รีเซต

จุฬาฯ สกัดพลาสมาผู้เคยติดโควิด-19 เป็นเซรุ่ม ได้กว่า 600 ขวด สำรองใช้ยามฉุกเฉิน

จุฬาฯ สกัดพลาสมาผู้เคยติดโควิด-19 เป็นเซรุ่ม ได้กว่า 600 ขวด สำรองใช้ยามฉุกเฉิน
มติชน
25 พฤศจิกายน 2563 ( 14:29 )
61
จุฬาฯ สกัดพลาสมาผู้เคยติดโควิด-19 เป็นเซรุ่ม ได้กว่า 600 ขวด สำรองใช้ยามฉุกเฉิน

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า จากกรณีที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้มีการเก็บพลาสมาจากผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย และรักษาหายแล้ว มีภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 มากกว่า 400 ถุง เพื่อเตรียมไว้สำหรับรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 นั้น ที่ผ่านมา สธ.และประชาชนร่วมมือกันอย่างดี ทำให้ไม่มีการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย จึงไม่ได้มีการใช้พลาสมาที่เก็บไว้

 

“อย่างไรก็ตาม เมื่อราวๆ 10 วันที่ผ่านมา ได้มีการนำพลาสมาไปรักษาผู้ป่วยในสถานกักกันโรค (Alternative State Quarantine) ที่มีภาวะปอดบวมรุนแรง 1 ราย เป็นชาวสวิตเซอร์แลนด์ ที่มีอาการปอดบวมรุนแรง มีค่าออกซิเจนในเลือดจะต่ำ จำเป็นต้องให้ออกซิเจนในระดับสูง แต่หลังจากให้พลาสมาทันทีที่เข้าโรงพยาบาล (รพ.) และให้ 2 ครั้ง ล่าสุดผู้ป่วยอาการดีขึ้น สามารถลดค่าออกซิเจนที่ให้ได้ ทั้งนี้ เชื่อว่าผู้ป่วยรายนี้ได้อานิสงส์จากการให้พลาสมาค่อนข้างเร็ว” ศ.นพ.ยง กล่าว

ทั้งนี้ ศ.นพ.ยง กล่าวว่า สถานบริการโลหิตแห่งชาติ มีความสามารถอีกอย่างหนึ่ง คือ สามารถนำพลาสมาที่มีภูมิต้านทานโควิด-19 ในระดับสูง ไปสกัดทำเป็นเซรุ่มเพื่อใช้ในการป้องกัน และรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้

 

“ขณะนี้แบ่งพลาสมาครึ่งหนึ่งของที่มีอยู่มาทำเซรุ่ม ได้จำนวนทั้งหมดมากกว่า 600 ขวด ขวดละ 2 ซีซี เพื่อสำรองไว้ใช้ยามจำเป็น โดยสามารถเก็บไว้ได้นาน 3 ปี แต่หากเป็นพลาสมาจะเก็บไว้ได้นาน 1 ปี ดังนั้น ส่วนที่ยังเหลืออยู่ หากไม่ได้มีการเอามาใช้ก็จะนำมาสกัดเป็นเซรุ่ม” ศ.นพ.ยง กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ยังไม่มั่นใจว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกหรือไม่ ที่มีการนำเอาพลาสมามาทำเป็นเซรุ่มสำหรับป้องกันรักษาโควิด-19

 

ศ.นพ.ยง กล่าวถึงความหวังการมีวัคซีนป้องกันโควิด- 19 ในประเทศไทย ว่า ถือเป็นสัญญาณที่ดี มีแสงสว่าง เพราะมีอย่างน้อย 13 บริษัท ที่อยู่ในขั้นตอนการทดลองในมนุษย์ระยะที่ 3 โดยคาดว่าภายในสิ้นปี 2563 กว่าครึ่งหนึ่งในจำนวน 13 บริษัทนี้ จะประกาศความสำเร็จของการทดลอง และคาดว่าภายในไตรมาส 2 ของปี 2564 จะมีวัคซีนใช้ และอาจจะมีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยแล้ว ซึ่งนอกเหนือจาก 4 บริษัท ที่มีการประกาศผลการทดลองมาก่อนหน้านี้ ก็ยังพบว่า ล่าสุดมีบริษัทของประเทศจีนที่มีไม่น้อยกว่า 4 ตำรับ อยู่ในขั้นการทดลองในมนุษย์ที่คาดว่าจะสำเร็จเช่นกัน

 

“ดังนั้นไทยจะต้องผูกสัมพันธ์กับทุกบริษัท ทุกประเทศที่อยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อให้โอกาสในการเข้าถึงวัคซีนของคนไทยเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ในจำนวนที่กล่าวมานี้ ไม่นับรวมกับวัคซีนที่ไทยไปร่วมมือทำข้อตกลงด้วยซึ่งในส่วนนั้นอาจจะได้มาในไตรมาส 3 ของปี 2564 หรือหมายถึงผลิตได้หลังมิถุนายนเป็นต้นไป” ศ.นพ.ยง กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง