รีเซต

เปิดแนวทางดูแลกลุ่มเสี่ยงติดโควิด สธ.แนะหญิงท้องรีบบูสต์เข็ม 3 สกัดโอมิครอน

เปิดแนวทางดูแลกลุ่มเสี่ยงติดโควิด สธ.แนะหญิงท้องรีบบูสต์เข็ม 3 สกัดโอมิครอน
มติชน
25 มกราคม 2565 ( 14:34 )
41
เปิดแนวทางดูแลกลุ่มเสี่ยงติดโควิด สธ.แนะหญิงท้องรีบบูสต์เข็ม 3 สกัดโอมิครอน

เมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงแนวทางการดูแลกลุ่มเปราะบางที่ติดเชื้อโควิด-19 และแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) ว่า สำหรับการติดเชื้อโควิด-19 และที่รักษาที่บ้าน ส่วนใหญ่จะมีอาการน้อย หรือไม่มีอาการ อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มเปราะบางมีข้อระวังพิเศษ ตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมา ประเทศไทยพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้น แม้ว่ากลุ่มผู้สูงอายุ ติดเชื้อไม่สูงมากอยู่ที่ร้อยละ 6-11 แต่มีข้อมูลว่า ตั้งแต่วันที่ 1-20 มกราคม 2565 ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ส่วนใหญ่ ร้อยละ 75 เป็นผู้สูงอายุ ส่วนหญิงตั้งครรภ์มีแนวโน้มติดเชื้อทรงตัว และพบเสียชีวิตเป็นระยะ ดังนั้น กลุ่มเปราะบางยังเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังสูง เพราะมีโอกาสติดเชื้อจากคนใกล้ชิด ซึ่งเมื่อติดเชื้อแล้วคนกลุ่มนี้มีโอกาสอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป

 

 

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับกลุ่มเปราะบางที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษ 1.กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ คือ มีภาวะอ้วน อายุมาก และมีโรคประจำตัว 2.กลุ่มเด็ก ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด และ 3.กลุ่มสูงอายุ ต้องระวังการติดเชื้อจากคนใกล้ชิด คนในครอบครัว โดยเฉพาะที่มีโรคประจำตัวเช่น หัวใจ เบาหวาน ความดัน และโรคอ้วน ทั้งนี้ ประชาชนเป็นกลุ่มเสี่ยงควรตรวจหาเชื้อด้วย ATK คือ พักอาศัยอยู่กับผู้ติดเชื้อ สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อในที่ทำงาน โรงเรียน และสถานประกอบการ ตรวจเมื่อมีอาการป่วย เช่น ไข้ ลิ้นไม่รับรส หายใจหอบ ปวดเมื่อยร่างกาย และมีประวัติไปในสถานที่เสี่ยง เช่น พื้นที่แออัด สถานที่ปิด

 

“หากตรวจ ATK พบว่าเป็นลบ ก็อย่าประมาท ต้องดูแลตัวเองขั้นสูงสุด (Universal Prevention) เฝ้าระวังด้วยการตรวจเป็นระยะ ในกรณีที่ผลเป็นบวก โดยอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ให้ตั้งสติ โทร. 1330 ต่อ 14 หรือไลน์ @nhso เพื่อเข้ารักษาที่บ้านและในชุมชน (Home and Community Isolation) แต่หากไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส นานกว่า 24 ชั่วโมง หรือออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่าร้อยละ 94 จะเข้าเกณฑ์การรักษาในโรงพยาบาล” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

 

 

ด้าน นพ.เอกชัย กล่าวว่า สำหรับการระบาดระลอกเดือนมกราคม 2565 ติดเชื้อสะสมทั่วประเทศ 160,000 ราย พบมากในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เกือบร้อยละ 30 สถิติของการรักษาที่บ้าน (HI) ของกรุงเทพฯ ประมาณ 1.4 หมื่นคน อยู่ระหว่างการรักษาที่บ้าน 5,445 ราย กรณีการดูแลกลุ่มเปราะบางที่ต้องเข้า HI นั้น

 

กรณีหญิงตั้งครรภ์ เมื่อติดเชื้อไม่มีอาการ ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีภาวะครรภ์เสี่ยงสูงสามารถแยกกักที่บ้านได้ ดูแลทางเทเลเมดิซีน ดูแลตนเองเหมือนภาวะตั้งครรภ์ปกติ ยกเว้น มีโรคประจำตัวต่างๆ มีภาวะอ้วนมากๆ หรือไม่เคยฉีดวัคซีน หากมีความเสี่ยงเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์ว่าต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล (รพ.) หรือไม่ กรณีถ้ามีอาการเจ็บครรภ์ เลือดไหลออกจากช่องคลอด น้ำเดินก่อนกำหนดต้องรีบปรึกษาและไปพบแพทย์ทันที

 

กรณีเด็กเล็ก มักไม่ค่อยมีอาการอยู่แล้ว หรืออาการเล็กน้อย เช่น ไข้ต่ำ น้ำมูก ไอเล็กน้อย ยังรับประทานอาหารดื่มนมตามปกติ ยังไม่น่ากังวล สามารถกักตัวที่บ้านได้ แต่ต้องมีพ่อแม่ผู้ปกครองดูแลประเมินอาการเด็กตลอดเวลา โดยให้ดูว่ามีไข้สูงเกิน 39 องศาฯ หรือไม่ หอบเร็ว ซึมลง ไม่ดูดนม ไม่กินอาหาร หากมีอุปกรณ์วัดปลายนิ้ว แล้วออกซิเจนปลายนิ้วต่ำกว่าร้อยละ 94 ลงมา ถือว่าไม่ปลอดภัยให้ติดต่อเจ้าหน้าที่นำเด็กส่ง รพ. หากยังไม่มีอาการรุนแรง ให้ยาลดไข้ เช็ดตัว ยาลดน้ำมูก ยาผงเกลือแร่เมื่อมีท้องเสียสามารถดูแลที่บ้านได้

 

กรณีผู้สูงอายุ มีข้อบ่งชี้เรื่องการกักตัวที่บ้าน ต้องมีอายุไม่มากเกิน 75 ปีขึ้นไป สุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ สธ.กำหนด หากมีโรคเรื้อรังไม่ควรกักตัว วิธีการดูแลคล้ายกับกลุ่มอื่น คือ แยกรับประทานอาหาร ของใช้ งดออกจากบ้าน งดคนมาเยี่ยม แยกห้องน้ำ หากแยกไม่ได้ใช้คนสุดท้าย สวมหน้ากากตลอดเวลา ทั้งผู้สูงอายุและคนดูแล ล้างมือ แยกซักผ้า ล้างภาชนะ ทิ้งขยะ แยกอุปกรณ์เครื่องใช้ ส่วนญาติที่เป็นผู้ดูแล ต้องสวมหน้ากาก เว้นระยะห่างผู้สุงอายุที่ติดเชื้อ หมั่นล้างมือเสมอ คอยจัดส่งอาหารให้ผู้สูงอายุในบ้าน หลีกเลี่ยงไม่ให้ติดต่อโดยตรง แขวนหรือวางไว้ที่โต๊ะหน้าห้อง หากพบมีอาการรุนรแงขึ้น ไข้สูง หายใจหอบ หรือออกซิเจนปลายนิ้วต่ำกว่าร้อยละ 94 ต้องติดต่อเจ่าหน้าที่และส่ง รพ.ใกล้บ้าน

 

“ผู้แยกกักตัวที่บ้านต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด เผื่อมีอาการแย่ลงให้ปฏิบัติตามคำแนะนำทั้งหมด สมาชิกในครอบครัวหมั่นสังเกตอาการผู้ป่วยและตัวเอง หากมีอาการขึ้นมาแสดงว่าเราก็เสี่ยงติดเชื้อเช่นกันในช่วงของการกักตัว” นพ.เอกชัย กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีเด็กติดเชื้อ พ่อแม่ไม่ติด หรือพ่อแม่เด็กติดเชื้อ เด็กไม่ติด จะมีวิธีการดูแลใน HI อย่างไร นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า กรณีเด็กติดเชื้อ ผู้ปกครองไม่ติด ถ้าเด็กมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการเลยก็อยู่ได้ทั้ง HI หรือ ฮอสปิเทล แต่ผู้ปกครองที่ดูแล ควรมีอายุไม่เกิน 60 ปี ไม่มีโรคประจำตัว รับวัคซีนครบ ปฏิบัติตามคำแนะนำเรื่องการดูแลเด็กได้ กรณีเด็กอาการมาก หรือมีโรคประจำตัว แพทย์จะพิจารณาเรื่องรักษาใน รพ. ส่วนกรณีเด็กไม่ติดเชื้อ แต่ผู้ปกครองติดเชื้อ แนะนำให้แยกกัน โดยให้ญาติดูแลแทน กรณีไม่มีญาติหรือผู้ดูแล สธ.เคยประสานจัดทำแนวทางปฏิบัติร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สนับสนุนสถานที่ดูแลเด็กช่วงเวลาดังกล่าวชั่วคราว ทั้งสถานสงเคราะห์ บ้านพักในสังกัด และชุมชน

 

ถามถึงหญิงตั้งครรภ์ต้องรับวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือไม่ และต้องฉีดเมื่อใด นพ.เอกชัย กล่าวว่า ต้องรับเข็มกระตุ้นเช่นกัน เพราะ 2 เข็ม ป้องกันเชื้อโอมิครอนไม่เต็มที่ ต้องบูสต์อีกเข็ม ตอนนี้รับบูสเตอร์โดสแล้ว 8,600 คน มีความปลอดภัยดี ไม่มีอะไรรุนแรงจากวัคซีน แต่ช่วงนี้สตรีมีครรภ์ติดเชื้อและเสียชีวิตลดลง แต่คนเสียชีวิตทั้งหมด คือ กลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน ดังนั้น ขอให้หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ฉีดเข้ารับวัคซีน

 

ถามอีกว่า ติดเชื้อแล้วกักตัวที่บ้านและคอนโดมิเนียมต่างกันอย่างไร และควรทำอย่างไร นพ.เอกชัย กล่าวว่า การดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ว่า บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ คอนโดฯ หรืออพาร์ทเมนต์ เหมือนกัน คือ ให้แยกสัดส่วนพอเหมาะระหว่างผู้ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ คือ ระบายอากาศให้ดี ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม ห้องน้ำ ขยะ การสวมหน้ากาก ล้างมือ แต่คอนโดฯ ที่เน้นพิเศษจากบ้าน เพราะอยู่ร่วมกันหลายคน หลายชั้น

 

“บทบาทสำคัญคือ นิติบุคคล ให้แจ้งผู้พักอาศัยในคอนโดฯ ว่ามีคนติดเชื้ออาศัยที่ไหน เช็กไทม์ไลน์แจ้งลูกบ้านด้วยว่า มีการใช้สถานที่ไหนในคอนโดฯ ส่วนกลางต้องเข้มเว้นระยะห่าง หรืองดเว้นไปก่อน หากไม่สามารถทำความสะอาดฆ่าเชื้อบริเวณที่มีผู้ติดเชื้อ อาจประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะลิฟต์ ราวบันได ทางเดินในชั้นนั้นๆ ลูกบิดประตู ส่วนคนในคอนโดฯ ไม่ต้องตื่นตระหนก ป้องกันตนเองสูงสุดป้องกันได้ในเรื่องความเสี่ยงต่างๆ และติดตามอาการลูกบ้านสม่ำเสมอ หากอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นให้ส่งตัวไปรักษาให้เหมาะสมต่อไป” นพ.เอกชัย กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง