รัฐบาลเล็งออกมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
รัฐบาลเล็งออกมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานจะประชุมแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจภายในเดือนต.ค.นี้
#ทันหุ้น นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ภายในเดือนต.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะมีมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์เข้าสู่การพิจารณาด้วย
เขากล่าวว่า มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น จะเป็นการกระตุ้นทั้งDemand และ supply คือจะเป็นการกระตุ้นทั้งฝั่งผู้ที่ต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ และฝั่งผู้ประกอบการ เพื่อให้ครบวงจร ซึ่งสาเหตุที่เราจำเป็นต้องมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ถูกใช้ไปหมดแล้ว
สำหรับโครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาทให้กับกลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคนนั้น ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เนื่องจากคนกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มที่จะใช้เงินอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากหลังการโอนเงินให้ พบว่ายอดการถอนเงินจาก ATM พุ่งสูงขึ้นเป็น 10 เท่า และร้านค้าต่างๆมียอดขายมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลกระทบอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการแจกเงินในเฟสที่สองนั้น คณะกรรมการกระตุ้หนเศรษฐกิจที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะมีการประชุมอีกครั้งภายในเดือนนี้ และจะเป็นผู้ตัดสินในเรื่องของจำนวนเงิน วิธีการ ช่วงเวลาที่จะให้
ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ใช้สถาบันการเงินของรัฐ คือ ธอส.ในการสนับสนุนมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ ธอส.ได้ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่เรียกว่า Happy Home ในวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท โดยให้ใช้เกินการให้กู้ที่ผ่อนปรน เพื่อให้คนรายได้น้อยสามารถเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยจะเป็นการให้กู้รายละไม่เกิน 3 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย แบบ คงที่ 5 ปีแรกที่ 3 % ซึ่งปัจจุบันโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำดังกล่าวได้ถูกใช้จนเต็มวงเงินแล้ว
ทั้งนี้ นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังกล่าวว่า ได้ประเมินผลกระทบของโครงการแจกเงินในเฟสแรกว่า เม็ดเงินทั้งโครงการ 1.45 แสนล้านบาท จะช่วยให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 0.35 % จากกรณีไม่มีโครงการ และคาดว่าเม็ดเงินส่วนใหญ่จะลงสู่ระบบเศรษฐกิจภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้
ส่วนการประเมินว่าเงินจำนวนนี้จะสามารถหมุนได้กี่รอบนั้น นายพรชัย กล่าวว่า เป็นการยากที่จะประเมินว่าเงินก้อนนี้หมุนในระบบเศรษฐกิจกี่รอบ แต่สามารถกล่าวได้ว่า ผู้ได้รับเงินจากโครงการ 14.55 ล้านคน ล้วนเป็นผู้มีรายได้น้อยและอยู่ในกลุ่มคนเปราะบาง
ดังนั้น กลุ่มนี้จึงมีอัตราการบริโภคส่วนเพิ่มสูง(Marginal Propensity to Consume หรือ MPC) กล่าวคือ เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น เกือบทั้งหมดจะนำไปใช้จ่าย จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยจะมีค่า MPC ที่ 80%คือ ได้มา 100 บาท จะใช้จ่ายถึง 80 บาท ที่เหลือ 20 บาท อาจจะนำไปเก็บออมหรือชำระหนี้