รีเซต

‘ชัชชาติ’ ขอเลื่อนเพิ่มค่าเก็บขยะ ลดภาระปชช. สั่งเฝ้าโควิดลามร.ร.-ตั้ง 800 เตียงสนาม สำรองยา

‘ชัชชาติ’ ขอเลื่อนเพิ่มค่าเก็บขยะ ลดภาระปชช. สั่งเฝ้าโควิดลามร.ร.-ตั้ง 800 เตียงสนาม สำรองยา
มติชน
11 กรกฎาคม 2565 ( 14:58 )
71
‘ชัชชาติ’ ขอเลื่อนเพิ่มค่าเก็บขยะ ลดภาระปชช. สั่งเฝ้าโควิดลามร.ร.-ตั้ง 800 เตียงสนาม สำรองยา

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 11 กรกฎาคม ที่ห้องประชุมและวางแผน (WAR ROOM) ชั้น 35 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 12/2565 ว่า มีการขอเลื่อนอัตราค่าเก็บขยะจาก 20 บาท เป็น 80 บาท ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 ไปอีก 1 ปี เนื่องจากสถานการณ์สภาพเศรษฐกิจโดยรวม ประชาชนมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น โดยจะนำเรื่องเข้าทางสภา กทม. เป็นผู้พิจารณา ในวันที่ 29 สิงหาคม 2565 เพื่อให้ทันกับระยะเวลา 180 วัน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีในการปรับปรุงข้อบัญญัติ กทม.ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย และให้ทางสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ร่วมอภิปรายด้วย

 

นายชัชชาติกล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์โควิด-19 ภาพรวม ยังไม่น่าเป็นห่วง แม้ว่าตัวเลขผู้ป่วยที่รายงานผ่าน ศบค. จะต่ำกว่าที่ตรวจผลผ่าน ATK โดยมีผู้ป่วยครองเตียงสีแดงเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ทาง กทม.เตรียมความพร้อม เปิดเตียงสนามสำหรับผู้ป่วยสีเขียว 500 เตียง ศูนย์พักคอยในชุมชน (CI) 300 เตียง พร้อมกับสั่งให้สำรองยารักษา ทั้งยาฟาวิพิราเวียร์ โมนูพิราเวียร์ และออกซิเจนให้เพียงพอ พร้อมกับประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยตลอด

 

ทั้งนี้ นายชัชชาติยังกำชับประชาชนโดยเฉพาะกลุ่ม 608 สตรีมีครรภ์ ว่าควรใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา พร้อมฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือ บูสเตอร์ โดส ซึ่งตอนนี้ประชากรใน กทม.ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ไปแล้วคิดเป็น 68.1 เปอร์เซ็นต์ และเข็มที่ 4 คิดเป็น 22.01 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งประชาชนสามารถไปฉีดวัคซีนแบบวอล์กอินได้ที่ อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนฯ ไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ได้ทุกวัน และในทุกวันศุกร์ ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 50 เขต

 

นายชัชชาติกล่าวอีกว่า ส่วนอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ในโรงเรียนสังกัด กทม. พบนักเรียนติดเชื้อ 2,133 คน คิดเป็น 0.84 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด 253,515 คน ส่วนที่พบในข่าวส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนมัธยม ที่มักจะมีการทำกิจกรรมหลังเลิกเรียน อย่างไรก็ตาม มีการเฝ้าระวังตามที่ กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

นายชัชชาติกล่าวว่า ต่อมาการเตรียมการรับมือสาธารณภัย ตามข้อสังการณ์จากกระทรวงมหาดไทย ประกอบด้วย 1.ซ้อมการเผชิญเหตุให้ครอบคลุมทุกระดับ ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ 2.พัฒนาบัญชีอุปกรณ์ในการเผชิญเหตุสาธารณภัยฉุกเฉินระดับย่าน 3.พัฒนาฐานข้อมูลติจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย (BKK Risk Map)

 

4.จัดทำทะเบียนอาสาสมัครดับเพลิง อาสาสมัครกู้ชีพ และอาสาสมัครกู้ภัย 5.จัดทำคู่มือการจัดการสาธารณภัยสำหรับผู้อำนวยการเขต และ 6.พัฒนาหลักสูตรและการฝึกอบรมให้ผู้ปฏิบัติงานสาธารณภัย

 

นายชัชชาติกล่าวว่า ต่อมาได้มีการออกคำสั่ง เรื่องการเปิดเผยข้อมูลกรุงเทพมหานครเพื่อการเข้าถึงโดยระบบดิจิทัล (Open Data) เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมาให้มีการทำแผนภายใน 30 วัน และให้ดำเนินการภายใน 90 วัน เพื่อให้เข้าสู่รัฐบาลดิจิทัล ตามที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA กำหนด ทำให้การถ่ายโอนข้อมูลระหว่างหน่วยงานทำได้ง่ายขึ้น เช่น สำนักการโยธา รับแบบก่อสร้างมา แล้วส่งข้อมูลไปยังสำนักการคลัง เพื่อจัดเก็บภาษีต่อได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง