กรมแพทย์แจงแนวทางรักษาผู้ป่วย "โควิด-19" แบ่ง 4 กลุ่ม แยกอยู่ใน รพ./ฮอทปิเทล
กรมแพทย์แจงแนวทางรักษาผู้ป่วย “โควิด-19” เผยแบ่ง 4 กลุ่ม แยกอยู่ใน รพ./ฮอทปิเทล
โควิด-19 เมื่อวันที่ 5 เมษายน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ชี้แจงแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ว่า ประเทศไทยมีการปรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยไปตามผลการศึกษาวิจัยจากทั่วโลก ในเดือนนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว 2 แนวทาง รวมถึงวันที่ 6 เมษายน จะมีการประชุมผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง เพื่อหารือแนวทางรักษาอีกครั้ง โดยทั่วไปผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง รวมถึงไม่มีอาการเลย จึงแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ เพื่อรักษาตามอาการ ได้แก่
กลุ่มที่ 1 คือ ผู้ป่วยไม่มีอาการ คิดเป็นร้อยละ 20 จะให้สังเกตอาการให้โรงพยาบาล (รพ.) 7 วัน หากอาการดีขึ้นจะส่งไปเฝ้าสังเกตอาการต่ออีก 7 วัน ที่หอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด-19 หรือ ฮอทปิเทล (Hospitel) ขณะนี้มีในกรุงเทพมหานคร 3 แห่ง คือ 1.กรมการแพทย์รับผิดชอบ ดูแลโรงแรมแถวดินแดง 270 ห้อง 2.หอพักมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 308 ห้อง และ 3.โรงแรมแถวซอยจุฬาฯ 40 ห้อง โดยรวมขณะนี้มีฮอทปิเทล ประมาณ 600 ห้อง
กลุ่มที่ 2 คือ ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง ทั้งที่มีและไม่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุเกิน 60 ปี ภาวะอ้วน ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคปอดอุดตันเรื้อรังหรือถุงลมโป่งพอง โรคไตวายเรื้อรัง ตับแข็ง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออัมพาต จะมีการให้ยาต้านไวรัสบางตัวที่ไม่ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เนื่องจากอาการไม่รุนแรง และทำการรักษาใน รพ.จนกว่าอาการจะดีขึ้น จึงจะส่งไปเฝ้าสังเกตอาการต่อที่ฮอทปิเทล
กลุ่มที่ 3 ผู้ป่วยปอดอักเสบไม่รุนแรงจะมีการให้ยาต้านไวรัส และยาต้านโรคมาลาเรีย แต่ยังไม่มีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการแย่ลง จึงจะเริ่มให้ยาฟาวิพิราเวียร์เพิ่มขึ้น
และ กลุ่มที่ 4 ผู้ป่วยอาการรุนแรง ได้รับยาต้านไวรัสครบทุกชนิดรวมถึงยาฟาวิพิราเวียร์
“ในผู้ป่วยกลุ่มที่ 1-2 จะอยู่ในการรักษาประมาณ 14 วัน แล้วจึงจะให้กลับบ้านโดยผู้ป่วยจะต้องทำการเฝ้าสังเกตอาการตนเอง (Self Isolation) จนครบ 1 เดือน แต่ในผู้ป่วยกลุ่ม 3-4 ส่วนใหญ่จะนอนที่ รพ. นานและจะไม่มีการย้ายผู้ป่วยไปที่ฮอทปิเทล เนื่องจากมีอาการที่รุนแรง บางรายอยู่ใน รพ.มากกว่า 1 เดือน จนกระทั่งหายเป็นปกติจึงจะอนุญาตให้กลับบ้านได้ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยจะไม่มีอาการป่วย” นพ.สมศักดิ์ กล่าว