รีเซต

5 มิถุนายน วันสิ่งแวดล้อมโลก : พะยูนมาเรียม 'ขยะพลาสติก' สู่ 'ขยะติดเชื้อโควิด' เมื่อไหร่จะแยกขยะในมือกัน!

5 มิถุนายน วันสิ่งแวดล้อมโลก : พะยูนมาเรียม  'ขยะพลาสติก' สู่ 'ขยะติดเชื้อโควิด' เมื่อไหร่จะแยกขยะในมือกัน!
TeaC
5 มิถุนายน 2565 ( 07:00 )
300
1
5 มิถุนายน วันสิ่งแวดล้อมโลก : พะยูนมาเรียม  'ขยะพลาสติก' สู่ 'ขยะติดเชื้อโควิด' เมื่อไหร่จะแยกขยะในมือกัน!

5 มิถุนายน เป็นวัน อะไร? เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก 2565 ทรูไอดีขอชวนนึกถึง "หนูขอโทษ หนูเผลอกินขยะพลาสติก" เชื่อว่าหลายคนยังคงจำประโยคที่บีบหัวใจและความรู้สึกเมื่อได้รับรู้ว่า มาเรียม พะยูนน้อยตัวที่ 14 สัตว์สงวนที่หลงเหลือในท้องทะเลไทยเพียงราว 200 ตัว และเธอเป็นขวัญใจของคนไทยทั้งประเทศตายลงเมื่อ ปี 2562 หลังทีมสัตวแพทย์ที่รักษามาเรียม พบ "ขยะ" หนึ่งในต้นตอที่ทำให้มาเรียมอาการแย่และพรากชีวิตของพะยูนน้อยออกจากอ้อมอกทะเลไทยในที่สุด รวมทั้งยังทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย

 

ขยะพลาสติก และความตายของ มาเรียม พะยูนน้อย

ปี 2562 พบพะยูนน้อยเพศเมีย อายุประมาณ 6-7 เดือนเกยตื้นที่บริเวณอ่าวทึง ม.4 ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ ในช่วงปลายเดือนเมษายน ก่อนที่ทางเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรฯ ที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาร่วมกันนำเจ้าพะยูนตัวดังกล่าวไปอนุบาลในสภาพธรรมชาติในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง ซึ่งมีแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของพะยูน และนับเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการอนุบาลลูกพะยูนในสภาพธรรมชาติ รวมถึงยังเป็นจุดเริ่มต้นที่คนไทยทุกคนเฝ้าติดตามทุกการเติบโตของเธอ พะยูนน้อย มาเรียม แห่งเกาะลิบง แต่ท้ายสุด ขยะพลาสติกนำความตายมาให้เธอ

 

 

"เศร้ามากค่ะ ที่พบว่าเธอเสียชีวิตโดยมีสาเหตุจากการช็อก เบื้องต้นจากเศษพลาสติกเล็ก ๆ หลายชิ้นขวางลำไส้ จนมีอาการอุดตันบางส่วนและอักเสบ จนทำให้มีแก๊สสะสมเต็มทางเดินอาหาร มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดเป็นหนอง ตามมา" คำบอกเล่าจากสัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Nantarika Chansue ระบุว่า ช่วงตี 05.52 น. เพิ่งผ่าพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิตของมาเรียมจบทีมสัตวแพทย์ 10 คนจาก ทช. จุฬา ทร. และ มทร. ร่วมกัน

 

และไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า ขยะพลาสติกที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์นี่เองยื่นความตายให้กับมาเรียม พะยูนน้อย 

 

 

มาเรียม พะยูนน้อย ปลุกสังคมสำนึกลดใช้ขยะได้จริงหรือ?

กระแสการตายของพะยูนน้อย มาเรียม ส่งผลให้หลายหน่วยงานต่างร่วมรณรงค์คนไทยช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม หันมาปรับพฤติกรรมในการลดใช้ขยะ แต่เราเคยกลับมาสำรวจตัวเองกันไหมว่า ขยะในมือเรามีกี่ชิ้น แล้วหนึ่งวันทิ้งขยะไปเท่าไหร่ ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปี 2560 พบว่า คนไทยผลิตขยะคนละ 1.14 กิโลกรัมต่อวัน ถ้าเอาไปคูณคนทั้งประเทศไม่อยากนึกภาพเลยว่าจะมหาศาลมากขนาดไหน 

 

แถมสิ่งที่เป็นปัญหาคือ ส่วนน้อยมากที่จะรู้ถึงการจัดการขยะในมือ วิธีแรกที่คนส่วนมากอาจจะมองเป็นเรื่องไม่สำคัญ ปัญหาขยะเลยยิ่งสะสมเป็นเงาตามตัวจนถึงยุคโควิดที่ "ขยะติดเชื้อ" ขยะอันตรายที่มนุษย์ทุกคนยังเคยชินกับการทิ้งขยะด้วยรูปแบบวิธีเดิม ๆ เลยหลงลืมถึง "อันตราย" ทั้งจากขยะพลาสติกที่ฆ่าพะยูนมาเรียม จนถึงขยะติดเชื้อตัวร้ายแพร่เชื้อโควิดให้มนุษย์ที่ต้องมีส่วนในการกำจัดขยะติดเชื้อให้ต้อง "ตายทั้งเป็น" ด้วยเช่นกัน

 

 

"ขยะพลาสติก" แผลเก่ายังไม่จบสู่ "ขยะติดเชื้อ" แผลใหม่จากโควิด-19 

จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วในประเทศไทยมีมากถึง 45,000 ล้านใบต่อปี แบ่งที่มาของถุงพลาสติกหูหิ้ว 3 แห่งด้วยกันคือ

 

  • ร้อยละ 40 มาจากตลาดสดเทศบาล เอกชน และแผงลอย จำนวน 18,000 ล้านใบต่อปี
  • ร้อยละ 30 มาจากร้านขายของชำ จำนวน 13,500 ล้านใบต่อปี
  • ร้อยละ 30 มาจากห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ จำนวน 13,500 ล้านใบต่อปี

 

ยังพบอีกว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ย คนละ 8 ใบต่อวัน ทำให้มีขยะพลาสติกมากถึง 80 ล้านใบต่อวัน

 

อีกทั้ง ปัญหาขยะที่ไม่แพ้ขยะพลาสติกที่ยังวนซ้ำ ๆ นั่นคือ "ขยะติดเชื้อ" แผลใหม่จากอุบัติโรคโควิด-19 ที่นับวันทวีความรุนแรง ด้วยการปรับวิถีการใช้ชีวิตที่ต้องใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งให้ถูกต้องก่อนออกจากบ้านส่งผลให้โควิดระลอกใหม่เกิดขึ้น ขยะติดเชื้อจึงเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา โดยส่งผลกระทบหลายมิติไม่แพ้ขยะพลาสติกหากมนุษย์อย่างเรา ๆ ไม่รู้จักวิธีการในการจัดการ "ขยะ" ในมือก่อนปล่องทิ้งอย่างถูกต้องและถูกวิธี

 

ข้อมูลจาก สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร พบว่า ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.63 - 27 เม.ย.64 ที่ผ่านมา มีขยะพิษติดเชื้อโควิด 1,612 ตัน หรือเฉลี่ย 12 ตัน/วัน ซึ่งช่วง วันที่ 1-27 เม.ย.64 พบว่าค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น คือ วันละ 14.86 ตัน/วัน เพิ่มมาเกือบ 3 ตัน จนมาถึงข้อมูลวันที่ 10 พ.ค.64 พบว่า มีขยะมีพิษเพิ่มขึ้นมาก ถึง 21.63 ตัน เห็นแบบนี้แล้วตกใจกันบ้างหรือไม่

 

เมื่อลองแบ่งขยะติดเชื้อ จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย ดังนี้


1. ขยะผู้ป่วยที่มีผลยืนยันว่าติดเชื้อโควิด โดยจะมาจาก รพ.สนาม โรงพยาบาล และ Hospitel

2. ขยะที่มาจาก ผู้ป่วยที่ผ่านการคัดกรอง แต่ยังอาศัยอยู่ที่บ้าน (ยังไม่แน่ใจติดหรือไม่)

3. ขยะประเภทหน้ากากอนามัย สำหรับคนทั่วไปที่ใช้ป้องกัน (อาจจะไม่ติดเชื้อ) สำหรับตรงนี้มีถังขยะที่ไว้ให้ทิ้งหน้ากากอนามัยอยู่ โดยมีการตั้งไว้มากกว่า 1 พันแห่ง ตามสถานที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน รพ.สนาม เป็นต้น

 

เห็นตัวเลขเหล่านี้แล้ว ถามจริงทุกวันนี้คุณเคยแยกขยะในมือก่อนทิ้งหรือไม่ ?

 

 

"ขยะ" ในมือ สะท้อนปัญหาซ้ำซากของคนไทยไม่รู้จักการ "คัดแยกขยะ"

เนื่องจากสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปัญหาขยะไม่ถูกจัดการ และยังคงเป็นปัญหาสะสมที่นับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั่นคือ คนส่วนใหญ่ไม่ยอมแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และถ้าหากลองสังเกตพฤติกรรมจากตัวเราเอง เคยคิดบ้างไหมว่าในแต่ละวันที่เราสร้างขยะ เฉลี่ยคนละ 1.14 กิโลกรัมต่อวัน เราทุกคนได้มีการคัดแยกขยะก่อนปล่อยลงถังบ้างหรือเปล่า ?

 

 

แล้วทำไมเราถึงไม่แยกขยะกัน ?

ซึ่งเป็นไปได้ว่าการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของคนยุคดิจทัลแบบนี้ มีการเลือกใช้ประโยชน์จากสิ่งของอำนวยความสะดวกอย่างรวดเร็ว ทั้งอาหารและของเสียที่ไม่ได้ใช้แล้วใส่เทรวมกัน ก็ยิ่งทำให้ปริมาณขยะสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ  และถึงแม้ว่าการคัดแยกขยะกว่า 80%  ขึ้นอยู่กับประชาชนเป็นหลัก ที่จะนำไปสู่การคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ แต่สิ่งที่น่าสนใจกลับเป็นปริมาณขยะ และปริมาณคนคัดแยกขยะ ที่สวนทางกันอย่างชัดเจน จนทำให้ระบบการจัดการขยะไม่ดี เมื่อระบบไม่ดีปัญหาขยะล้นเมืองก็ยังมีให้เห็นเป็นเงาตามตัวต่อไป

 


ปัญหานี้แก้ด้วยจิตสำนึกล้วน ๆ ที่ทุกคนต้องมี

เมื่อย้อนกลับไปต้นทางของการคัดแยกขยะ หรือการสร้างขยะให้น้อยลง กุญแจสำคัญคือ "การสร้างจิตสำนึก" กันตั้งแต่เด็ก ๆ เนื่องจากการแยกขยะแต่ละประเภทก่อนทิ้งเป็นการเพิ่มโอกาสและปริมาณในการนำขยะกลับมา Recycle เพื่อใช้ประโยชน์ใหม่ สร้างรายได้ใหม่ได้อีกครั้ง พร้อมมีส่วนร่วมลงมือทำกันอย่างจริงๆ จัง ๆ สู่ทางออกของปัญหาขยะล้นเมือง

 

 

5 มิถุนายน วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) ปลุกจุดเริ่มต้นกันเถอะ

เพราะโลกของเราเกิดวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง องค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่  5 มิถุนายนของทุกปี เป็น วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) มาใช้วันดี ๆ แบบนี้ปลุกจิตสำนึกที่ดี สร้างนิสัย "คัดแยกขยะ" ก่อนปล่อยลงถังทุกครั้งกันเถอะ

 

 

สำหรับใครที่อยากรู้ ประวัติ วันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน และกิจกรรม วันสิ่งแวดล้อมโลก 2564 ในไทย คลิกเลย

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง