สธ.ชี้ต้องโลกหยุดระบาดด้วย ถึงจะคลายใจได้ ย้ำไทยมีปัจจัยเสี่ยงระบาดรอบ 2 ถึงขั้นวิกฤต
สธ.ชี้ต้องโลกหยุดระบาดด้วย ถึงจะคลายใจได้ ย้ำไทยมีปัจจัยเสี่ยงระบาดรอบ2 ถึงขั้นวิกฤต
โควิด-19 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประเมินโอกาสผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 จะกลับมาแพร่ระบาดถึงขั้นวิกฤตยังมีอยู่
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า หลังมาตรการผ่อนปรนครบ 1 สัปดาห์ ถือว่าค่อนข้างดี แต่ยังอยู่ในระยะของการแพร่ระบาดของโรค เพียงแต่มีการถอยหลังจากการแพร่ระบาดในวงกว้างมาเป็นวงจำกัด และจะต้องพยายามอย่างเต็มที่ในการรักษาจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ในระดับที่ต่ำไปให้ได้มากที่สุด ยังมีโอกาสที่จะกลับไปอยู่ในการระบาดต่อเนื่องที่เป็นระยะวิกฤตได้
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า หากประชาชนไม่ระวังตนเองในการใช้ชีวิต หรือ การ์ดตก การที่พบผู้ป่วยรายใหม่จำนวนน้อย ไม่ได้หมายความว่ามีผู้ป่วยในประเทศเพียงเท่านี้ โดยระยะการจัดการปัญหาโควิด-19 แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 โรคมีการแพร่ระบาด ที่มีการระบาดทั้งหมด 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1 ไม่มีผู้ป่วย หรือผู้ป่วยในวงจำกัด ระดับที่ 2 คือการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ระดับที่ 3 คือการแพร่ระบาดระดับวิกฤต ต่อมาคือ ระยะที่ 2 สร้างภูมิคุ้มกัน และ ระยะที่ 3 ฟื้นฟู
“การที่เราพบผู้ป่วยวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา 5 ราย และเป็นการระบาดในประเทศ 2 ราย ไม่ได้แปลว่าในประเทศวันนี้มีผู้ป่วยแค่ 2 ราย สิ่งที่สำคัญคือโรคนี้อาการค่อนข้างน้อย ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่คิดว่าตนเองไม่ได้ติดเชื้อ ทางสธ.จึงมีมาตรการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชน จะคลายใจได้ต่อเมื่อการระบาดในทั่วโลกเริ่มดีขึ้น หรือมีวัคซีน เราจึงจะเข้าระยะที่ 3 คือระยะฟื้นฟูได้ โดย สธ.จัดทำแผนของทั้ง 3 ระยะ เรียบร้อยแล้ว” นพ.ธนรักษ์กล่าว
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สำหรับระยะที่ 3 คือการฟื้นฟู เป็นการดำเนินการค้นหาปัญหา ถอดบทเรียนจากวิกฤตครั้งนี้ เพื่อนำไปป้องกันแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ในอนาคต เช่น ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันตัว จะต้องเตรียมความพร้อม บางเรื่องสามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้จบวิกฤต การเข้าถึงวัคซีนที่สามารถผลิตได้เองโดยไม่ต้องรอซื้อจากต่างประเทศ รวมถึงเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่ไม่สามารถผลิตได้เอง ก็จะต้องหาทางผลิตให้ได้ในประเทศ เช่น หน้ากาก N95 ให้เพียงพอ ชุดป้องกัน PPE หน้ากากอนามัยทางการแพทย์
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า การเปิดเมืองคือ การเปิดให้ภาคธุรกิจเดินต่อไปได้ แต่ต้องมีความระมัดระวัง ต้องการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล การออกแบบจัดสถานที่บริการให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ปรับปรุงระบบงาน การประชุมทางไกลผ่านวิดีโอ การเพิ่มธุรกรรมทางอินเตอร์เน็ต การเรียนรู้ทางไกล การสวมใส่หน้ากากอนามัย สิ่งเหล่านี้ควรจะอยู่ต่อไปให้นานที่สุด ส่วนปัญหาโควิด-19 จะจบลงเมื่อใด คำถามนี้ต้องถามกลับไปที่ประชาชนทุกคน ที่ทุกฝ่ายต้องป้องกันตนเอง
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดการระบาดระลอกที่สอง มี 2 สิ่ง คือ 1.จำนวนผู้ติดเชื้อในชุมชน ขณะนี้มีจำนวนค่อนข้างต่ำ 2.ผู้คนออกไปสัมผัสกันมากน้อยเพียงใดในแต่ละวัน หากพบเจอคนมาก ความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคก็จะสูง สถานที่แต่ละแห่งมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน เช่น พื้นที่เคยมีรายงานพบผู้ป่วย ความเสี่ยงจะสูงกว่าพื้นที่ไม่เคยพบผู้ป่วยเลย ดังนั้นมาตรการทำงานที่บ้าน ยังเป็นสิ่งสำคัญ
ผู้สื่อข่าวถามถึงการผ่อนปรนเปิดกิจการในระยะที่ 1 หากภายในสัปดาห์ต่อไปพบว่ามีผู้ป่วยรายวันเพิ่มสูงขึ้นหลัก 30-40 ราย จะเลื่อนเปิดระยะที่ 2 หรือไม่ นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า เป็นความคิดเห็นเชิงวิชาการส่วนตัว หากมีการระบาดเช่นนั้นเกิดขึ้นจะต้องพิจารณาเป็นพื้นที่ว่าเกิดขึ้นที่ใด และลงพื้นที่ไปตรวจสอบ ส่วนพื้นที่อื่นสามารถป้องกันและใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติต่อไป เนื่องจากการระบาดที่ผ่านมาเกิดขึ้นในไม่กี่จังหวัด หากเข้าใจสถานการณ์ระบาด และใช้มาตรการที่สมเหตุสมผล เพื่อไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ