รีเซต

เปิดปม รมว.อว. สั่ง set zero สภา ม.นครพนม เหตุเพราะเอื้อประโยชน์แก่ผู้บริหารขัดคำสั่งรัฐมนตรี

เปิดปม รมว.อว. สั่ง set zero สภา ม.นครพนม เหตุเพราะเอื้อประโยชน์แก่ผู้บริหารขัดคำสั่งรัฐมนตรี
77ข่าวเด็ด
14 พฤษภาคม 2563 ( 04:34 )
843

 

นครพนม – เปิดปม รมว.อว. สั่ง set zero สภา ม.นครพนม เหตุเพราะเอื้อประโยชน์แก่ผู้บริหารขัดคำสั่งรัฐมนตรีและขาดหลักธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง

กรณี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ออกคำสั่งที่ 103/2563 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 อาศัยตามความในมาตรา 51 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.2562 ให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม และคณะกรรมการสภาฯ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน พ้นจากตำแหน่งทั้งหมด พร้อมแต่งตั้งคณะบุคคลปฏิบัติหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม โดยคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย 1.นายสุเมธ แย้มนุ่น ประธานกรรมการ 2.รศ.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ 3.รศ.เจษฏ์ โทณะวณิก 4.รศ.กำจร ตติยกวี 5.รศ.กิตติชัย ไตรรัตน์ศิริชัย และ 6.นางอรสา ภาววิมล เป็นกรรมการ รวม 6 คน

 

 

 

ทั้งนี้ในท้ายคำสั่งยังระบุเหตุผลด้วยว่า เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้เนิ่นนานไปจะกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ หรือจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะได้ ประกอบกับนายกสภามหาวิทยาลัยฯ ในฐานะคู่กรณีเป็นผู้ยื่นคำขอให้มีการใชเมาตรา 51 เข้าควบคุมมหาวิทยาลัยฯ ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของสภามหาวิทยาลัยฯ ที่ไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง ฯ จึงไม่อาจเปิดโอกาสให้สภามหาวิทยาลัยฯ ใช้สิทธิ์โต้แย้งก่อนมีคำสั่งนี้ได้ ตามมาตรา 30 วรรคสอง(1) (3) และวรรคสามแห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

 

โดยมูลเหตุของการล้างไพ่ ( set zero) ในครั้งนี้เจ้ากระทรวงให้เหตุผลว่า เนื่องเพราะได้ตรวจสอบพบว่าสภามหาวิทยาลัยนครพนม ดำเนินกิจการต่าง ๆ ไปในทางที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยนครพนมและพวก โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องตามหลักกฎหมายและไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรงตลอดจนไม่สามารถแก้ไขปัญหาตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯได้จึงจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการเข้าควบคุมกิจการของมหาวิทยาลัยนครพนมตาม มาตรา 51 ซึ่งรายละเอียดข้อกล่าวหาต่าง ๆ สามารถแยกเป็น2 ส่วนหลัก ๆ คือ 1.สภา ฯ มนพ.เอื้อประโยชน์ให้แกผู้บริหาร มนพ.และพวกพ้องโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องตามหลักกฏหมายและหลักธรรมาภิบาล และ 2. ขัดคำสั่งของรัฐมนตรีฯและไม่สามารถแก้ไขปัญหาตามข้อสั่งการได้ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

 

เริ่มจากวันที่ 2 มิถุนายน 2559 เกิดเหตุเครื่องบินฝึกบินของ วิทยาลัยการบินนานาชาติ(ว.การบินฯ) มหาวิทยาลัยนครพนม ประสบอุบัติเหตุตกกลางทุ่งนา บริเวณบ้านหน้าฐานบิน ต.โพธิ์ตาก อ.เมือง จ.นครพนม เป็นเหตุให้นักบินและผู้โดยสารรวม 3 คน เสียชีวิตคาที่

 

มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมา 2 คณะ โดยคณะแรกมีความเห็นว่าการนำอากาศยานขึ้นบินเป็นการดำเนินการที่ชอบแล้ว ส่วนคณะที่สองกลับรายงานตรงกันข้ามกับคณะแรกว่า มีผู้เข้าข่ายกระทำผิดวินัย 4 คน หนึ่งในสี่คนคือ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิการบดี มนพ.

 

ผลการสอบสวนของคณะฯที่สอง พบว่ามี 4 คน กระทำผิดวินัย จึงเป็นอำนาจของอธิการบดีต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโดยเร็วพลัน แต่สภามหาวิทยาลัยฯ กลับดึงเรื่องไว้ จนทำให้พ้นระยะเวลาที่จะดำเนินการทางวินัยกับผู้ถูกกล่าวหา อีกทั้งสภา มนพ. มีมติให้ยุติเรื่องดังกล่าวต่อผู้เกี่ยวข้อง ดังนั้นเครื่องฝึกบินราคาหลายสิบล้าน กลายเป็นเศษเหล็กไร้มูลค่า ที่หาตัวผู้กระผิดไม่ได้แม้แต่คนเดียว จึงเป็นการใช้อำนาจเสียงข้างมากของสภาเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้บริหาร

 

 

หลังจากนั้น สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ได้มีหนังสือ ที่ ศธ.0592(3)1.14/10255 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2561 แจ้งให้สภาฯ มนพ. ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงกับเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย 4 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุเครื่องบินตก จนมีคนเสียชีวิต อีกครั้งหนึ่ง แต่สภาฯมนพ.กลับมีหนังสือตอบกลับที่ ศธ.0589.1(5)/1792 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 ชี้แจงข้อเท็จจริงและขอให้ทบทวนผลการพิจารณาของคณะกรรมการการอุดมศึกษา

 

โดยโต้แย้งว่าบุคคลทั้งสี่ ที่เข้าข่ายกระทำผิดวินัยอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของอธิการบดี มนพ. สภามหาวิทยาลัยนครพนมไม่มีอำนาจดำเนินการทางวินัยต่อบุคคลอื่นนอกเหนือไปจากอธิการบดี อีกทั้งสภามหาวิทยาลัยนครพนมยังเห็นว่าการกระทำของบุคคลทั้งสี่ คือ1.ผศ.ดร.ถนอม ทาทอง 2. ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก 3.นายศรุต โภคากุลวัฒน์ และ 4.พลอากาศโท จิรศักดิ์ ชนะสิทธิ์ ยังไม่เข้าข่ายเป็นการกระทำผิดวินัย เรื่องนี้จึงถูกดองไว้เป็นเวลาเกือบปีซึ่งนับว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของมหาวิทยาลัยนครพนมว่าด้วยการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ดำรงตำแหน่งบริหาร พ.ศ. 2561ประกอบกับข้อบังคับมหาวิทยาลัยนครพนมว่าด้วยการสอบสวนพิจารณาโทษทางวินัย พ.ศ. 2551ซึ่งระบุว่า นายกสภาฯมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน

 

จนกระทั่ง ภายหลังมหาวิทยาลัยทั่วประเทศโอนไปสังกัดอยู่กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อว. งัดเรื่องเครื่องฝึกบินตกมาปัดฝุ่นอีกครั้ง โดยวันที่ 24 ธันวาคม 2562 มีหนังสือสั่งให้สภา มนพ. ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งสี่คนอีกครั้งหนึ่ง โดยกำชับให้รายงานผลการดำเนินการภายใน 30 วันนับจาวันที่ได้รับหนังสือสั่งการ

 

ขณะที่ ศ.สุนทร บุญญาธิการ นายกสภา มนพ. ก็ถูกกลุ่มมาเฟียในสภาฯ กดดันอย่างหนัก และรวมหัววางแผนจะเลื่อยขาเก้าอี้ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 โดยให้มือกฎหมายคนหนึ่งเขียนบัตรสนเท่ห์สอดเข้าไปในวาระการประชุม ปรากฏว่าข่าวรั่วออกมาถึงมือนายกสภาฯ จึงได้ชิงลงมือก่อนด้วยการมีหนังสือลงวันที่ 20 เมษายน 2563 ถึงปลัดกระทรวง อว. รายงานสถานการณ์ภายใน มนพ. และพฤติการณ์ของคณะผู้บริหาร ที่ร่วมมือกับกรรมการสภา มนพ. ใช้ระบบพวกมากลากไป ในสภาฯ เพื่อดำเนินกิจการต่าง ๆ ไปในทางที่เอื้อประโยชน์แก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ และพรรคพวก โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องตามหลักกฎหมายและหลักธรรมาภิบาล รวมทั้งสิ้น 6 เรื่อง พร้อมทั้งมีคำขอให้ รมว.อว. ใช้อำนาจตามมาตรา 51 แห่งพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.2562 เข้าควบคุมมหาวิทยาลัยนครพนม

 

 

กกอ.จึงนำเรื่องที่นายกสภา มนพ. มีหนังสือถึงเข้าสู่ที่ประชุมเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 โดยได้พิจารณาตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับและเอกสารที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่าสภามหาวิทยาลัยนครพนม ไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง และไม่สามารถแก้ไขปัญหาตามข้อสั่งการของ รมว.อว. รวม 5 ข้อกล่าวหาคือ

1.ขัดคำสั่ง รมว.อว. กรณีเครื่องบินฝึกตกขณะบินนอกภารกิจ ถือว่าสภา มนพ. ทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เกี่ยวกับการกระทำของผู้ดำรงตำแหน่งบริหาร มนพ.แล้ว แต่สภาฯกลับไม่ได้เร่งรัด สอบสวนทางวินัยแก่ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก รองอธิการบดี(ในขณะนั้น)และพวกกลับประวิงเวลาด้วยการใช้มติเสียงข้างมากในสภาฯยืนยัน ว่า ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึกและพวก ยังไม่เข้าข่ายเป็นการกระทำผิดวินัย

 

กระทั่งต่อมา รมว.อว. สั่งการให้สภา มนพ. ตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยฯแก่ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึกและพวกอีกครั้งกรณีเครื่องบินฝึกตกเมื่อปี 2559 ถึงได้ดำเนินการแต่กรรมการสภาฯ ก็ยังใช้ระบบพวกมากลากไปในการประชุมสภา มนพ. ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2563 มีมติให้เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยทั้งคณะ เพื่อช่วยเหลือแก่ผู้ถูกกล่าวหาอีก


นอกจากนี้ยังอนุมัติให้ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก ลาไปเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม-20 เมษายน 2563 แทนที่จะมีคำสั่งให้ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก กลับไปเป็นอาจารย์ประจำ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัยฯ หรือมิให้มีโอกาสอาศัยอำนาจหน้าที่ทางอ้อมจากการให้คงอยู่ในตำแหน่งอธิการบดี ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนได้ ฯ

 

กระทรวง อว. จึงเห็นว่าสภา มนพ. จงใจประวิงเวลาหรือไม่ปฏิบัติให้เป็นตามข้อสั่งการของ รมว.อว. ในเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ฯ ปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยกว่า 3 เดือน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งข้อสั่งการ


2.มีการข่มขู่คุกคาม รก.อธก.มนพ. และเปิดเผยความลับทางราชการ โดยในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 สภา มนพ.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ ฯ แล้ว ยังปรากฏว่าสภาฯ ได้มีมติสำคัญๆอีก 3 เรื่อง คือ(1) เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยฯ พร้อมรายชื่อคณะกรรมการ (2) เห็นชอบปรับย้าย ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ ฯไปเป็นอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ(3) เห็นชอบแต่งตั้ง ศ.อภิรัฐ ศิริธราธิวัตร เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี(รก.อธก.มนพ.) ซึ่งการประชุมในครั้งนั้นเป็นการประชุมลับ แต่หลังการประชุมเสร็จสิ้น มีกรรมการสภาฯ นำข้อมูลและมติไปเปิดเผยแก่ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ฯ ทำให้มีการเรียกประชุมร่วมกันระหว่าง ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ฯกับทีมผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ และกรรมการสภา มนพ. จนนำไปสู่การข่มขู่หรือคุกคามการทำงานของ ศ.อภิรัฐ ศิริธราธิวัตร กระทั่งทนแรงกดดันไม่ไหวเพราะตกอยู่ในความเสี่ยงและความไม่ปลอดภัยในชีวิต จึงตัดสินใจลาออกในวันที่ 16 มกราคม 2563 หลังเข้ารับตำแหน่ง รก.อธก.มนพ. ได้เพียง 5 วันเท่านั้น

 

3. การยกเลิกคำสั่งแต่งตั้ง รก.อธก.มนพ. โดยฝ่าฝืนมติสภามหาวิทยาลัยฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 หลังนายกสภา มนพ. อาศัยมติสภาฯ มีคำสั่งแต่งตั้ง ศ.อภิรัฐ ศิริธราธิวัตร เป็น รก.อธก.มนพ.แล้ว ปรากฏว่า ศ.อภิรัฐฯได้ยื่นหนังสือลาออกเมื่อวันที่ 16 มกราคมฯ ทำให้คำสั่งสภา มนพ.ที่ 026/2561 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2561 ที่แต่งตั้ง ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ฯ เป็น รก.อธก.มนพ. ซึ่งเคยสิ้นผลไปแล้ว กลับมีผลบังคับใช้บังคับตามกฎหมาย

 

ซึ่งสาเหตุการกระทำของนายกสภา มนพ. ที่ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้ง รก.อธก.มนพ. โดยไม่นำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยฯพิจารณา ให้ความเห็นชอบ หรือมีมติในเรื่องดังกล่าวก่อนออกคำสั่งนั้น ได้เกิดขึ้นเพราะจากการครอบงำและโดยแทรกแซงของบุคคลภายนอก ซึ่ง กกอ. เคยมีความเห็นว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต เกี่ยวกับการจัดซื้อระบบบริหารโรงเรียนอัจฉริยะแบบเบ็ดเสร็จวงเงิน 15 ล้านบาท และการจัดซื้อโต๊ะ เก้าอี้ โดยวิธีตกลงราคา

 

แต่เสียงส่วนใหญ่ของสภามหาวิทยาลัยฯ กลับยอมรับเอาผลแห่งการกระทำของนายกสภา มนพ. ที่ถูกครอบงำและถูกแทรกแซงจากบุคคลดังกล่าว (รายละเอียดปรากฏตามจดหมายถึงนายกสภา มนพ.) เพื่อต้องการให้ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ฯ กลับมาป็น รก.อธก.มนพ. อีกครั้ง และเข้ามามีอำนาจหรือครอบงำมหาวิทยาลัยฯ อีกชั้นหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากพฤติการณ์ของ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ฯที่เป็นผู้ริเริ่มหรือชักจูงให้สภา มนพ. อนุมัติให้ตนเองลาไปเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ ในระหว่างถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง แทนที่สภา มนพ. จะเป็นผู้ริเริ่มใช้อำนาจสั่งให้ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ ฯ พักงานหรือพ้นจากการเป็นผู้รักษาราชการแทนฯ ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยนครพนม ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ดำรงตำแหน่งบริหารพ.ศ.2561 ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่สภา มนพ. กำหนดขึ้น อันมีผลผูกพันให้ต้องปฏิบัติ ตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่าฝ่ายปกครองต้องผูกพันต่อกฎเกณฑ์ที่ตนกำหนดขึ้น

 

4. สภาฯ มนพ.ไม่สามารถทำหน้าที่ในฐานะองค์กรตรวจสอบได้อย่างเป็นอิสระและถูกแทรกแซงครอบงำจากฝ่ายบริหาร ดังจะเห็นได้จากการประชุมสภาฯ ครั้งที่ 2/2563 นายกสภา มนพ. มีคำสั่งที่ 005/2563 ลงวันที่ 17 มกราคม 2563 ให้ยกเลิกคำสั่งที่ 002/2563 ลงวันที่ 10 มกราคม 2563 และได้รายงานในการประชุมสภาฯให้รับทราบ เมื่อวันที่ 19 มกราคม

 

แต่การที่มีกรรมการสภาฯ จำนวน 10 คน มีหนังสือลงวันที่ 12 มกราคม 2563 ถึง ศ.อภิรัฐ ศิริธราธิวัตร ผู้รักษาราชการแทนฯ เพื่อกดดันการทำหน้าที่และคัดค้านการแต่งตั้งในครั้งนี้ ล้วนเป็นกรรมการสภาฯเสียงส่วนใหญ่ ที่ต้องการให้ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ฯกลับมาเป็น รก.อธก.ฯอีกครั้ง แม้จะถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแล้วก็ตาม อีกทั้งกรรมการสภาฯ เสียงส่วนใหญ่ยังได้ร่วมกันลงมติเพื่อบีบบังคับให้นายกสภา มนพ. ใช้อำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยฯ ตามรายชื่อที่ตนเองเสนอ ย่อมแสดงให้เห็นว่าสภา มนพ. กลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหาร เพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ผู้บริหาร มนพ. ต้องการ ทำให้สภา มนพ.ไม่สามารถทำหน้าที่ในฐานะองค์กรตรวจสอบได้อย่างเป็นอิสระ และปราศจากการถูกแทรกแซงของฝ่ายบริหารโดยสิ้นเชิง

 

5.การอนุมัติเงินค่าตอบแทนให้แก่ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก โดยในช่วงลาไปเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ ในการประชุมสภา มนพ. เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 อนุมัติให้ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ฯลาไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ฯ เป็นเวลา 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม-20 เมษายน 2563 ซึ่งขณะนั้น ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ฯ ไม่ได้เป็นผู้รักษาราชการแทนฯ และไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่หลักของตำแหน่งผู้บริหารในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทน ตามระเบียบมหาวิทยาลัยนครพนมฯ แต่ปรากฏว่า ดร.อนิรุจธิ์ ผงคลี ที่ถูกแต่งตั้งเป็นผู้รักษาราชการแทนฯ แบบขัดตาทัพ ได้อนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนฯให้แก่ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ฯ ในอัตราเดือนละ 98,960 บาท ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนมีนาคม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 197,920 บาท

 

ดังนั้นการอนุมัติให้เบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนของ ดร.อนิรุจธิ์ ผงคลี จึงเป็นการกระทำขัดกับข้อ 11 ของระเบียบมหาวิทยาลัยนครพนม ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเดือนฯ ของผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี พ.ศ.2559 ซึ่งกำหนดว่า “การอนุมัติจ่ายเงินตามระเบียบนี้ ให้นายกสภา มนพ. หรือเป็นผู้ที่นายกสภาฯมอบหมายมีอำนาจอนุมัติและสั่งจ่ายได้”

 

แม้กระนั้น ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ ฯ ก็มิได้หยุดการกระทำที่จะนำไปสู่การให้ตนเองได้รับเงินค่าตอบแทน ได้มีหนังสือถึงนายกสภา มนพ.และคณะกรรมการสภาฯ เพื่อบีบบังคับให้อนุมัติสั่งจ่ายเงินค่าตอบแทนฯให้แก่ตนเอง พร้อมทั้งข่มขู่นายกสภาฯ ว่า การไม่อนุมัติเงินค่าตอบแทนดังกล่าว เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 157 โดยมิได้เกรงกลัวหรือยอมรับว่าตนอยู่ภายใต้กฎกติกาที่สภาฯกำหนด

 

ด้วยเพราะเหตุมีกรรมการสภามหาวิทยาลัยฯ ซึ่งแต่งตั้งจากผู้บริหารหรือคณาจารย์ประจำเป็นผู้ให้การสนับสนุน เนื่องจากเป็นกลุ่มบุคคลที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ ฯ ทำให้สภา มนพ.ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของฝ่ายบริหาร จนไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในท้ายที่สุด


ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น เมื่อมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่กระทรวง อว.จะรับฟังได้ว่า การดำเนินการของสภามหาวิทยาลัยนครพนม ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุด และมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการของมหาวิทยาลัยฯ ตามมาตรา 18 พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยนครพนม พ.ศ.2548 ไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง โดยมีพฤติการณ์จงใจประวิงเวลาการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามข้อสั่งการของ รมว.อว. ทำให้การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นล่าช้าเกินสมควร หรือมีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าสภา มนพ. ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆที่เกิดขึ้นได้ รมว.อว.จึงอาศัยตามความในมาตรา 51 วรรคสอง ฯ ตั้งคณะกรรมการเข้าควบคุมมหาวิทยาลัยนครพนมดังกล่าว

 

ส่วนรายชื่อนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม พร้อมคณะกรรมการ ที่ถูกมาตรา 51 วรรคสอง สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สุนทร บุญญาธิการ นายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม มีกรรมการสภามหาวิทยาลัยฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ คือ 1.นายทรงยศ โรจนวีระ 2.ผศ.ดร.จินดา งามสุทธิ 3.พลเอก ดร.กวี ประเคนรี 4.ดร.วันชัย ดีเอกนามกูล 5.รศ.ดร.วิทยาธร ท่อแก้ว และ 6.ดร.ทนง โชติสรยุทธ์

 

ส่วน ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก อดีตรักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม นั้น เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง สำหรับกรรมการฯประเภทผู้บริหาร มี 1.ดร.พีระพงษ์ ธีระเผ่าพงษ์ เป็นประธานสภาคณาจารย์ฯ 2.รศ. ดร.คำรณ สิระธนกุล 3.รศ.ดร.สนั่น ศรีสุข 4.ผศ.ดร.พันตรี โคมพิทยา

 

ด้านกรรมการสภาฯประเภทผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีจำนวน 2 คน ได้แก่ 1.นายกานต์ แก้วมาตย์ นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลท่าอุเทน 2.นายศรีสุข แสนยอดคำ นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลเรณูนคร กรรมการประเภทคณาจารย์ประจำมีจำนวน 3 คน ได้แก่ 1.นายสันติสุข วรวัฒนธรรม 2.นายกิตติศักดิ์ มะลัย และ 3.นายประพัฒน์พงศ์ ปรีชา

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง