รีเซต

“สุทิน” จวก ไม่มีประเทศไหนในโลก ทำประชามติโหวตนายก ออก-ไม่ออก

“สุทิน” จวก ไม่มีประเทศไหนในโลก ทำประชามติโหวตนายก ออก-ไม่ออก
ข่าวสด
27 ตุลาคม 2563 ( 10:31 )
88
“สุทิน” จวก ไม่มีประเทศไหนในโลก ทำประชามติโหวตนายก ออก-ไม่ออก

เมื่อเวลา 09.15 น. วันที่ 27 ต.ค. ที่รัฐสภา นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงข้อเสนอการคณะกรรมการสมานฉันท์ในการหาทางออกให้กับประเทศ ว่า การประชุมเมื่อวานนี้(26 ต.ค.) มีข้อเสนอดีๆมากมาย ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต้องมาคิดก่อนว่าสามารถแก้ปัญหาเป็นทางออกได้จริงหรือไม่ เพราะบางข้อเสนอเคยใช้ได้ในอดีตกับสถานการณ์บริบทนั้น แต่บริบทในวันนี้ใช้ได้หรือไม่

 

ทั้งนี้ข้อเสนอคณะกรรมการสมานฉันท์หรือการประชามติหรือข้อเสนออื่นๆ ดีที่สุดนอกจากเชิญวิปฯแต่ละฝ่ายแล้ว ควรเชิญตัวแทนประชาชนมาร่วมกับสภาฯด้วย ถามประชาชนเลยว่าคณะกรรมการสมานฉันท์ฯเอาด้วยหรือไม่ หากสมมติว่ามีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่วันนี้มันทันเวลาหรือไม่ ท้ายที่สุดคือต้องสื่อให้เห็นถึงความจริงใจในการตั้งคณะกรรมการ ว่าเป็นการตั้งกันชนให้รัฐบาลหรือไม่ ถ้าเข้าใจแบบนั้นก็ไม่เกิดประโยชน์ แต่ถ้าเขาเห็นว่าเราจจิงใจก็เป็นทางออกที่ดี หากตั้งแล้วไม่ร่วมด้วยก็หมดความหมาย

 

เมื่อถามถึงข้อเสนอการทำประชามติว่าให้นายกฯ ลาออกหรือไม่ลาออก นายสุทิน กล่าวว่า จะเป็นประเทศแรกในโลกที่จะทำประชามติ กลไกประชาธิปไตยมีอยู่แล้ว ใครจะลาออกหรือไม่ลาออกก็ไม่เห็นประเทศใดในโลกที่ต้องมาทำประชามติ ถ้าคิดว่าประชาชนยังมีเสียงก่ำกึ่งกันอยู่ ผู้นำที่ดี ถ้าต้องการเซฟสังคมเซฟประชาชน ตัดสินใจลาออกก่อนก็ได้ แต่ถ้าคิดว่าประชาชนอีกฝ่ายยังอยากให้อยู่ก็ลงเลือกตั้งใหม่ เดี๋ยวเขาก็เลือกกลับมาเอง การทำประชามติที่ดีคือการเลือกตั้ง

 

"ไหนบอกว่าการทำประชามติมันเปลืองเงิน หากทำประชามติเรื่องอื่นก็พอฟังได้ แต่ทำประชามติว่าลาออกหรือไม่ลาออก รัฐธรรมนูญยังต้องตีความว่าการทำประชามติเกี่ยวกับบุคคล รัฐธรรมนูญไม่ให้ทำ ก็เหมือนแบบที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน เสนอให้ทำประชามติควรให้มีม็อบหรือไม่มีม็อบ ก็ยิ่งไปกันใหญ่ ประชามติต้องทำภายใต้รัฐธรรมนูญ อย่าไปถามอะไรที่ขัดรัฐธรรมนูญ การชุมนุมเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญยอมรับ สิทธิขั้นพื้นฐาน จะไปทำประชามติไม่ได้ ก็เหมือนการทำประชามติลาออกหรือไม่ลาออกเขาไม่ทำกันหรอก"

 

เมื่อถามว่า ถ้าให้นายกฯลาออกแล้วเลือกตั้ง ยังเป็นกติกาเดิม นายกฯก็อาจจะกลับมาอีก นายสุทิน กล่าวว่า การเลือกตั้งใหม่ที่ตนหมายถึงคือต้องมีกระบวนการให้สังคมไปได้ ต้องแก้รัฐธรรมนูญและกติกาใหม่และลงเลือกตั้งใหม่ ประชาชนที่รักและชื่นชมก็จะเลือกกลับมาใหม่ ถึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ครบวงจร แต่ถ้าลาออกวันนี้เลือกตั้งพรุ่งนี้ก็ยังเป็นปัญหา

 

เมื่อถามว่า ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกติกาก่อนที่จะลาออก นายสุทิน กล่าวว่า เรื่องนี้สามารถทำได้เลย ถ้าคิดว่าจะลงเลือกตั้งใหม่ก็ควรแก้กติกา แต่ถ้าไม่คิดหวนกลับมาก็สามารถลาออกตั้งแต่วันนี้ได้เลย และให้นายกฯคนใหม่ทำกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสิ่งสำคัญการทำประชามติต้องดูว่าสังคมและผู้ชุมนุมมองว่ายื้อเวลาหรือไม่ วันนี้ถ้าเราคิดว่าการประชุมหรือทำอะไรเพื่อหาทางออกผระเทศ ต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง แต่ไม่ใช่ประชาชนฝ่ายเดียวต้องถามหลายฝ่าย

 

เมื่อถามว่า การยุบสภา ทำให้ปัญหาคลี่คลายหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ถ้าวันนี้ยุบสภารัฐธรรมนูญก็คงไม่ได้แก้ ปัญหาก็ไม่ได้คลี่คลาย ถ้ายุบสภาก็ต้องเลือกตั้งใหม่ภายใต้กฎ กติกาเดิม ปัญหาก็กลับมา อย่าลืมว่าความหวาดระแวงของคนคือรากเหง้าปัญหา นั่นคือการสืบทอดอำนาจผ่านกติกาที่เขียนขึ้นคือรัฐธรรมนูญ หากใช้รัฐธรรมนูญเดิมเลือกตั้ง ปัญหาการสืบทอดอำนาจก็จะกลับมา ปัญหาเดิมก็จะวกกลับมาอีก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง