รีเซต

191 เชิญผู้ป่วยโควิดปฏิเสธการรักษาเข้าระบบ ยันอยู่ในมือหมอปลอดภัย

191 เชิญผู้ป่วยโควิดปฏิเสธการรักษาเข้าระบบ ยันอยู่ในมือหมอปลอดภัย
มติชน
3 พฤษภาคม 2564 ( 16:59 )
59

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 ว่า ที่ผ่านมา สธ.มีนโยบายว่าผู้ติดเชื้อทุกราย ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งการตรวจในโรงพยาบาล (รพ.) ทั้งรัฐ เอกชน หรือแล็บเอกชน หากพบผู้ติดเชื้อก็ต้องรายงานมายังระบบกรมควบคุมโรค ภายใน 3 ชั่วโมง หากประสานในเครือข่ายได้ก็ให้จัดหาเตียงรับผู้ป่วยเข้าสู่การรักษา แต่ในกรณีที่ตรวจพบเชื้อ แต่ไม่มีเตียงรองรับ หรือปัญหาเตียงไม่พอ จะแบ่งเป็น เมื่อตรวจพบเชื้อ หากตรวจจากแล็บเอกชนที่ได้รับการรับรอง กรมการแพทย์ก็จะหาเตียงใน รพ./รพ.สนาม รองรับทุกราย หากแล็บเอกชนส่งข้อมูลเข้าระบบสายด่วน 1668 กรมการแพทย์ก็จะประสานไปยังผู้ป่วย จัดการหาเตียงให้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ขอความร่วมมือผู้ป่วยว่า หากเจ้าหน้าที่ติดต่อไปแล้วอย่าปฏิเสธการรักษา เพื่อให้เข้าถึงมือแพทย์เพื่อให้ปลอดภัยมากที่สุด ไม่ว่าจะ รพ. รพ.สนาม ฮอสปิเทล (Hospitel) ต่างมีมาตรฐานเท่ากันในการดูแลผู้ป่วยอย่างเท่าเทียม

 

 

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า เมื่อตรวจพบเชื้อและมีอาการ ตามมาตรฐานจะแยกกลุ่มผู้ป่วยเป็นสีเขียว สีเหลือง และสีแดง แต่ขอให้เป็นการประเมินจากแพทย์ ส่วนปัญหาเตียงใน รพ.ไม่เพียงพอ อาจเกิดขึ้นบางจุด เช่น เตียงไอซียู ที่ค่อนข้างเต็ม แต่เตียงสำหรับผู้ป่วยสีเขียว ก็ยังมีเพียงพอรองรับได้ ทั้งนี้อยู่ที่การบริหารจัดการ ดังนั้น หากตรวจพบเชื้อแล้วขอให้เป็นการประสานจาก 1668 เพื่อประสานหาเตียงภายใต้ระบบดูแลตามโซนการรักษา ซึ่งสามารถส่งต่อข้ามโซนได้ อย่าไรก็ตาม ขอให้ผู้ป่วยที่ยังไม่มีเตียง โทรมาสายด่วน 1668 หากเป็นการขอเตียง ก็จะมีทีมแพทย์ประเมินกลุ่มสีของผู้ป่วย หลังจากนั้นก็จะจัดการเข้ารักษาในสถานพยาบาลตามความเหมาะสม เช่น ใกล้บ้าน ตรงตามสังกัดที่รักษา และจะส่งรายชื่อให้สถานพยาบาลปลายทาง ให้ติดต่อกลับไปยังผู้ป่วยใน 1 ชั่วโมง พร้อมมีรถจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน(สพฉ.)ไปรับ

 

 

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า กรณีที่ติดต่อผู้ป่วยกลับไป แล้วปฏิเสธการรักษา เพราะคิดว่าดูแลตัวเองได้ สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการและอยู่บ้านภายใต้เงื่อนไขการดูแลตัวเองจากที่บ้านมากกว่า 7 วันแล้วก็จะมีระบบติดตามจาก 1668 ลงทะเบียนกับทีมแพทย์ หรือ รพ. เพื่อติดตามอาการเป็นระยะจนกว่าจะพ้นระยะ 14 วัน

 

 

สำหรับกรณีผู้ที่ปฏิเสธการรักษาตรวจพบเชื้อน้อยกว่า 7 วัน ซึ่งเราคิดว่าจำเป็นต้องได้รับการกักกันโรคเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อต่อ ก็จะประสานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 191 เชิญผู้ป่วยที่ไม่ยินยอมเข้าสู่การรักษา มาเข้ากระบวนการรักษาให้ได้ เพราะเราไม่อยากให้คนที่อยู่ในระยะการแพร่โรคไปอยู่ในชุมชน เนื่องจากเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อให้ครอบครัวและเพื่อนบ้าน ดังนั้น มาอยู่กับเราก็จะปลอดภัย” รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

 

 

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 4 ระดับ คือ 1.ไม่มีอาการ 2.มีอาการเล็กน้อย 3. อาการปานกลาง และ 4. ผู้ป่วยมีอาการหนักและรุนแรง ซึ่งกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหนัก หรือรุนแรงกว่า 900 รายนั้น ในส่วนหนึ่งประมาณ 200 กว่าราย เป็นผู้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ต้องอยู่ในไอซียูความดันลบ ที่อาจจะมีข้อจำกัดบ้างขณะนี้ แต่ผู้ป่วยหนักโดยทั่วไปตอนนี้มีการปรับระบบให้สามารถอยู่ในไอซียูที่ปรับมาตรฐาน มีความปลอดภัยแล้ว ซึ่งตอนนี้มีการขยายเตียงไอซียูได้มากขึ้นโดยที่ไม่ต้องอยู่ในห้องความดันลบ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจไม่ใช่ว่าจะเสียชีวิตทั้งหมด โดยตั้งแต่การระบาดของโควิดระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ กว่า 400-500 ราย ตัวเลขเสียชีวิตยังอยู่ที่100 กว่ารายเท่านั้น

 

 

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ในการระบาดของโควิด-19 ช่วงแรกพบน้อยในกลุ่มเด็ก แต่ในขณะนี้มีจำนวนมากขึ้นตามสัดส่วนของผู้ป่วยที่พบมากขึ้น โดยผู้ป่วยเด็กจะมีอาการรุนแรงหรือไม่ก็เป็นไปตามโรค ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นเด็กแล้วอาการจะรุนแรง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ยังอยู่ในผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่า

 

 

“การรักษาเด็กที่ป่วยโควิด ก็ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ แต่จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ใช้เครื่องมือที่เฉพาะ แม้กระทั่งเครื่องช่วยหายใจที่ต้องมีขนาดเล็ก มีความดันที่เหมาะสม โดยผู้ป่วยเด็กที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หากในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก็สามารถรักษาได้ที่สถาบันสุขภาพเด็ก มีเตียงรองรับอย่างเพียงพอ” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง