สธ.แจงละเอียดยิบ ผ่อนปรนเปิด "6 กิจการ" อย่างไรให้ปลอดภัย ไม่ผิด กม.
สธ.แจงละเอียดยิบผ่อนปรนเปิด 6 กิจการ อย่างไรให้ปลอดภัยไม่ผิดกฎหมาย
ผ่อนปรน 6 กิจการ- เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค แถลงแนวปฏิบัติของกิจการแต่ละประเภทที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ผ่อนปรนให้เปิดบริการ เพื่อดำเนินการในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดทั่วประเทศ
นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า กรอบการพิจารณาการเปิดเมือง/เปิดกิจการอย่างปลอดภัยจะต้องพิจารณาจาก 1.สถานการณ์ของผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศและรายจังหวัด 2.กิจการนั้น มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคเพียงใด และจะพิจารณาจากความเสี่ยงต่ำที่สุดก่อน โดยคำนึงถึง การรวมกลุ่มชุมนุมของคน ระยะเวลาการสัมผัสใช้บริการ การจัดสถานที่ให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก สามารถมีมาตรการป้องกันควบคุมโรคในด้านสิ่งแวดล้อมการทำความสะอาด รวมไปถึงมีความจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน
“จากการดำเนินการร่วมกันระหว่าง สธ. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร (กทม.) หอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้จัดกลุ่มกิจการ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มสีขาว ความเสี่ยงต่ำหรือไม่มีความเสี่ยง กลุ่มที่ 2 สีเขียว กลุ่มที่ 3 สีเหลือง และ กลุ่มที่ 4 สีแดงความเสี่ยงสูงสุด โดยไล่ความเสี่ยงตามระดับสี พร้อมทำจัดทำคู่มือการปฎิบัติตามมาตรการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เพื่อให้ผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการ ได้ใช้เป็นแนวทางและเงื่อนไขในการประกอบกิจการ และการจัดกิจกรรมเพื่อดำรงมาตรฐานการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง และให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัยโดยตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเป็นโอกาสให้ ประชาชน ผู้ประกอบการ และผู้ให้บริการได้ปรับตัวในการดำรงชีวิตและดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับนววิถีใหม่ (New Norm)” นพ.อนุพงศ์ กล่าว
นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า วันนี้คือ วันที่ 3 พฤษภาคม กิจการหรือกิจกรรมบางอย่างเริ่มผ่อนคลายได้ตามประกาศในพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 5-6 โดยมี 2 ด้าน ที่สำคัญ คือ ด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต และด้านการดูแลสุขภาพและออกกำลังกาย ในส่วนของร้านอาหารทั่วไป ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวมีข้อกำหนด ดังนี้
1.มาตรการสำหรับร้านเครื่องดื่ม ขนมหวาน ไอศกรีม ที่อยู่นอกห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารริมทาง/รถเข็น/หาบเร่/ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านสะดวกซื้อในบริเวณพื้นที่นั่งหรือยืนรับประทานอาหาร ไม่รวมสถานบริการผับบาร์ ร้านที่จำหน่ายอาหารจะต้องมีขนาดไม่เกิน 2 คูหา และพื้นที่จำหน่ายอาหารจะต้องไม่เกิน 200 ตารางเมตร (ตร.ม.) มีการระบายอากาศเพียงพอ ซึ่งเป็นไปตามกฏกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 งดเว้นบริการที่ต้องใช้อุปกรณ์ร่วมกัน เช่น ที่จับอาหาร ดังนั้น การเปิดร้านบุฟเฟ่ต์จึงจะไม่อนุญาต จะสนับสนุนให้ทำคือ การสั่งอาหารกลับไปรับประทานที่บ้าน งดเว้นร้านอาหารที่มีการระบายอากาศไม่เพียงพอ เช่น ร้านอาหารที่เปิดเครื่องปรับอากาศ โดยไม่มีพัดลมระบายอากาศ หรือร้านอาหารในอาคารที่มีลักษณะพื้นที่ปิด ก็จะไม่อนุญาตให้จำหน่ายอาหาร และงดให้มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในสถานที่จำหน่ายอาหาร
2.มาตรการสำหรับร้านค้าปลีกขนาดย่อม ร้านค้าปลีกชุมชน แผงลอย รถเร่ หรือรถคล้ายคลึงกันวิ่งจำหน่ายสินค้า อุปโภคบริโภค ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และกิจการส่งอาหารและสินค้า ขอเน้นย้ำว่ามาตรการนี้ไม่รวมกับร้านค้าที่เปิดให้บริการในห้างสรรพสินค้า เนื่องจากห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า รวมถึงตลาดนัดติดแอร์ ยังไม่มีการอนุญาตให้เปิดบริการ ดังนั้น ในห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า จะอนุญาตให้เปิดเพียงร้านค้าปลีกที่เป็นธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม
3.มาตรการสำหรับตลาดสด ตลาดน้ำ ตลาดนัด ตลาดชุมชน ข้อที่กังวลที่สุดคือ จะต้องมีการระบายอากาศที่เพียงพอ และร้านค้าต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแต่ประเภทของกิจการ งดเว้นการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาดตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย รวมถึงงดให้บริการเครื่องเล่นเด็กที่อยู่ภายในตลาด เช่น บ้านลม ม้าหมุน บ้านบอล เป็นต้น ไม่สามารถอนุญาตให้เปิดได้ เนื่องจากเด็กสามารถแลกเปลี่ยนสารคัดหลั่ง ซึ่งเป็นบ่อเกิดของโรคได้
4.มาตรการสำหรับร้านเสริมสวย แต่งผม หรือตัดผม สำหรับบุรุษหรือสตรี ให้เปิดบริการเฉพาะตัดผม สระผม แต่งหรือไดร์ผมเท่านั้น จัดร้านให้มีการระบายอากาศเพียงพอ เว้นบริการที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น แคะหู ตัดขนจมูก ทำเล็บ งดเว้นบริการที่มีระยะเวลานาน เช่น ทำสี ยืดผม จัดให้มีระบบนัดคิวล่วงหน้าและให้มารับบริการตามเวลาโดยไม่มีการนั่งรอคิวภายในร้าน งดเว้นบริการที่ต้องใช้อุปกรณ์ร่วมกันที่ไม่สามารถทำความสะอาดทันทีหลังการใช้งานของลูกค้าแต่ละคนได้ เช่น อุปกรณ์แต่งหน้า
5.มาตรการสำหรับสวนสาธารณะ ลาน-พื้นที่กิจกรรมสาธารณะ สถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬา ลานกีฬา (เฉพาะกิจกรรมในพื้นที่โล่งแจ้ง) เปิดเฉพาะกีฬาประเภทกลางแจ้ง ได้แก่ เทนนิส ขี่ม้า ยิงปืน ยิงธนู ส่วนสนามกอล์ฟหรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ ให้พิจารณางดการบริการฟิตเนส สปา อบตัว ในสโมสรหรือคลับเฮ้าส์ สำหรับการรับประทานอาหารให้ปฏิบัติตามมาตรการสำหรับประเภทกิจการร้านอาหารทั่วไป ร้านเครื่องดื่ม ขนมหวาน ไอศครีม
6.มาตรการสำหรับสถานที่ให้บริการสปา อาบน้ำ ตัดขน รับเลี้ยงหรือรับฝากสัตว์ ไม่รวมสถานที่ให้บริการในห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า รวมถึงงดให้บริการสำหรับเจ้าของสัตว์ หรือสัตว์ที่มีอาการป่วยทางระบบทางเดินหายใจ
นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า ในทุกกิจการผู้เข้าใช้บริการจะต้องแสดงตัวว่าตนเองไม่มีอาการป่วย หากมีอาการไข้ก็จะไม่อนุญาตให้เข้าใช้บริการ โดยมีแนวทางปฏิบัติ มาตรการควบคุมหลัก และมาตรการเสริม แบ่งเป็น 1.สำหรับเจ้าของกิจการ/ผู้ให้บริการ จะต้องเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ป้องกันโรค เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ จุดล้างมือ การเตรียมความพร้อมในการให้บริการ โดยมีมาตรการคัดกรองอาการป่วย มาตรการป้องกัน และการทำความสะอาด 2.สำหรับผู้ใช้บริการ ต้องมีการเตรียมตัวก่อนใช้บริการ เช่น การนัดหมายก่อนเข้าใช้บริการ ระหว่างใช้บริการ คือ ต้องใช้แอพพลิเคชั่นในการเช็กอินก่อนเข้าร้าน หลังการใช้บริการ เช่น ช่วยประเมินว่าร้านนั้นมีมาตรฐานในการป้องกันโรคอย่างไร
นอกจากนี้ นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า แนวทางกำกับ ติดตาม และประเมินผล ซึ่งมีหลายหน่วยงานร่วมกัน เช่น ส่วนกลาง ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับตำบล ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อประเมินกิจการและการเปิดมาตรการผ่อนคลายในระยะต่อไป เช่น หากการดำเนินการในกิจการกลุ่มสีขาว ไม่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค จึงจะดำเนินการเปิดกิจการในกลุ่มสีเขียวสีเหลืองและสีแดงตามลำดับ