รีเซต

“ปิยบุตร” เปิดรายการ Podcast “รัฐประหารโควิด” ชี้ 4 ข้อผิดพลาดรัฐบาล

“ปิยบุตร” เปิดรายการ Podcast “รัฐประหารโควิด” ชี้ 4 ข้อผิดพลาดรัฐบาล
มติชน
5 เมษายน 2563 ( 16:43 )
170
1

“ปิยบุตร” เปิดรายการ Podcast “รัฐประหารโควิด” ชี้ 4 ข้อผิดพลาดรัฐบาล เชื่อ ดูแล “เสรีภาพกับสุขภาพ ปชช.” ไปพร้อมกันได้

รัฐประหารโควิด – เมื่อวันที่ 5 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ปล่อยรายการพอดแคสต์ตอนใหม่ ภายใต้ชื่อรายการ Interregnum ตอนพิเศษ “รัฐประหารโควิด” ความยาว 35 นาที ชี้ “สุขภาพ” สามารถเคียงคู่กับ “เสรีภาพ” ได้ เราต้องไม่ปล่อยให้มีการนำ “สุขภาพ” มาเป็นข้ออ้าง สร้างความชอบธรรมให้การบริหารราชการแผ่นดินที่ไร้ประสิทธิภาพ จนไม่รู้ว่าจะพาประเทศไปทางไหนในยามวิกฤตโควิด โดยสามารถฟัง Interregnum #PokCast ตอนพิเศษ “รัฐประหารโควิด” ได้หลายช่องทาง ประกอบด้วย

Apple Podcasts – https://podcasts.apple.com/th/podcast/the-progressive-podcast/id1489910012

SoundCloud – https://soundcloud.com/progressivemov-podcast/interregnum-special

Spotify – https://open.spotify.com/episode/3waTJVquBzoKc9dmmCtoEB

และ Youtube – https://youtu.be/EDNFSh7lu0s

โดยนายปิบุตร กล่าวตอนหนึ่งว่า ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลมีมาตรการเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ มีการประกาศ พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกาศเคอร์ฟิว ซึ่งก็เป็นไปเพื่อรักษาสุขภาพตามที่ได้กล่าวอ้างนั้น ทั้งนี้ วิเคราะห์สถานการณ์จากมุมมองเรื่องสภาวะยกเว้น สามารถจำแนกเป็นข้อ ๆ ได้แก่ 1.รัฐประหารโดยไวรัสโควิด หรือ Covid Coup d’état ซึ่งไม่เกินเลยไปนักถ้าจะเรียกแบบนี้ เพราะสิ่งปกติที่เคยทำได้หายไปและอำนาจได้กลับมารวมศูนย์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เป็นผู้เผด็จการมาจัดการเรื่องโควิด หรือ (Covid Dictator) เราไม่เห็นว่ามีรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาจัดการปัญหา มีเพียงนายกและบางครั้งก็มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย บทบาทรัฐบาลกลายเป็นรัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ นำ และใช้กลไกข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ และข้าราชการประจำจัดการเบ็ดเสร็จ ออกมาตรการเข้มข้น เกินกว่าเหตุ จำกัดสิทธิเสรีภาพมากขึ้น โดยที่เห็นว่าออกมาแล้วไม่รู้จะได้ผลหรือเปล่า คิดรอบคอบตลอดรอดฝั่งหรือไม่ จะเกิดผลเสียอย่างไร มีการฉีดยาแรง และเอาโทษมาขู่กัน ทั้งหมดนี้ มาในนามของสุขภาพนำเสรีภาพ ซึ่งแท้จริงแล้ว สุขภาพและเสรีภาพเดินควบคู่กันได้ ถ้าเรามีผู้นำประเทศได้อย่างมีกึ๋นเพียงพอ มีสภาวะผู้นำเพียงพอในการบริหารจัดการบ้านเมืองในสภาวะวิกฤต

2. สะท้อนรัฐราชการรวมศูนย์จริงๆ และเป็นการรวมศูนย์อำนาจที่แตกเป็นเสี่ยงๆ (Fragmented Centralization) ซึ่งความโกลาหลที่เกิดขึ้นจากการใช้มาตรการต่างๆ เกิดขึ้นในระบบราชการ สะท้อนเรื่องนี้ คือ เป็นระบบรัฐราชการรวมศูนย์อำนาจ โดยเอำนาจที่เอามารวมกันนั้นเป็นอำนาจที่แตกเป็นส่วนๆ เพราะแต่ละกระทรวง ทบวง กรมก็มีระเบียบกลไกของตัวเอง ปัญหานี้เกิดชัด เวลาสั่งการระดับบนลงมาจะไม่เกิดผลทันที เพราะต้องเข้าสู่ส่วนราชการ แล้วต้องดูว่ากลไกแต่ละหน่วยงานจะสั่งการต่อกันอย่างไร แต่ละหน่วยงานมีกลไกการสั่งที่ไม่เหมือนกัน เช่น การให้ข้าราชการเริ่มทำงานอยู่บ้าน แต่ละส่วนไปคิดสั่งการมาได้วิธีการช้าเร็วไม่เท่ากัน หรือกรณีให้อำนาจผู้ว่าตัดสินใจแต่ละจังหวัด ก็ตัดสินใจไม่เหมือนกัน กลายเป็นว่าหลายจังหวัดคิดว่าตัวเองเป็นจังหวัดอิสระ ต้องทำอย่างไรก็ได้ไม่มีโควิดระบาด ปกป้องแดนตัวเองให้ดีที่สุด โดยไม่ได้ฟังแนวทางรัฐส่วนกลางเท่าใดนัก

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า 3.ออกกฎเกณฑ์ มาตรการ ระเบียบต่างๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องหลักความมั่นคงแน่นอนของนิติฐานะ ซึ่งหลักนี้หมายความว่าเมื่อใดก็ตาม มีการออกกฎเกณฑ์บังคับกับบุคคล บุคคลนั้นต้องรู้ล่วงหน้าว่ากฎเกณฑ์พูดถึงอะไร จะให้ทำอะไร เพื่อจะได้ตัดสินใจดำเนินชีวิตได้ถูก และกฎเกณฑ์ที่ออกมาต้องแน่นอน ชัดเจน อ่านแล้วเข้าใจว่าต้องการให้ปฏิบัติอย่างไร และใช้เวลายาวนานพอสมควร ไม่ใช่ออกวันนี้แล้วพรุ่งนี้เปลี่ยน แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ มาตการที่ออกมาไม่มีเรื่องความมั่นคงแน่นอนของนิติสถานะ คนที่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ไม่มีทางรู้ล่วงหน้า อยู่ดีๆ ก็ประกาศแล้วใช้ทันที ไม่มีโอกาสได้เตรียมตัวช่วงเปลี่ยนผ่าน และออกมาแล้วต้องตามแก้ไปเปลี่ยนใหม่เรื่อย เช่น กรณีเหตุการณ์ที่สนาบินสุวรรณภูมิที่ คนเดินทางไม่รู้ล่วงหน้าว่าต้องเจอกับมาตรการอะไรบ้าง เชื่อว่าทุกคนพร้อมให้ความร่วมมือ เพียงแต่มาตรการรัฐต้องเตรียมรองรับให้เพียงพอด้วย ต้องคิดให้รอบด้านมากกว่านี้ การรู้ล่วงหน้าจะได้เตรียมพร้อมถูก และ 4.มาตรการที่ออกมาคิดไม่ตลอดสาย และไม่เตรียมระบบรองรับล่วงหน้า วันนี้ รัฐบาลไม่ใช่วิ่งตามแก้วิกฤตโควิด-19 แต่เป็นรัฐบาลที่วิ่งตามแก้มาตรการที่ตัวเองออกมาแล้วคิดไม่ตลอดสาย ออกมาทีต้องตามแก้ผลร้ายที่ออกมาก่อน วนเป็นงูกินหาง ไม่จบสิ้น จนทำความเชื่อมั่นของประชาชนหายไป เช่น การไม่ตัดสินใจประกาศเข้าสู่ระยะที่ 3 โดยทำแต่เพียงการขอความร่วมมืองดจัดกิจกรรมในสถานที่ที่ผู้คนไปรวมกันอยู่มากๆ เช่น โรงภาพยนตร์ สนามกีฬา สนามมวย เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้กวดขันเข้มงวดและในที่สุด ซูเปอร์สเปรดเดอร์ที่แรกในประเทศไทย จุดที่ทำให้คนติดกันเต็มไปหมดและมีผู้เสียชีวิตก็คือ สนามมวยลุมพินี ก็เพราะไม่เด็ดขาดตั้งแต่ตอนนั้น แล้วพอตกใจก็ตามาด้วยการสั่งปิดห้างสรรพสินค้า โดยลืมคิดไปว่าคนทำงานซึ่งเป็นคนต่างจังหวัดจะทำอะไร มีรายได้จากไหน อยู่กันอย่างไร ก็เกิดการแห่กลับภูมิลำเนา คนไปรวมกันเต็มขนส่ง และแต่ละจังหวัดก็เริ่มเครียด ออกมาตรการล็อคดาวน์จังหวัดตัวเอง ขณะที่เรื่องค่าชดเชยหยุดงานก็ไม่ได้คิดเตรียมระบบรับ หลังจากออกมาก็ปรากฏว่าคนไปต่อแถวรอเปิดบัญชี มีการรวมตัวกัน หรือแห่ลงทะเบียนสมัครจนอินเตอร์เน็ตล่ม เป็นต้น

นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่า ภายใต้สถานการณ์วิกฤตนี้ คิดว่าทุกคนเห็นใจเจ้าหน้าที่ทุกคนซึ่งทำงานหนัก ก็ขอเอาใจช่วย ทุกคนเห็นใจ เข้าใจรัฐบาลที่ต้องเจอสภาวการณ์เช่นนี้ แต่เรื่องความเห็นเห็นใจ เข้าใจ และเรื่องความร่วมมือกันนั้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะเสนอความเห็น หรือวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ไม่ได้เลย นั่นจะหมายความการตัดสินใจใดถ้าผิดพลาดท้วงติงทำไม่ได้อย่างนั้นหรือ เชื่อว่าถ้าหากรัฐบาลเป็นรัฐบาลที่ดี มีภาวะผู้นำเพียงพอจะสามารถแก้วิฤตได้ ซึ่งต้องเป็นผู้นำที่สื่อสารดี เข้าใจ ตรงไปตรงมา พูดความจริง ไม่โกหกประชาชน แต่ก็ไม่ทำให้ประชาชนตระหนกตกใจ ไม่ตวาดสั่งสอนเหมือนตัวเองเป็นผู้ปกครองมาด่าลูก ไม่ทำให้ประชาชนกลัว และนอกจากนี้การออกแบบมาตรการต้องรอบคอบ คิดทั้งระบบ ตัดสินใจมาตรการใดแล้วต้องมีคนได้รับผลกระทบ ต้องเตรียมวิธีการเยียวยาด้วย ไม่ใช่ทำไปทีแก้ไปที และเมื่อตัดสินใจแล้วต้องเด็ดขาด เดินหน้า และต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่เอาแต่ตำหนิติเตียนโทษประชาชนตลอดเวลา และสุดท้ายรัฐบาลที่ดีในยามวิกฤตจะต้องบริหารประเทศ แก้ไขวิกฤตของประเทศได้ด้วยความหวัง ใช้ความหวังในการบริหาร ใช้ความหวังในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคน ไม่ใช่ด้วยความกลัวอย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง