รีเซต

ปิดตำนาน! ในที่สุดก็สร้างเสร็จแล้ว ถนนพระราม 2 บางขุนเทียน-เอกชัย

ปิดตำนาน! ในที่สุดก็สร้างเสร็จแล้ว ถนนพระราม 2 บางขุนเทียน-เอกชัย
ข่าวสด
1 กรกฎาคม 2564 ( 17:26 )
213

 

กรมทางหลวง เผยสร้างเสร็จแล้ว ถนนพระราม 2 บางขุนเทียน-เอกชัย ขยายช่องทาง 14 เลน รวมระยะทาง 11.7 กิโลเมตร ใช้งบประมาณไป 2.3 พันล้าน

 

 

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2564 ฝ่ายประชาสัมพันธ์กรมทางหลวงเปิดเผยว่า สำนักก่อสร้างทางที่ 1 ดำเนินการโครงการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 35 ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย เป็น 14 ช่องจราจร ในพื้นที่เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ และอ.เมือง จ.สมุทรสาคร รวมระยะทาง 11.7 กิโลเมตร แล้วเสร็จ เพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งสู่ภาคใต้

 

 

ทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ถนนพระราม 2" เริ่มต้นจาก กม.0+000 จุดบรรจบถนนสุขสวัสดิ์ ผ่านจ.สมุทรสาคร ไปบรรจบทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม ที่ กม.84+041 อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี รวมระยะทาง 84 กิโลเมตร เป็นโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างภาค เป็นเส้นทางสายหลักจากกรุงเทพฯ มุ่งสู่ภาคใต้

 

 

เนื่องจากเส้นทางสายธนบุรี-ปากท่อ มีระยะทางสั้นกว่าทางหลวงหมายเลข 4 ประมาณ 40 กิโลเมตร ประชาชนส่วนใหญ่จึงนิยมใช้เส้นทางสายนี้แทนทางหลวงหมายเลข 4 ประกอบกับปริมาณการจราจรบนทางหลวงสายพระราม 2 มีปริมาณสูงมาก กรมทางหลวงจึงได้วางแผนดำเนินการบูรณะปรับปรุงทางหลวงสายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องเพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัยให้กับผู้ใช้ทาง

ล่าสุดดำเนินการก่อสร้างขยาย ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย มีจุดเริ่มต้นที่ กม.9+800 ถึงจุดสิ้นสุดที่ กม.21+500 รวมระยะทาง 11.7 กิโลเมตร จากเดิม 10 ช่องจราจร ทั้งขาไปและขากลับ เป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ 14 ช่องจราจร ไปกลับข้างละ 7 ช่องจราจร

 

 

ผิวทางแอสฟัลท์คอนกรีต 2 ชั้น ผิวจราจรกว้างช่องละ 3.5 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้างข้างละ 2.5 เมตร และด้านในกว้างข้างละ 1 เมตร มีเกาะกลางแบบร่อง (Depressed Median) กว้าง 4 เมตร รวมก่อสร้างสะพานกลับรถ จำนวน 2 จุด และติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างบนทางหลวง งบประมาณทั้งสิ้น 2,300,098,000 บาท

 

 

หลังโครงการแล้วเสร็จซึ่งช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด รองรับปริมาณการจราจรได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การเดินทางและการขนส่งสินค้าจากภูมิภาคต่าง ๆ ลงสู่ภาคใต้มีความรวดเร็ว สะดวก และปลอดภัย สามารถลดอุบัติเหตุป้องกันความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

 

 

ตามแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ กิจกรรมแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และเมืองหลัก ซึ่งทำให้ได้รับผลประโยชน์ทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมนำไปสู่ความเจริญกับประเทศชาติต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง