โสภณ กล่าว
นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า วัคซีนซิโนแวค จะเป็นการบรรจุในหลอดวัคซีน โดย 1 กล่องเล็ก จะมีวัคซีน 40 หลอด จะส่งมาถึงประเทศไทยครบถ้วน 2 ล้านโดสในเดือนเมษายนนี้ แต่สำหรับ 2 แสนโดสแรกจะเข้ามาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทย ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เมื่อดำเนินการพิธีการศุลกากร และเจ้าหน้าที่จะสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว จะขนส่งไปยังคลังสำรองวัคซีนโควิด-19 ที่ ศูนย์กระจายสินค้าของบริษัท ดีเคเอสเอช ถนนบางนาตราด หลังจากนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะเป็นผู้นำวัคซีนไปตรวจสอบคุณภาพ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน หลังจากนั้น ก็จะเตรียมการจัดส่งกระจายต่อไปในแต่ละพื้นที่
ด้านนายจอห์น แคลร์ กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินการร่วมกับ อภ. มากว่า 10 ปี เช่น การขนส่งวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ จึงมีความยินดีที่ได้ร่วมสนับสนุนประเทศไทยอีกครั้งในการขนส่งและกระจายวัคซีนโควิด-19 ด้วยบรรจุพิเศษ Brilliant Box เป็นการควบคุมอุณหภูมิของสินค้าในกล่อง เช่น วัคซีนโควิด-19 ที่ต้องอยู่ในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ตลอดการขนส่งเพื่อรักษาคุณภาพ