วิกฤตแม่น้ำโขง จี้รัฐแก้ปัญหาเขื่อน ให้ปล่อยน้ำตามฤดูกาล วอนหยุดสร้างหายนะกำลังมาเยือน
วิกฤตแม่น้ำโขง จี้รัฐแก้ปัญหาเขื่อน ขอให้ปล่อยน้ำตามฤดูกาล วอนหยุดสร้างเขื่อน “ครูตี๋”ชี้หายนะกำลังมาเยือน หลายพื้นที่จัดกิจกรรมวันหยุดเขื่อนโลกคึก
วันที่ 14 มี.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในหลายพื้นที่ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องใน วันหยุดเขื่อนโลก (International Day of Actions for Rivers, against Dams) โดยเฉพาะชุมชนริมแม่น้ำสายหลักของภูมิภาคคือแม่น้ำโขงและสาละวิน โดยที่พรมแดนไทย-ลาว บริเวณคอนผีหลง อ.เชียงของ จ.เชียงราย กลุ่มรักษ์เชียงของ และเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ชูป้ายภาษาไทย จีน และอังกฤษ ซึ่งมีเนื้อหาโดยรวมให้คืนธรรมชาติให้แก่แม่น้ำโขง ซึ่งถูกควบคุมโดยเขื่อนมาตลอดกว่า 20 ปี
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และผู้ร่วมก่อตั้งสภาประชาชนลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันเห็นว่าผลกระทบจากเขื่อนรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยในจีน 11 เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสร้างปัญหาให้คนท้ายน้ำ ซ้ำร้ายยังมีเขื่อนเพิ่มขึ้นในแม่น้ำโขงตอนล่าง เกิดผลกระทบรุนแรงจนนักวิชาการหลายฝ่ายเห็นพ้องกันว่า แม่น้ำโขงเป็นกลายเป็นสีคราม ใส ระดับน้ำขึ้นลงไม่ปกติ เกิดจากเขื่อน ดังนั้นเมื่อเรารู้แล้วว่าเขื่อนเป็นอันตรายต่อแม่น้ำโขง รัฐบาลซึ่งมีตัวแทนอยู่ในกลไกสร้างความสมดุลแม่น้ำโขงต้องขับเคลื่อนให้ชัดเจน
นายนิวัฒน์ กล่าวว่า ที่เราอยากเห็นคือควาแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดและแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา ถ้าเราไม่ช่วยกันจริงจัง เรื่องเขื่อนก็ถูกลดปัญหา ดังนั้นภาครัฐควรยกระดับให้ถูกจุด เช่น การแก้ไขให้มีการปล่อยน้ำให้ถูกต้องตามฤดูกาลเพื่อบรรเทาปัญหาเพื่อให้ธรรมชาติอยู่ได้ โดยรัฐต้องหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดคุยกับเจ้าของเขื่อนให้ชัดเจน หากปล่อยให้สถานการณ์ย่ำแย่ไปเรื่อยก็แก้ไม่ตรงจุด ควรมีข้อตกลงให้ชัดเจนในการปล่อยน้ำ ที่ผ่านมาไม่เคยมีการหารือกันจริงจัง ทำให้กลายเป็นปัญหามาโดยตลอด
“โลกนี้ทั้งใบไปดูซิ แต่ละแม่น้ำใหญ่ๆ มีเขื่อนกั้นเกือบหมดแล้ว กลายเป็นความรุนแรงจากผลกระทบ ในวันหยุดเขื่อนนี้ เราจึงต้องการให้แม่น้ำโขงต้องได้รับการแก้ไข ฟื้นฟู ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของแม่น้ำ ต้องหยุดสร้างเขื่อนได้แล้ว เช่น ในแม่น้ำสาละวิน ตอนนี้ยังไม่มีเขื่อนก็ไม่ควรเกิดเขือนอีกแล้ว เพราะถ้าเกิดอีก ภูมิภาคนี้ตายแน่ สถานการณ์เปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกจะรุนแรงยิ่งเพราะแม่น้ำทั้งสองสายเป็นแม่น้ำที่สำคัญมากของภูมิภาค ในวันหยุดเขื่อน เราอยากให้คนทั้งโลกเข้าใจว่าเขื่อนต้องหยุด ไม่งั้นถึงกาลหายนะ”ครูตี๋ กล่าว
ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวอีกว่า อยากเสนอว่า 1. เขื่อนที่มีอยู่ต้องถูกจัดการให้ลดผลกระทบต่อแม่น้ำมากที่สุด อันไหนใช้งานไม่ได้ก็เอาออก หรือแก้ไขการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับระบบนิเวศและฤดูกาล 2. เขื่อนไม่สมควรสร้างเพิ่มขึ้นอีก เพราะหากแม่น้ำไหลเป็นไปตามฤดูกาล ระบบนิเวศก็จะกลับคืนมา ความอุดมสมบูรณ์ก็จะกลับมา
“เมื่อก่อนตอนผมเด็กๆ คิดว่าปลาแม่น้ำโขงไม่มีวันหมดเพราะเยอะไปหมด แต่ตอนนี้ปลาหายไปหมด เราเห็นผลที่เกิดจากเขื่อน เป็นการทำลายแบบเหลือเชื่อ เขากักน้ำทั้งสายจนฤดูน้ำหลากหายไป เมื่อก่อนทุกๆปีต้องมีน้ำโขงไหลเอ่อเข้าแม่น้ำสาขา ระดับน้ำทรงอยู่ระยะหนึ่ง ทำให้ปลาเข้าไปวางไข่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ แต่เมื่อเขากักน้ำไว้ ทำให้ไม่มีน้ำเอ่อ ทุกอย่างเลยหมดสิ้น เพราะระบบนิเวศถูกทำลาย”นายนิวัฒน์ กล่าว
นอกจากที่อำเภอเชียงของ ในแม่น้ำโขงยังมีการจัดกิจกรรมอีก 2 จุด คือ จ.นครพนม และ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี โดย กลุ่มคนฮักน้ำของ จัดกิจกรรมค่ายศิลปะและธรรมชาติให้แก่เยาวชนในพื้นที่ รวมประมาณ 30 คน มีการวาดรูป ทำงานศิลปะ และเรียนรู้ความสำคัญของแม่น้ำโขง ซึ่งเด็กๆ ได้นั่งเรือไปนอนค้างริมแม่น้ำโขง และมีผู้ใหญ่เล่าเรื่องราวแม่น้ำโขง ปลาบึก และวิถีที่สั่งสมมาหายชั่วอายุคน จากนั้นตอนเช้าได้ล่องเรือไปยังเก้าพันโบก
นส.คำปิ่น อักษร ผู้ประสานงานกลุ่มคนฮักน้ำของ กล่าวว่า ได้เลือกพื้นที่เก้าพันโบกเป็นสถานที่จัดกิจกรรมและประกาศเจตนารมณ์ปกป้องแม่น้ำโขง เนื่องจากเมื่อเร็วๆ นี้ทราบว่ามีการเข้ามาขุดเจาะหินบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม บนพรมแดนไทย-ลาว ซึ่งชาวบ้านและนักอนุรักษ์ได้คัดค้านมาโดยตลอดเนื่องจากผลกระทบจะรุนแรงและกว้างขวาง สิ่งจำเป็นที่ต้องเรียกร้อง คือ ขอหลักประชาธิปไตยให้แก่แม่น้ำโขง ต้องมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะชุมชนริมโขง และเยาวชน โดยไม่มีเส้นพรมแดนมาปิดกั้น
ขณะที่ ลุ่มน้ำสาละวิน องค์กรชุมชนและชาวบ้านได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเช่นเดียวกัน ทั้งฝั่งไทยและพม่า โดยฝั่งไทย ที่บ้านสบเงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน มีการรวมตัวของชาวบ้าน จากพื้นที่ป่ารอยต่อ 3 จังหวัดภาคเหนือ คือ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และ อ.สบเมย อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ร่วมพิธีกรรมบวชป่าและสืบชาตาแม่น้ำยวม-เงา เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านโครงการสร้างเขื่อน-ผันน้ำยวมสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งขณะนี้โครงการอยู่ในการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) จัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ซึ่งมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นประธานคณะกรรมาธิการ
ส่วนฝั่งลุ่มน้ำสาละวิน ในรัฐกะเหรี่ยง พม่า ตรงข้าม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน มีการรวมตัวของชาวกะเหรี่ยงกว่า 1,000 คน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ไม่เอาเขื่อน ต่างแต่ชุดกะเหรี่ยง มีการอ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนปกป้องแม่น้ำสาละวิน โดยยืนยันว่าประชาชนสามารถร่วมอนุรักษ์แม่น้ำได้ โดยมีอุทยานสันติภาพสาละวิน เป็นรูปแบบในการร่วมสร้างประชาธิปไตยในการจัดการทรัพยากร