รีเซต

ผู้นำเบลารุสสั่งเครื่องบินรบ สกัดไรอันแอร์ บีบให้ลงจอด เพื่อจับนักข่าว

ผู้นำเบลารุสสั่งเครื่องบินรบ สกัดไรอันแอร์ บีบให้ลงจอด เพื่อจับนักข่าว
ข่าวสด
24 พฤษภาคม 2564 ( 07:44 )
87

 

ผู้นำเบลารุสสั่งเครื่องบินรบ - เมื่อ 24 พ.ค. ซีเอ็นเอ็น รายงานเหตุการณ์คาดไม่ถึงและสร้างความไม่พอใจให้รัฐบาลชาติยุโรป รวมถึงรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เมื่อประธานาธิบดี อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ผู้นำเบลารุส สั่งการให้เครื่องบินรบขึ้นประกบเครื่องบินโดยสาร สายการบินไรอันแอร์ เที่ยวบิน ให้กลับมาลงจอดที่สนามบินกรุงมินสก์ ของเบลารุส เพียงเพื่อจะจับกุมนักข่าวคนหนึ่งที่เป็นอริของตนเอง

 

 

นายรามัน โปรตาเซวิช วัย 26 ปี นักข่าว และนักเคลื่อนไหว ผู้กล้าวิจารณ์นายลุคาเชนโก ระหว่างลี้ภัยอยู่ต่างแดน ถูกจับกุมที่สนามบินกรุงมินสก์ จากเครื่องบินไรอันแอร์ เที่ยวบิน FR4978 กรีซ-ลิทัวเนีย หลังจากเครื่องถูกเครื่องบินรบ มิก-29 บินประกบให้เครื่องย้อนกลับมาลงจอดฉุกเฉิน อ้างว่าต้องสงสัยมีคนวางระเบิดบนเครื่อง

 

 

 

ข้อมูลจากเว็บไซต์ติดตามการบิน flightradar24.com แสดงให้เห็นว่า เครื่องบินของไรอันแอร์ ถูกโฉบสกัดจังหวะที่กำลังจะเข้าน่านฟ้าลิทัวเนียในอีก 2 นาที แล้วถูกบังคับให้บินวกไปลงจอดที่กรุงมินสก์ของเบลารุสนาน 7 ชั่วโมง

 

 

จากนั้นเครื่องซึ่งบรรทุกผู้โดยสารและลูกเรือมาทั้งหมด 171 คน ได้รับอนุญาตให้ขึ้นบินต่อไปยังประเทศลิทัวเนียตามเดิม โดยไม่มีนายโปรตาเซวิช

 

 

 

ประธานาธิบดี กิตานาส เนาเซดา ผู้นำลิทัวเนีย เปิดแถลงทันทีว่า รัฐบาลเบลารุสกระทำการน่ารังเกียจ ในเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ถึงขั้นบังคับสายการบินพลเรือนให้ลงจอดได้ พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายโปรตาเซวิช โดยทันที

 

 

นายโปรตาเซวิช เป็นผู้ก่อตั้งสถานีเทเลแกรม เน็กซตา และสถานีคล้ายกันอีกช่อง นำเสนอเรื่อวราวการประท้วงต่อต้านรัฐบาลลุคาเชนโก จนถูกรัฐบาลเบลารุสขึ้นบัญชีว่าเป็นกลุ่มสุดโต่ง ส่วนนาโปรตาเซวิช มีชื่อในบัญชีก่อการร้าย

 

 

 

ด้านนาง เออร์ซูลา วอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า การละเมิดกฎระเบียบการบินระหว่างประเทศจะต้องรับผลที่ตามมา ซึ่งเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปหลายคนเผยว่าควรจะต้องถูกมาตรการแซงก์ชั่น

 

 

นายแอนโธนี บลิงเคน รมว.ต่างประเทศ แถลงว่า การกระทำบังคับให้เครื่องลงจอดเป็นเรื่องที่น่าตกตะลึงมาก และเรียกร้องให้เบลารุสปล่อยตัวนายปราตาเซวิชในทันที พร้อมเผยว่า ประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะหารือกับชาติพันธมิตรเพื่อจัดการเรื่องนี้ต่อไป

 

 

 

สำหรับนายลูคาเชนโกและรัฐบาลของตนเอง เคยถูกประชาชนลุกฮือต่อต้านยาวนานหลายเดือน เมื่อปี 2563 หลังชนะการเลือกตั้งที่ค้านสายตาประชาชน อีกทั้งยังปราบปรามจับกุมผูัประท้วงและผู้นำฝ่ายค้าน จนหลายคนต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง