รีเซต

‘เด็กนอกระบบ’เจอพิษโควิด ว่างงานพุ่งในรอบ10ปี

‘เด็กนอกระบบ’เจอพิษโควิด ว่างงานพุ่งในรอบ10ปี
มติชน
26 ตุลาคม 2564 ( 09:07 )
47

หมายเหตุ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยแพร่ผลการศึกษาของ ดร.วรรณวิศา สืบนุสรณ์ คล้ายจำแลง อาจารย์ประจำสาขาวิชาการบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ น.ส.อุษณีย์ ศรีจันทร์ นักวิจัยนโยบายทรัพยากรมนุษย์ ทีดีอาร์ไอ เกี่ยวกับปัญหาวิกฤตโควิด-19 ต่อกลุ่มเยาวชนว่างงาน-นอกระบบการศึกษา เสนอภาครัฐให้ความสำคัญในการแก้ไขผลกระทบดังกล่าว

 

เป็นเวลากว่าหนึ่งปีครึ่งที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศทั่วโลกวิกฤตการณ์ดังกล่าวสร้างผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนเปลี่ยนไป รัฐบาลต่างออกนโยบายและบังคับใช้ข้อกำหนดต่างๆ เพื่อมุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ บรรเทาปัญหาปากท้องของประชาชนและลดจำนวนผู้ติดเชื้ออันนำไปสู่ความสูญเสีย อย่างไรก็ตาม ปัญหาเยาวชนว่างงาน-นอกการศึกษายังคงเป็นหนึ่งในปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร

 

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO เรียกเยาวชนกลุ่มนี้ว่า NEET (Not in Education, Employment or Training) โดยได้นิยามว่า หมายถึงเยาวชนอายุ 15-24 ปี ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงาน และการฝึกอบรม รายงานฉบับล่าสุดของ ILO บ่งชี้ว่าสัดส่วนของประชากรกลุ่ม NEET เพิ่มขึ้นในหลายประเทศในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 และยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงไปสู่ระดับก่อนวิกฤตการณ์การระบาด

 

งานวิจัยในประเทศแคนาดาโดย Brunet (2020) พบว่าสาเหตุสำคัญของการเพิ่มขึ้นของเยาวชนกลุ่ม NEET ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 เกิดจากการจ้างงานที่ลดลง ตลอดจนการปิดสถานศึกษาและการปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการสอนไปสู่การจัดการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ ซึ่งสอดคล้องกับเสียงสะท้อนจากภาคส่วนต่างๆ เรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ในประเทศไทย ที่มีครัวเรือนจำนวนหนึ่งยังขาดความพร้อมในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและอุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ และสอดคล้องกับรายงานของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ระบุว่าผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้เกิดอัตราการขยายตัวของจำนวนเยาวชนไทยว่างงานสูงขึ้นร้อยละ 3-4 หรือคิดเป็นเกือบ 5 เท่าของแรงงานผู้ใหญ่

 

จากข้อมูลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไทยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กลุ่ม NEET ประกอบด้วย 4 ประเภท ได้แก่ 1.เยาวชนที่ทำงานบ้าน 2.อยู่ว่างหรือกำลังพักผ่อน 3.ยังเป็นเด็ก ป่วย พิการ จนทำงานไม่ได้ และ 4.ว่างงานจากการระบาดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ทำให้มีกลุ่ม NEET อยู่ที่ 1.37 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 10 ปี

 

ถึงแม้ว่าการระบาดของ COVID-19 ในระลอกที่ 3 (ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564) พบจำนวนของกลุ่ม NEET ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.32 หรือมาอยู่ที่ 1.25 ล้านคน เนื่องจากมีกลุ่ม NEET ในสถานะพักผ่อนปรับตัวลดลงกว่าร้อยละ 22.64 และเป็นที่น่าสังเกตว่าจากการระบาดทั้งสามระลอกทำให้เด็กกลุ่ม NEET มีสถานะว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 76.73 เมื่อเปรียบเทียบระหว่างไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 กับปี 2564 ซึ่งสามารถอนุมานได้ว่าเยาวชนกลุ่มพักผ่อนได้เปลี่ยนสถานะเป็นกำลังหางาน หรือว่างงาน เพื่อหาเงินเลี้ยงชีพในช่วงเศรษฐกิจซบเซา ขณะที่เยาวชนบางส่วนได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาโดยมีอัตราเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 1.8

 

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของ รศ.ประวิต เอราสรรณ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พบว่านักเรียนไทยมีการเข้าถึงการเรียนแบบออนไลน์เพียงร้อยละ 50 และมีภาวะเครียด การเรียนถดถอย ส่งผลให้ร้อยละ 10 ของนักเรียนหลุดจากระบบการศึกษา จึงเป็นปัญหาน่าห่วงที่ต้องได้รับการแก้ไขไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนหรือการเร่งการฉีดวัคซีนในกลุ่มนักเรียนทั้งในและนอกระบบ เพื่อให้โรงเรียนสามารถเปิดการเรียนการสอนแบบไฮบริด หรือแบบปกติได้

 

ปัจจัยหลัก 2 ประการที่ส่งผลให้เยาวชนกลุ่ม NEET มีอัตราการขยายตัวในสถานะผู้ว่างงานที่สูงขึ้นกว่าปกติ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่ทำให้ภาคธุรกิจต่างๆ ขาดรายได้อย่างเฉียบพลัน (Income Shock) และการระบาดของ COVID-19 โดยสภาวะขาดรายได้เฉียบพลันส่งผลกระทบยาวนานต่อฐานะทางการเงินของภาคเอกชนติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 2 ปี ทำให้ต้องเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ แรงงานเยาวชนที่มีอายุ 15-24 ปี

 

จากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ บ่งชี้ว่า เยาวชนไทยมีแนวโน้มว่างงานเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 70.81 และมีอัตราการว่างงานสูงสุดในรอบ 10 ปีเมื่อวิเคราะห์จากการระบาดของ COVID-19 ในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 กับไตรมาสที่ 1 ปี 2564 พบว่าเยาวชนที่สำเร็จการศึกษาในระดับอาชีวศึกษา (ปวส.หรืออนุปริญญา) มีการเปลี่ยนแปลงในสถานะว่างงานสูงถึงร้อยละ 124.3 รองลงมา คือต่ำกว่าประถมศึกษาร้อยละ 95.5 และปริญญาตรี ร้อยละ 79.4 ในมิติของเพศเยาวชนกลุ่ม NEET มีความเปราะบางจากผลกระทบทางเศรษฐกิจสูง เนื่องจากร้อยละ 70 ของกลุ่ม NEET เป็นเพศหญิง ซึ่งส่วนใหญ่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเนื่องจากการตั้งครรภ์ และอยู่ในสถานะทำงานบ้านกว่าร้อยละ 76

 

ดังนั้น การหยุดชะงักของระบบเศรษฐกิจและการศึกษา อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นของการกลายเป็นกลุ่ม NEET และส่งผลกระทบรุนแรงต่อทักษะในการพัฒนาสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตยาวนานเกินกว่าที่จะประเมินได้

 

จากการทบทวนแนวทางการแก้ปัญหาให้แก่เยาวชนกลุ่ม NEET ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในต่างประเทศพบว่าในกลุ่ม OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) งานวิจัยโดย Palmer and Small (2021) ชี้ให้เห็นว่าภาครัฐจำเป็นต้องลงทุนกับโครงข่ายรองรับทางสังคม (Social Safety Net) ที่ครอบคลุมการให้ความช่วยเหลือเยาวชนกลุ่มเสี่ยงโดยมุ่งเน้นการจ้างงาน การศึกษาการฝึกอบรม การฝึกงานที่ได้รับค่าจ้าง การพัฒนาการจัดการศึกษาปฐมวัย การจัดหาที่พักอาศัย ตลอดจนการดูแลรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจทั้งในระยะสั้นเพื่อให้เยาวชนกลุ่ม NEET สามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้และระยะยาวเพื่อให้พวกเขาอยู่รอดได้ในอนาคต

 

นอกจากนี้ งานวิจัยในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย โดย Tamesberger and Bacher (2021) ชี้ให้เห็นว่าการพยายามลดสัดส่วนเยาวชนกลุ่ม NEET เป็นความต้องการจำเป็นทางการเมืองทั้งในระดับภูมิภาค ระดับชาติ และระดับสหภาพยุโรป

 

หนึ่งในโปรแกรมที่นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมากที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2556 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2551 คือ The European Youth Guarantee ที่ให้หลักประกันว่าเยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปีทุกคนจะต้องมีงานทำ ได้ศึกษาต่อ หรือได้รับการฝึกอาชีพอย่างต่อเนื่องภายในระยะเวลาไม่เกิน 4 เดือนหลังจากว่างงาน

 

ต่อมาได้รับการปรับปรุงโดยเพิ่มเติม Youth Employment Support Package ในปี 2563 ซึ่งครอบคลุมการปรับปรุง The European Youth Guarantee ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น การศึกษาอบรมอาชีวศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต การส่งเสริมการฝึกอาชีพระยะยาว (Apprenticeship) และมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการจ้างงานให้แก่เยาวชน เพราะไม่มีใครสามารถพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำว่าหลังจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 แล้วการจ้างงานในกลุ่มเยาวชนจะฟื้นตัวขึ้นหรือไม่

 

สำหรับในประเทศไทยอยากเสนอแนะให้ภาครัฐดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเยาวชนกลุ่ม NEET จากผลกระทบของ COVID-19 ดังนี้

 

1) แก้ปัญหาเยาวชนจบใหม่ตกงาน ปัญหาที่สำคัญ ณ เวลานี้ คือ ภาครัฐยังขาดการประชาสัมพันธ์การเข้าถึงตลาดแรงงานของเยาวชน และการใช้เครื่องมือในการแก้ไขปัญหาที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จากการที่ยังมีกลุ่มเยาวชนว่างงาน ทั้งที่มีช่องทางในการสร้างงานให้กับกลุ่มเหล่านี้

 

ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีเว็บไซต์ www.จ้างงานเด็กจบใหม่.com เป็นการจับคู่ (Match) ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างสำหรับเด็กจบใหม่ (บัณฑิตยุค COVID-19) การดำเนินนโยบายหางานผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ของภาครัฐอาจเป็นทิศทางการแก้ไขปัญหาที่ดี แต่ยังมีช่องว่างของการพัฒนาทุนมนุษย์ในระยะยาว เช่น Smart Job Center และไทยมีงานทำ ซึ่งยังไม่มีส่วนประกอบของระบบการพัฒนาทักษะและการติดตาม Job matching รวมอยู่ด้วย

 

2) กำหนดมาตรการรักษาการจ้างงาน (Job Retention) สำหรับแรงงานที่มีงานทำอยู่แล้ว การใช้มาตรการรักษาการจ้างงานของภาครัฐเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสนับสนุนการจ้างงานในตลาดแรงงานต่อไป ผ่านการอุดหนุน (Subsidy) เงินชดเชยรายได้บางส่วนที่นายจ้างลดชั่วโมงการทำงาน/วันทำงานของแรงงานลง

 

ขณะที่นายจ้างก็ไม่มีต้นทุนเพิ่มเติมในการหาแรงงานใหม่หลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สำหรับแรงงานอาจให้การช่วยเหลืออย่างมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfers: CCT) เพื่อเพิ่มทุนมนุษย์ (Human Capital) เช่น ด้านการศึกษาและสาธารณสุข โดยตั้งอยู่บนสมมุติฐานการรับเงินเยียวยาร่วมกับการฝึกอบรมทักษะที่ต้องใช้ในการทำงานหรือการเปลี่ยนงานในระยะยาว ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนไม่ให้หลุดจากตลาดแรงงานมากขึ้นในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง