รีเซต

หนุ่มส่งอาหารเปิดใจหลังคลายล็อก ชี้ คนยังสั่งเพราะหวั่นโรค เผยรอนานสุด 2 ชม. ส่วนมากร้านส้มตำ

หนุ่มส่งอาหารเปิดใจหลังคลายล็อก ชี้ คนยังสั่งเพราะหวั่นโรค เผยรอนานสุด 2 ชม. ส่วนมากร้านส้มตำ
มติชน
5 พฤษภาคม 2563 ( 17:48 )
374

หนุ่มส่งอาหารเปิดใจ หลังคลายล็อก ชี้ คนยังสั่งเพราะหวั่นโรค เผย รอนานสุด 2 ชม. วอนเห็นใจ

หนุ่มส่งอาหาร – สืบเนื่องจากรัฐบาลประกาศผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจย่านประชาชื่น ที่หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ พบว่า ร้านค้าส่วนมากยังไม่เปิดให้นั่งทานที่ร้าน และคนยังนิยมใช้บริการส่งอาหาร แม้จะมีการผ่อนปรนมาตรการให้สามารถนั่งทานอาหารที่ร้านค้าได้ก็ตาม

นายสมิทธิ ปรางทอง อายุ 24 ปี พนักงานส่งอาหารของแกร็บฟู้ด กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลคลายล็อก ยอดสั่งอาหารยังคงเดิม ลูกค้าจะสั่งอาหารทั่วไป ทั้งในห้าง และร้านอาหารข้างทาง ทั้งประเภทคาวและหวาน ส่วนมากตนจะขี่ย่านประชานิเวศน์และชินเขต แต่จะไม่ไปถึงห้างเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน เพราะขี้เกียจขึ้นห้าง ซึ่งระบบจะจัดให้ว่าใครอยู่ใกล้ร้านมากที่สุด งานก็จะเด้งขึ้นก่อน และรับออเดอร์ให้โดยอัตโนมัติ

นายสมิทธิเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ทำงานค้าขาย แต่รายได้ไม่ค่อยดี จึงหันมาทส่งแกร็บฟู้ด โดยเริ่มเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562

“เมื่อก่อนรายได้ดี ได้วันละ 1,000 บาท สบายๆ แต่เดี๋ยวนี้ลำบาก เพราะแกร็บปรับให้รายได้ลดลง จากปกติ 1 รอบได้ 50 บาท ตอนนี้เหลือ 40 บาท เพิ่งปรับได้ประมาณ 1 เดือนกว่า เมื่อก่อนจะมีเพชรให้เก็บสะสมโบนัส เดี๋ยวนี้ก็มี แต่น้อยลงมาก

“ประสบการณ์ขับแกร็บบางทีก็เจอคนไม่รับของ แต่ถ้าเขายืนยันว่าจะไม่รับ เราก็ต้องโทรหาคอลเซ็นเตอร์ เขาจะให้เราเอาไปกิน บางครั้งก็เจอลูกค้าสั่งเค้ก สั่งไอศกรีม ซึ่งไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องละลาย แต่ปัญหาที่เจอ คือ คัพเค้กที่ใส่กล่องขนาดใหญ่ พอขับไปถึงหก ลูกค้าก็โวยวาย คอลเซ็นเตอร์โทรมาบอกว่า ลูกค้าสั่งมาแล้วหก สั่งใหม่ก็หกอีก แต่คอลเซ็นเตอร์ก็เข้าใจ บางคนสั่งเค้กวันเกิดขอให้ระวัง เราก็ระวังมาก แต่บางทีถนนซอยบ้านลูกค้าไม่ค่อยเอื้อให้ขี่ได้ดีเท่าไหร่” นายสมิทธิกล่าว

เมื่อถามถึงการจ่ายค่าอาหารในช่วงสถานการณ์โควิด นายสมิทธิกล่าวว่า ส่วนมากจะจ่ายแบบตัดผ่านบัตร ช่วงโควิดไม่ค่อยมีจ่ายเป็นเงินสด


สำหรับประสบการณ์รออาหารนานที่สุด นายสมิทธิระบุว่า ส่วนมากจะเป็นร้านส้มตำ

“ร้านส้มตำทำช้า เคยรอ 2 ชั่วโมง ช่วงทำตอนแรก จากนั้นไม่เอาอีกเลย ได้ออเดอร์ร้านนี้มาก็กดยกเลิก เราเลือกได้เพราะไม่คุ้ม” นายสมิทธิกล่าว

เมื่อถามว่า ส่งอาหารให้คนอื่นกิน แล้วคนขับทานอะไร นายสมิทธิเปิดเผยว่า ปกติข้าวอาหารตามสั่ง บางทีก็สั่งแกร็บเหมือนกัน เพราะมีโปรโมชั่น

“บางทีซื้อของไปส่งลูกค้า จำได้ว่าร้านนี้มีโปรโมชั่น น่ากิน สั่งบ้างก็มี ให้เขามาส่งบ้าง ส่วนตัวมองว่าช่วงก่อนจะมีโควิดออเดอร์เยอะกว่า เพราะช่วงนี้คนไม่ค่อยมีงานทำ ก็หันมาขี่รถส่งอาหาร ส่วนตัวผมขี่ไปเรื่อยๆ ไม่ค่อยมีปัญหากับลูกค้า จะมีปัญหาเรื่องของบ้าง แต่ลูกค้าก็เข้าใจ บางทีสั่งหอยแครงลวก ใส่กล่องกระดาษมา ไปถึงก็เปื่อยพอดี บางคนเข้าใจ แต่บางคนก็มีปัญหา

“ผมเคยเจอนะ บางทีตัวเองไม่ได้สั่ง แต่เดินมาเอา ผมเก็บตังค์นะ เขาเดินหนีเลย คิดว่าตัวเองสั่ง หรือบางครั้งคนสั่งไม่อยู่ ขอให้ฝากไว้กับป้า เอะใจว่าทำไมลูกค้าไม่อยู่ ก็ลองโทรหา ลูกค้าบอกไม่ใช่หลังนั้นให้ขี่เข้าไปอีก เกือบให้เขาไปแล้ว พลาดบ้างก็มี ลูกค้าบางคนสั่งเหมือนกัน เช่น สั่งไก่ทอด พอลงมารับ เราถามว่าสั่งไก่ทอดใช่ไหมครับ เขาบอกว่าใช่ เราก็ให้เขา สักพักอีกคนเดินลงมาเอาบอกว่าสั่งไก่ทอด แต่คนนั้นเดินขึ้นไปแล้ว” นายสมิทธิกล่าว และว่า ระหว่างที่รอออเดอร์เข้า ก็ขี่รถไปเรื่อยๆ เพื่อหางาน แต่คนที่ทำมานานจะรู้ว่าแถวไหนมีร้านอาหารเยอะก็จะนั่งเฝ้าอยู่ละแวกนั้น 10-15 นาที บางครั้งส่งงานเสร็จก็เด้งขึ้นมาต่อ ถ้าคิดว่าขี่เรื่อยๆ ก็คุ้ม แต่ถ้าเป็นจริงเป็นจัง คิดว่ามีรายได้เป็นเงินเดือนดีกว่า เพราะรายได้ไม่แน่นอน ขี่รถก็เสี่ยงกับตัวเองด้วย

นายวีรยุทธ คล้ำดำ อายุ 27 ปี พนักงานถส่งอาหารของฟู้ดแพนด้า เปิดเผยว่า ช่วงนี้ยอดสั่งซื้อลดลงมากพอสมควร จากปกติวิ่งได้ 30 ออเดอร์ต่อวัน ตอนนี้เหลือ 15 ออเดอร์ต่อวัน รายได้เฉลี่ยวันละ 1,000 บาท วิ่ง 10 ชั่วโมง ตั้งแต่ 08.00-18.00 น. โดยส่วนมากจะวิ่งแถวบางกะปิเป็นหลัก แต่ด้วยช่วงนี้คนวิ่งกันมากขึ้น จึงพยายามออกมาโซนที่คนไม่ค่อยวิ่ง เช่น แถวประชานิเวศน์ มาวิ่งได้ 3 วัน สำหรับวันนี้มีออเดอร์ไปส่งข้าวขาหมู

“วิ่งมาได้ 1 เดือนกว่า ตอนแรกทำงานบริษัท เป็นช่างไม้ แต่รายได้ไม่ดี ไม่ค่อยเหมาะกับตัวเอง เมื่อมาส่งอาหารรู้สึกว่าอิสระขึ้น กำหนดเวลาทำงานได้ กำหนดรายได้ของเราได้ อยากได้มากก็วิ่งมาก

“ประสบการณ์ส่วนมากลูกค้าจะปักหมุดผิด ต้องคอยโทรศัพท์ถาม ช่วงนี้โควิดระบาด ลูกค้าบางคนก็ขอให้ขึ้นไปส่งบนคอนโด บนออฟฟิศ ส่วนตัวจะถามลูกค้าก่อนว่าเป็นอะไรหรือไม่ ถึงให้ขึ้นไปส่ง แต่ถ้าไม่เป็นอะไร ส่วนมากจะไม่ขึ้นไป เพราะเราก็เสี่ยง ถ้าลูกค้าไม่ลงมารับของระบบก็จะยกเลิกรายการอัตโนมัติ ที่รอนานสุดเต็มที่ 10 นาที ระหว่างรอก็เล่นโทรศัพท์ เพราะระบบของฟู้ดแพนด้ากำหนดให้รอระยะเวลาเท่านี้ ลูกค้าไม่ลงมารับระบบจะยกเลิกออเดอร์ทันที ระบบของฟู้ดแพนด้าดีตรงที่คนส่งจะได้ไม่ต้องรอนานด้วย” นายวีรยุทธกล่าว


นายอำนาจ ใจเกื้อ อายุ
38 ปี พนักงานแกร็บ กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะมาขับแกร็บ ทำงานเป็นพนักงานขับรถบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง สาเหตุที่มาขับเพราะต้องการหารายได้เสริม แต่ก็ยังทำงานที่บริษัทเดิมอยู่ เพิ่งมาทำได้ประมาณ 1 เดือนกว่า

“ผมว่าก็พอได้ อย่างน้อยก็มีรายได้เสริม มีค่ากับข้าว ค่าขนม ขึ้นอยู่กับงานที่ลูกค้าสั่ง บางครั้ง 1 งานได้ 300-400 บาทก็มี แล้วแต่ระยะทางว่าใกล้หรือไกลมากน้อยแค่ไหน บางเที่ยวได้ 40 บาท ซื้อกับข้าว หรือ ข้าวกล่องใกล้ๆ แล้วแต่ลูกค้าจะใช้บริการ รออาหารอย่างช้า 2 ชั่วโมงก็มี กว่างานจะเข้ามา ก็นั่งไปเพลินๆ นั่งดูคนขี่รถไปมา นั่งเล่นโทรศัพท์บ้าง ช่วงนี้นานพอสมควรกว่าออรเดอร์จะมา บางครั้งก็ขึ้นอยู่กับจังหวะ บางครั้งไปส่งอาหาร 1 งาน มีงานต่อเนื่องก็มีแล้วแต่วัน ออเดอร์จะไม่ซ้ำกันสักวัน ปกติจะวิ่งแถวประชานิเวศน์เป็นประจำ แล้วแต่ลูกค้าจะเรียก บางครั้งก็ส่งพัสดุบ้าง เพราะเลือกส่งประเภทพัสดุ เอกสารด้วย แต่จากประสบการณ์ที่วิ่งมาส่งเอกสารจะเยอะกว่า และดีกว่า เราไม่ต้องไปรออาหารจากร้าน ซึ่งบางครั้งนานมากกว่าจะถึงคิวเรา บางครั้งเจอแกร็บไปรอ 10 คัน เราคิวที่ 11 รอยาวๆ ซึ่งรู้สึกว่าเสียเวลามาก

“ถามว่าคุ้มไหม คุ้มนะ อย่างเช่นวันนี้ก่อนเข้างานออกมาวิ่งได้แล้ว 300 กว่าบาท มีสตางค์จ่ายค่าข้าว ซื้อขนมให้หลาน เป็นทางเลือกที่ดี”

นายอำนาจกล่าวอีกว่า ถ้าคนวิ่งประจำไม่มีงานอื่นทำ น่าจะอยู่ได้ เพราะพฤติกรรมคนเปลี่ยนไป ไม่ค่อยออกจากบ้าน แต่ส่วนตัวจะกำหนดระยะเวลาวิ่ง หมดเวลาก็ต้องไปทำงานประจำ รายได้หักค่าน้ำมัน หักค่ากิน อยู่ที่ประมาณวันละ 300-400 บาท ก็ถือว่าเป็นอะไรที่พิเศษมาก

“เคสแปลกๆ ส่วนมากลูกค้าปักหมุดที่หนึ่ง แต่ไปส่งจริงอีกที่หนึ่ง ซึ่งระยะทางที่ไม่ตรง ราคาจะต่างกัน ถูกลง 5-10 บาทบ้าง ตั้งแต่วิ่งมามีหลายครั้งที่เป็นแบบนี้ อยากบอกแต่ก็บอกไม่ได้ เข้าใจว่าคนก็อยากได้ราคาถูกที่สุด” นายอำนาจกล่าว

ด้านนายมิตรภาพ พาโพธิ์ อายุ 29 ปี พนักงานขับรถส่งอาหารของแกร็บฟู้ด เผยว่า วิ่งแกร็บได้ 3 เดือน ก่อนหน้านี้ทำงานเป็นสต๊าฟจัดงานอีเวนต์ทั่วไป แต่ด้วยช่วงนี้รัฐบาลงดจัดงานอีเวนต์ เพราะโควิดเข้ามาจึงไม่มีให้ทำ

“หลังจากที่รัฐบาลคลายล็อกได้ไม่กี่วัน ต้องบอกว่าอาจจะยังไม่ค่อยเห็นผลเท่าไหร่ ต้องรอให้คลายล็อกถึงเที่ยงคืนจึงจะรู้ ตอนนี้ยังคงวิ่งได้ถึง 21.00 น.อยู่ ระยะเวลาวิ่งส่งอาหารลดลงไปเยอะมาก จากปกติจะได้วันละประมาณ 15 -20 ออเดอร์ ออกจากบ้านตั้งแต่ 08.30-20.30 น. วิ่งตามเวลาจนใกล้จะถึงเวลาเคอร์ฟิว ช่วงนี้จะวิ่งแถวประชานิเวศน์อย่างเดียว เพราะบ้านอยู่แถวปากเกร็ด จ.นนทบุรี แต่ถ้าได้งานที่ไหลไปที่อื่นก็ไปวิ่งที่อื่น วิ่งในกรุงเทพฯ และข้ามไปนนทบุรี ช่วงนี้ถือว่าได้เงินพอสมควร” นายมิตรภาพกล่าว

นายมิตรภาพเปิดเผยว่า สำหรับบ้านประชานิเวศน์ 1 ปกติระยะเวลารออาหารประมาณ 1 ชั่วโมงกว่า

“ถ้าให้บอกร้าน นี่เลย หมูตำลึงนานา เม้งโภชนา คนจะสั่งเยอะช่วง 11.00-12.00 น. เป็นช่วงที่รอนานมาก คนนิยมสั่งก๋วยเตี๋ยว เพราะราคาน่าจะถูก คนเลยกินเยอะ

“เวลาขี่ไปส่งจะมีลูกค้าที่ชอบลงมาช้า นี่คือแปลกสำหรับผมมาก อย่างอื่นแปลกได้ แต่ขออย่าลงมาช้าก็พอ เพราะก่อนที่คนขี่จะไปถึงประมาณ 1 นาที จะมีข้อความอัตโนมัติบอกว่าคนขับใกล้ถึงแล้วนะ ลูกค้าควรจะเตรียมตัว อยากให้เห็นใจ เพราะบางทีมันต้องทำเวลา มีช่วงที่ทำเวลาอยู่ ของแกร็บคือ 10.00-13.00 น. และครึ่งหลัง 17.00-20.00 น. ถ้ารออาหารนานก็นั่งเล่นเกม บางทีก็ขี่รถไปเรื่อยๆ นั่งตรงนี้บ้าง ตรงนู้นบ้าง เซเว่นบ้าง ตามจุดต่างๆ บ้าง แต่ถ้าอยู่ในโซนร้านอาหารออเดอร์ก็จะเด้งขึ้นมาเองอัตโนมัติ บางวันก็รอนานเป็นชั่วโมงเหมือนกัน รอจนกว่าจะได้ อยู่ที่ลูกค้าว่าลูกค้าจะสั่งหรือไม่ ช่วงเวลาตั้งแต่ 14.00 น. ลูกค้าจะเงียบ ไม่ค่อยสั่ง ลูกค้าไม่สั่งก็ไม่มีงาน

“ถามว่าคุ้มไหม คุ้มนะ แต่ก็เหนื่อยแสนสาหัส กลับบ้านไปอาบน้ำก็หลับทันที ตื่นเช้าก็ต้องมาวิ่งรถ วิ่งทุกวัน ตั้งใจว่าจะทำไปเรื่อยๆ ไม่น่าจะล่มสลายนะผมว่า คนน่าจะสั่งอาหารเยอะ อยากให้เปิดถึงเที่ยงคืน แต่ถ้าเลิกเคอร์ฟิวส์ทุกอย่างจะเหมือนเดิม” นายมิตรภาพกล่าว

เมื่อถามว่าเวลาไปรับอาหาร ร้านค้ามีการปรับตัวอย่างไรบ้าง

นายมิตรภาพเปิดเผยว่า ยังไม่ค่อยเห็นร้านอาหารเปิดให้นั่งกินในร้านได้ ก่อนหน้านี้มีออเดอร์ที่เซ็นทรัลลาดพร้าว ก็เปิดแค่บางร้าน และยังคงนั่งรอเว้นระยะห่างเหมือนเดิม แต่ไม่เห็นคนนั่งกินในร้าน ยังเห็นว่าคนสั่งกลับบ้านเหมือนเดิม เหมือนคนยังกลัวอยู่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง