รีเซต

โควิด-19 : สำรวจ New Normal ส.ส. ก่อนเปิดประชุมสภาถก พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท

โควิด-19 : สำรวจ New Normal ส.ส. ก่อนเปิดประชุมสภาถก พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท
บีบีซี ไทย
26 พฤษภาคม 2563 ( 08:12 )
136
โควิด-19 : สำรวจ New Normal ส.ส. ก่อนเปิดประชุมสภาถก พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท

 

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเตรียมพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลออกมาเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) โดยปรับรูปแบบเป็น "การประชุมสภาวิถีใหม่" หรือนิว นอร์มอล (New Normal)

 

การกลับมารวมตัวกันของนักการเมือง "ครึ่งพัน" ภายในอาคารรัฐสภาย่านเกียกกาย ร่วมด้วยคณะผู้ติดตาม ข้าราชการ และสื่อมวลชน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องวางมาตรการคัดกรองอย่างเข้มข้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะ ด้วยเพราะผู้ทรงเกียรติเหล่านี้เดินทางมาจากทุกจังหวัดทั่วประเทศไทยเพื่อพบปะประชาชนในช่วงปิดสมัยประชุมสภา ตั้งแต่ 29 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา

 

ที่นั่งของ ส.ส. ภายในห้องประชุมสุริยันซึ่งจะเปิดใช้งานครั้งแรก 27 พ.ค. นี้ ถูกจัดแบบ "เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล" โดยให้สลับนั่ง 1 ตัว เว้น 1 ตัว

ส.ส. ทุกคนต้องได้รับการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และสวมหน้ากากอนามัย หรือเฟซชีลด์ (face shield) เข้าสภา แต่อนุญาตให้ถอดออกได้ในระหว่างคว้าไมค์-ลุกขึ้นอภิปรายเพื่อความชัดเจนในการสื่อสาร

 

ส.ส. ที่ไม่มีบทพูด สามารถออกไปนอกห้องประชุมได้ และติดตามการประชุมผ่านโทรทัศน์วงจรปิดที่เชื่อมต่อไปยังจุดต่าง ๆ ทั่วรัฐสภา

"เวลาทอง" หรือไพร์มไทม์ในการอภิปรายต้องเปลี่ยนไป จากเคยเบียดคิวกันขึ้นอภิปรายช่วงหลังจบข่าวภาคค่ำ เพราะมีประชาชนอยู่หน้าจอโทรทัศน์และโทรศัพท์มือถือสูงสุด ทว่าประธานสภากำหนดให้การประชุมเสร็จสิ้นภายในเวลา 20.00 น. เพื่อหนีคำประกาศ "เคอร์ฟิวสกัดไวรัส" ของรัฐบาลด้วยการสั่งห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานเวลา 23.00-04.00 น.

 

ส.ส. ที่ต้องการแถลงข่าวให้ทำที่จุดแถลงข่าวหรือห้องแถลงข่าวเท่านั้น และขอสื่อมวลงดรุมสัมภาษณ์ในทุกกรณี

ส.ส. 1 คนสามารถพกผู้ติดตามเข้าสภาได้ไม่เกิน 2 คน

 

 

เหล่านี้คือ "กฎเหล็ก" ที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภา กำหนดขึ้นภายใต้คำแนะนำของแพทย์เพื่อความปลอดภัยของทุกคนในสภา และได้แจ้งต่อหัวหน้าพรรคการเมืองทั้ง 26 พรรค ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) รับทราบแล้วในระหว่างตั้งวงประชุมซักซ้อมกัน เมื่อ 22 พ.ค.

 

ภารกิจแรกที่ถูกบรรจุเป็น "เรื่องด่วน" หลังเปิดเทอมใหม่คือการพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 4 ฉบับที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตราขึ้นเพื่อรับมือกับโควิด-19 โดยทั้งหมดถูกประกาศลงราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย.

 

รัฐธรรมนูญ มาตรา 172 กำหนดให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องเสนอต่อรัฐสภาเพื่อ "ขออนุมัติโดยไม่ชักช้า"

 

ข้อสรุปของวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านให้สภาใช้เวลา 5 วันในการอภิปราย พ.ร.ก. โดยให้รวบ พ.ร.ก. การเงิน 3 ฉบับมาพิจารณาในคราวเดียวกัน และลงมติในเวลา 15.00 น. ของวันที่ 31 พ.ค. จากนั้นจึงเข้าสู่การพิจารณา พ.ร.ก. อีกฉบับที่เหลือและลงมติภายใน 20.00 น. ของวันเดียวกัน

 

เรื่องด่วนที่เข้าสู่การพิจารณาของสภา 27-31 พ.ค.

กฎหมาย

วงเงินรวม

จำนวนเนื้อหา

เวลาอภิปราย

พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

ไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท

11 มาตรา

09.30-20.00 น. วันที่ 27-30 พ.ค. และ 09.30-15.00 น. วันที่ 31 พ.ค.

พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

ไม่เกิน 5 แสนล้านบาท

15 มาตรา

09.30-20.00 น. วันที่ 27-30 พ.ค. และ 09.30-15.00 น. วันที่ 31 พ.ค.

พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563

ไม่เกิน 4 แสนล้านบาท

21 มาตรา

09.30-20.00 น. วันที่ 27-30 พ.ค. และ 09.30-15.00 น. วันที่ 31 พ.ค.

พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563

-

14 มาตรา

หลัง 15.00-20.00 น. วันที่ 31 พ.ค.

ที่มา : บีบีซีไทยตรวจสอบจากระเบียบวาระการประชุมสภาวันที่ 27 พ.ค. และคำcแถลงของประธานวิปรัฐบาลเมื่อ 22 พ.ค. 2563

 

ก่อนหน้านี้ในช่วงปลายเดือน เม.ย. 6 พรรคฝ่ายค้านประกาศล่ารายชื่อ ส.ส. เพื่อยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาเพื่อขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญถก พ.ร.ก. กู้เงิน ทั้งนี้ในการดำเนินการต้องอาศัยเสียงเกินกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกสองสภาเท่าที่มีอยู่ หรือ 246 คนจาก 738 คน ทว่าฝ่ายค้านมีเสียงไม่เพียงพอ จึงขอเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. รัฐบาลและ ส.ว. ให้ร่วมลงลายมือชื่อด้วย แต่วิปรัฐบาลมีมติไม่เห็นชอบให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญฯ เพราะมองว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ข้อเสนอนี้จึงตกไป

 

ส่วนร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.... ที่ให้โอนงบประมาณของปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 8.84 หมื่นล้านบาทไปตั้งเป็นงบกลาง นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ระบุว่าจะพิจารณาในการประชุมสภาต้นเดือน มิ.ย.

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง