อิสราเอลพบ 'ชิ้นแร่เงินปลอม' เก่าแก่ 3,000 ปี
(ภาพจากมหาวิทยาลัยไฮฟา : ชิ้นแร่เงินปลอมที่มีความเก่าแก่ถึง 3,000 ปี)
เยรูซาเลม, 23 พ.ย. (ซินหัว) -- เมื่อวันอาทิตย์ (22 พ.ย.) มหาวิทยาลัยไฮฟา (UH) ทางตอนเหนือของอิสราเอล เปิดเผยการค้นพบชิ้นส่วนแร่เงินปลอมแปลงที่มีความเก่าแก่ 3,000 ปี ซึ่งเวลานั้นเป็นยุคสมัยที่ยังไม่มีการสร้างสรรค์เงินตราเพื่อใช้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนและจะใช้ชิ้นแร่เงินในหลายรูปแบบแทน
ผลการศึกษาฉบับใหม่ระบุว่าคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไฮฟาและมหาวิทยาลัยฮีบรูแห่งเยรูซาเลมค้นพบหลักฐานการขาดแคลนแร่เงินอย่างร้ายแรงในยุคสมัยดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการผสมแร่ทองแดงเข้มข้นสูงสุดถึงร้อยละ 80 กับแร่เงินเพียงเล็กน้อย
คณะนักวิจัยระบุว่าชิ้นแร่เงินปลอมยังถูกผสมกับสสารอื่นด้วย อาทิ สารหนูเพื่อให้มีสีเงิน โดยชิ้นแร่เงินปลอมหลายชิ้นที่ค้นพบมีปริมาณสารหนูใกล้เคียงกัน บ่งบอกว่าเป็นการปลอมแปลงที่ดำเนินการอย่างเป็นระบบ
(ภาพจากมหาวิทยาลัยไฮฟา : ชิ้นแร่เงินปลอมที่มีความเก่าแก่ถึง 3,000 ปี)
นักวิจัยได้ตรวจสอบชิ้นแร่เงินที่พบในหีบสมบัติ 8 หีบ จากยุคสมัยการล่มสลายของอาณาจักรฮิตไทต์ (Hittite) และอาณาจักรไมซีเนียน (Mycenaean) และความเสื่อมโทรมของอียิปต์โบราณ ซึ่งส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงและความขาดแคลน รวมถึงการขาดแคลนแร่เงินด้วย
"ชิ้นแร่เงินยังคงเป็นส่วนสำคัญของการค้า ดังนั้นการผสมแร่เงินกับแร่ทองแดงจึงกลายเป็นเรื่องธรรมดาและจำเป็น" คณะนักวิจัยระบุ พร้อมเสริมว่าเมื่อเทียบกับแร่เงินที่พบในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งมีความเก่าแก่ที่สุดด้วยอายุ 1,900 ปีก่อนคริสต์ศักราช ทำมาจากแร่เงินเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์