รีเซต

เสียงชาวโคราช ยุคหมากแพง รายได้ไม่มี เงินเก็บไม่ต้องพูดถึง 'มาม่าแทบทุกมื้อ'

เสียงชาวโคราช ยุคหมากแพง รายได้ไม่มี เงินเก็บไม่ต้องพูดถึง 'มาม่าแทบทุกมื้อ'
มติชน
15 ธันวาคม 2565 ( 11:25 )
49

เสียงสะท้อนผู้มีรายได้น้อย ในยุคค่าครองชีพสูง คนขับรถตู้ต้องกินมาม่าแทบทุกมื้อ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ขณะที่ตา-ยายเย็บผ้า แทบไม่มีลูกค้า หนี้สินท่วมแต่ต้องทนเพราะเลือกไม่ได้

 

โคราช – เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นของผู้มีรายได้น้อย ในพื้นที่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ภายหลังจากที่ค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

 

เช่น ผู้ที่มีอาชีพขับรถตู้โดยสารรับจ้าง ที่สถานีขนส่งแห่งที่ 1 นครราชสีมา ซึ่งมีคิวรถโดยสารอยู่กว่า 20 คัน พบว่าหลายคนมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก เนื่องจากมีลูกค้ามาใช้บริการน้อยลง และค่าน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องพากันกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือก๋วยเตี๋ยว เกือบทุกมื้อ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในครอบครัว

 

โดย นายศุภชัย กุมกระโทก อายุ 61 ปี คนขับรถตู้โดยสารรับจ้างรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้คนนิยมมาขึ้นรถตู้โดยสารน้อยลง จากเดิมที่เคยรับผู้โดยสารได้เต็มคันทุกเที่ยว ตอนนี้ได้ครึ่งคันก็ถือว่าเก่งแล้ว ทำให้รายได้ลดลงกว่า 50% เงินที่ได้ต้องต้องแบ่งเป็นรายจ่ายออกไปแต่ละวัน 2 อย่างคือ ต้องนำไปซื้อน้ำมัน และจ่ายให้เถ้าแก่เจ้าของรถตู้

 

ซึ่งทุกวันนี้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้แทบจะไม่เหลือเงินเก็บอะไรเลย ขณะที่รายจ่ายของครอบครัวก็มีมาก ทั้งค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถยนต์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากิน และค่าใช้จ่ายในครอบครัว หลายคนจึงต้องไปพึ่งการกู้ยืมเงินนอกระบบมาใช้

 

นอกจากนี้ปัญหาเรื่องที่กรมการขนส่งทางบก ให้เปลี่ยนรูปแบบจากรถตู้เป็นรถมินิบัส เมื่อครบกำหนดอายุรถ 10 ปีนั้น ผู้ประกอบการรถตู้โดยสารคงไม่สามารถทำได้แน่นอน เพราะราคารถมินิบัสสูงมาก ตกคันละ 3-4 ล้านบาท แหล่งเงินทุนที่จะกู้ก็เข้าไม่ถึง จึงอยากให้ขยายเวลาอายุรถออกไปให้มากกว่า 10 ปี เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบเศรษฐกิจในครั้งนี้ด้วย

ขณะเดียวกันผู้ที่มีอาชีพเย็บผ้า ก็ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นกัน โดยผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปที่ร้านเย็บผ้าลุงสมัคร ตั้งอยู่ริมถนนอัษฎางค์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา

ซึ่งมีตากับยายคู่หนึ่ง กำลังนั่งรอลูกค้าที่จะนำเสื้อผ้ามาให้ตัดแก้ทรง พบว่าบรรยากาศเป็นไปด้วยความเงียบเหงา ไม่มีลูกค้ามาใช้บริการแม้แต่รายเดียว

โดย นางมะลิ มีแก้ว อายุ 68 ปี บอกว่า ตนเองกับสามีคือนายสมัคร มีแก้ว อายุ 71 ปี ได้มาเช่าพื้นที่บริเวณนี้ตั้งร้านตัดแก้เสื้อผ้ามานานกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาก็มีลูกค้ามาใช้บริการต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงเปิดเทอม จะมีลูกค้ามาใช้บริการตัดแก้ชุดนักเรียนกันอย่างคึกคัก แต่หลังจากที่ไวรัสโควิด-19 ระบาด ลูกค้าก็เริ่มหายหมด ยิ่งไม่ใช่ช่วงเปิดเทอมอย่างนี้ แต่ละวันแทบจะไม่มีลูกค้ามาใช้บริการเลย

เช่นวันนี้ไม่มีลูกค้ามาเลยแม้แต่รายเดียว จึงไม่ได้เงินสักบาท บางวันก็ได้แค่ 100-200 บาท พอได้ค่ากับข้าวกินไปวันๆ

ส่วนเรื่องที่จะมีเงินเก็บนั้นแทบจะไม่ต้องคิดเลย เพราะตนเองต้องเช่าบ้านอยู่ และเช่าที่เปิดร้านอีก ถ้ารวมค่าน้ำ ค่าไฟด้วย ก็ต้องมีเงินจ่ายต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท ตอนนี้ไม่มีรายได้จึงต้องไปขอเงินลูกๆ ใช้

ถ้าจะไปทำอาชีพอื่น ตนเองและสามีก็อายุมากแล้ว ไม่รู้จะทำอะไร เคยคิดที่จะไปกู้เงินเพื่อหาอาชีพอื่นที่ดีกว่านี้ แต่ไปกู้เงินจากโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ และธนาคารออมสินแล้ว เขาก็ไม่ให้ เพราะตนเองไม่มีข้าราชการหรือคนมียศตำแหน่งมาค้ำประกันให้ อีกทั้งเขาบอกว่าอายุมากแล้ว ประกอบกับไม่มีเครดิตอะไร เขาจึงไม่ให้กู้ จึงต้องทนทำงานนี้ต่อไป แม้ลำบากก็ต้องทน เพราะเลือกไม่ได้แล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง