ร้านค้าปลื้ม! 'กรมพัฒนาธุรกิจการค้า' ผนึกช้อปปี้-ลาซาด้า ชู '1 ร้าน 1 Live' ดันยอดขายสินค้าชุมชนผงาด
เมื่อวันที่ 15 กันยายน นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า โครงการติดปีกธุรกิจออนไลน์สร้างรายได้ฝ่าวิกฤตโควิด-19 กิจกรรม ‘1 ร้าน 1 Live’ ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ร่วมมือกับช้อปปี้ และลาซาด้า แพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าออนไลน์ชั้นนำของไทย เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการมีช่องทางการขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ โดยจัดหาผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เฉพาะด้านมาถ่ายทอดประสบการณ์ นำจุดอ่อน-จุดแข็งของธุรกิจมาทำการวิเคราะห์เพื่อวางแนวทางในการพัฒนาการบริหารจัดการด้านการตลาด ก่อนติวเข้มและเสริมแกร่งผู้ประกอบการให้สามารถขยายตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างมืออาชีพ รวมทั้ง จัดกิจกรรมการถ่ายทอดประสบการณ์จากกูรูด้านการตลาดออนไลน์เพื่อเพิ่มยอดขายให้แก่ผู้ประกอบการ เช่น เทคนิคการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายผ่านการให้ส่วนลด เทคนิคการไลฟ์สดขายสินค้า เทคนิคการเพิ่มการมองเห็นให้กับร้านค้า เคล็ดลับขายสินค้าอย่างไรให้ยอดพุ่ง และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 100 ร้าน จัดกิจกรรมไลฟ์สดขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มของช้อปปี้ และลาซาด้า แบ่งเป็น
ไลฟ์สดขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มของ Shopee : Shopee Live จำนวน 57 ร้านค้า และผ่านแพลตฟอร์มของ Lazada : Laz Live จำนวน 43 ร้านค้า โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทบริโภค เช่น น้ำมะม่วงหาวมะนาวโห่ กระยาสารท ข้าวกล้องอบกรอบ มะม่วงหิมพานต์เผา ฯลฯ นอกจากนี้ ทั้ง 2 แพลตฟอร์มยังช่วยทำโปรโมชั่นและประชาสัมพันธ์การขายสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการฯ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงและมองเห็นร้านค้าออนไลน์ เป็นการกระตุ้นและสร้างการรับรู้ร้านค้ามากขึ้น โดยกิจกรรม ‘1 ร้าน 1 Live’ มีผู้เข้าชมสินค้าของผู้ประกอบการฯ รวมกว่า 10,000 วิว ในระยะเวลา 1 เดือน เพิ่มขึ้นกว่า 237% และมียอดขายโดยรวมเพิ่มขึ้น 10% นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับผู้ประกอบการท้องถิ่นที่จะใช้วิธีการไลฟ์สดมาเพื่อเพิ่มยอดขายสินค้า และเป็นก้าวสำคัญที่จะพัฒนาสู่การเป็นผู้ค้าออนไลน์มืออาชีพ
“กรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีความยินดีและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา ผลักดัน และสร้างโอกาสทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการ พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ และหวังว่าโครงการ 1 ร้าน 1 live : ติดปีกธุรกิจออนไลน์สร้างรายได้ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ จะช่วยฟื้นฟูกิจการและสร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้ประกอบการสินค้าชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้สามารถก้าวผ่านและดำเนินกิจการต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวและพัฒนาช่องทางการตลาดออนไลน์ของตนเองให้สามารถตอบโจทย์และอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น” นายทศพล กล่าว
นางสาวสกาวเดือน วงศ์ตระกูล ผู้บริหารบริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน กล่าวว่า ผลสำเร็จของโครงการติดปีกธุรกิจออนไลน์สร้างรายได้ฝ่าโควิด-19 ในครั้งนี้ ทางบริษัทฯ ได้จัดหลักสูตรเพื่อติวเข้มให้ความรู้แบบหมดเปลือกกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ แนะวิธี หรือเทคนิคการนำสินค้าไปฝากที่แพลตฟอร์มของช้อปปี้ จะต้องทำอย่างไร หรือทำยังไงให้สินค้าของเราเป็นที่สนใจของผู้ซื้อ และร่วมไลฟ์สดผ่านกิจกรรมส่งเสริมการขาย เพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
นายวีระพงศ์ โก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) กล่าวว่า ความร่วมมือกันในครั้งนี้ เริ่มจากภาครัฐเห็นถึงผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างกับประชาชน รวมถึงผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ที่ไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ ทำให้ขาดรายได้ ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งช่องทางอีคอมเมิร์ซ นับเป็นช่องทางการตลาดที่สามารถช่วยกู้วิกฤตให้ผู้ประกอบการได้ เพราะเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและตรงกลุ่มเป้าหมาย โดยมี ลาซาด้า เป็นแพลตฟอร์มกลางเพื่อเชื่อมต่อผู้ซื้อกับผู้ขาย และกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภค ทั้งนี้ ยังจัดทำแคมเปญสนับสนุนด้านการตลาด เช่น จัดทำคูปองส่งฟรี รวมถึงการประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จัก และสร้างการยอมรับในกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น
ขณะที่ นางสาวผกากาญจน์ ภู่พุดตาล เจ้าของร้านหอมผกา ตัวแทนผู้ประกอบที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า ขอบคุณผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ที่มีโครงการดีๆ นี้สำหรับผู้ประกอบการ ให้ได้เรียนรู้ พัฒนาทักษะ เพิ่มศักยภาพ ก่อนหน้านี้ เสียค่าใช้จ่ายเพื่อสมัครร่วมโครงการลักษณะนี้แล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง รู้สึกเสียดายเงินอย่างมาก แต่สำหรับโครงการนี้ มีการกระตุ้นให้ได้ทำกิจกรรม สอนให้มีความคิดกล้าแสดงออก สามารถดึงศักยภาพของเราออกมาใช้ได้จริง จึงเป็นโครงการที่ดี ที่ช่วยผู้ประกอบการไทยในยุคโควิดนี้อย่างมาก
ทั้งนี้ จากผลสำรวจโครงการ Thailand Digital Outlook ระยะที่ 3 ของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา รายงานว่า ประชาชนยอมรับและเชื่อถือการใช้อีคอมเมิร์ซมากขึ้น โดยประชาชนมีการซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์สูงขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 37.7 เป็น ร้อยละ 76.6 และประเทศไทยมีมูลค่าการชําระเงินออนไลน์ผ่านโมบายแบงก์กิ้งสูงที่สุดในโลก
ปัจจุบัน คนไทยมีพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ย 6-10 ชั่วโมงต่อวัน โดยกิจกรรมที่ใช้ได้แก่ การทํางาน ความบันเทิง และ ซื้อ-ขายออนไลน์ โดยพบว่า ใช้เพื่อการทํางาน เช่น ประชุมออนไลน์ จากนโยบายเวิร์กฟรอมโฮม คิดเป็นร้อยละ 75.2 การเรียนออนไลน์ คิดเป็นร้อยละ 71.1 ซื้อสินค้าออนไลน์ คิดเป็นร้อยละ 67.4% และเพื่อการติดต่อสื่อสารสนทนา ร้อยละ 65.1 และ ทําธุรกรรมด้านการเงินออนไลน์ ร้อยละ 54.7