แบงก์ชาติดีเดย์ช่วยผู้ประกอบธุรกิจฝ่าโควิด ยื่นกู้-พักหนี้ วงเงิน 3.5 แสนล้าน 26 เม.ย.นี้
ข่าววันนี้ น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ) วงเงินรวม 3.5 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 2 มาตรการช่วยเหลือ ได้แก่
1. มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท
2. มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 1 แสนล้านบาท ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. 2564 ถือเป็นมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ มาตราการดังกล่าวได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทำให้การออกแบบมาตรการในการให้ความช่วยเหลือในรอบนี้มีความยืดหยุ่น สามารถรองรับความไม่แน่นอนได้ และครอบคลุมการแก้ปัญหาที่หลากหลาย รวมถึงยังตอบโจทย์ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงเป็นการช่วยเหลือฟื้นฟูภาคธุรกิจ ทั้งผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการรายใหญ่ ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่แม้ว่าจะไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ การงดกิจการ หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่การระบาดในรอบนี้ก็อาจจะซ้ำเติมบางธุรกิจที่มีสายป่านสั้นให้เดือดร้อนมากขึ้น รวมไปถึงภาคครัวเรือนด้วย
“ธปท. มองว่ามาตรการที่ออกมาไม่ใช่ยาขนานวิเศษที่จะแก้ปัญหาที่เกิดจากโควิด-19 ได้ทั้งหมด ดังนั้นการทำมาตรการจึงจำเป็นต้องร่วมกันในหลายส่วน ซึ่งที่ผ่านมามีการหารือพูดคุยกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทำให้มาตรการที่ออกมาในครั้งนี้มีความยืดหยุ่น เพื่อรองรับความไม่แน่นอน ครอบคลุมการแก้ปัญหาที่หลากหลายมากขึ้น ดังนั้นหากวงเงินในมาตรการใดเหลือก็สามารถเอาไปปรับเปลี่ยนกับวงเงินในอีกมาตรการได้ แต่เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกิน 3.5 แสนล้านบาท” น.ส.สุวรรณี กล่าว
น.ส.สุวรรณี กล่าวอีกว่า สถาบันการเงินสามารถยื่นคำขอกู้เงินจาก ธปท. ตามมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อฟื้นฟู และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ได้ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. 2564 เป็นต้นไป โดย ธปท. ไม่ได้คาดหวังว่าเม็ดเงินจากมาตรการทั้งหมดจะออกไปอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นจึงมีการออกแบบระยะเวลาของมาตรการไว้ค่อนข้างยาว คือ 2 ปี ซึ่งเม็ดเงินจากมาตรการจะค่อยๆ ทยอยออกตามความต้องการใช้เงินของผู้ประกอบธุรกิจ โดยระยะแรกอาจเป็นการใช้จ่ายเพื่อเติมสภาพคล่อง จ่ายค่าแรง ค่าค่าน้ำค่าไฟ และระยะต่อไปอาจเป็นการใช้จ่ายเพื่อเติมสภาพคล่องให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ และในระยะถัดไปเป็นช่วงที่ธุรกิจจะกลับมาดำเนินการในรูปแบบปกติได้ก็อาจต้องการสภาพคล่องเพื่อฟื้นฟู และปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจการ ซึ่งเม็ดเงินจากมาตรการจะรองรับในส่วนดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้จะยังไม่เปิดให้ยื่นกู้ แต่ ธปท. ได้กำชับไปยังสถาบันการเงินว่าหากมีลูกค้าติดต่อเข้ามา ให้รับคำขอของลูกค้าไว้ก่อน ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าพอจะมีการตกลงเงื่อนไขกันบ้างแล้ว โดยเชื่อว่ามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมทั้ง 2 มาตรการนี้ จะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยเม็ดเงินลงไปในลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงได้มากกว่า พ.ร.ก.ซอฟต์โลน เดิมได้
โดย ธปท. ออกประกาศ 2 ฉบับ เพื่อกำหนดขอบเขตคุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจที่สามารถเข้าร่วมโครงการ หลักการ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง ในทั้ง 2 มาตรการ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้) ตาม พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ ซึ่งได้ลงประกาศไว้ในเว็บไซต์ของ ธปท. แล้ว
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการประเมินความเปราะบางของธุรกิจเอสเอ็มอีจากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่กระจายไปในวงกว้างกว่ารอบที่ผ่านมา ส่วนผลกระทบจะมีมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องขอไปรวบรวมข้อมูลให้ชัดเจนก่อน พร้อมมองว่า หากมีความจำเป็นต้องปรับหลักเกณฑ์ หรือเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็นสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นนั้น ธปท. ก็สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ในชั้นของประกาศ ธปท. ได้เลย