อีอีซี หนุน ไทย ก้าวสู่ผู้นำการแพทย์ภูมิภาค
ดร. ลัษมณ อรรถาพิช รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกพอ. ร่วมเป็นวิทยากรในงานเสวนา “ประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำด้านการเข้าถึงการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล Personalised Healthcare แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” โดยระบุถึงแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่มุ่งเน้นให้เกิดการต่อยอดทางเทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะ การรักษาแบบจำเพาะบุคคล ซึ่งถือเป็นโอกาสการลงทุนที่สำคัญและตอบโจทย์การรักษาทางเลือกใหม่
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เร่งรัดให้เกิดโครงการ Genomics Thailand ที่มีเป้าหมายทำการถอดรหัสพันธุกรรมจีโนมของคนไทย และพื้นที่ อีอีซี เป็นพื้นที่ตั้งต้นของโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการพัฒนาการแพทย์แม่นยำ และการรักษาแบบจำเพาะบุคคล เช่น การพัฒนากระบวนการรักษาในการแพทย์แม่นยำ การผลิตยารักษาแบบตรงจุด การผลิตเครื่องมือแพทย์ขั้นสูงและอุปกรณ์เพื่อสุขภาพ ประกอบกับ พื้นที่ อีอีซี ได้พัฒนาเทคโนโลยี 5G เพื่อรองรับการประมวลข้อมูลบนแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ (Data Sharing) เป็นการช่วยยกระดับการใช้ข้อมูลจีโนมให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างเต็มศักยภาพ ดังนั้น พื้นที่ อีอีซี จึงจะเป็นพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรทั้ง Ecosystem และเป็นกลไกสำคัญให้ประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านการแพทย์แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นอกจากนี้ ภายในงานยังได้นำเสนอดัชนีความพร้อมด้านการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคลจะประเมินความพร้อมของแต่ละประเทศในภูมิภาค
สำหรับผู้เข้าร่วมเสวนา ครั้งนี้ ประกอบด้วย นายแพทย์ นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, ดร. ศิริศักดิ์ เทพาคำ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS), ดร. นเรศ ดำรงชัย ประธานกรรมการบริหาร Genepeutic Bio Co., Ltd และอดีตผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS), นางสาวศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง (TCS), ผศ.พญ. เอื้อมแข สุขประเสริฐ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง หัวหน้าสาขาวิชามะเร็งวิทยาทางอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ มร. ฟาริด บิดโกลิ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โรช ไทยแลนด์ เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว