รีเซต

สธ. เผยตรวจ ATK เป็นบวกแยกกักที่บ้าน ไม่ต้องสวอปซ้ำ เว้นกรณีเข้ารักษารวมผู้ป่วยยืนยัน

สธ. เผยตรวจ ATK เป็นบวกแยกกักที่บ้าน ไม่ต้องสวอปซ้ำ เว้นกรณีเข้ารักษารวมผู้ป่วยยืนยัน
มติชน
6 สิงหาคม 2564 ( 14:43 )
48

สธ. เผยตรวจ ATK เป็นบวกแยกกักที่บ้าน ไม่ต้องสวอปซ้ำ เว้นกรณีเข้ารักษารวมผู้ป่วยยืนยัน ต้องตรวจคู่ขนาน เร่งเพิ่มสายโทรศัพท์ 50 เขตกทม. บริการ 24 ชม.

 

 

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีผลการตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท(ATK) เป็นบวก ด้วยระบบการแยกกักที่บ้าน(Home Isolation) ว่า การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ ATK ในสัปดาห์นี้กลับมาเป็นประเด็นเพราะว่า มีการค้นหาเชิงรุกมากขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) ต้องขอบคุณทีมแพทย์ชนบทที่ส่งหน่วยตรวจเชิงรุกลงพื้นที่กทม. ประมาณ 30 ทีมต่อวัน ร่วมกับทีม CCRT ของทางกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)และกรุงเทพมหานคร พบปัญหาหน้างานหลายแห่ง เช่น ผู้ที่มีผล ATK เป็นบวกแต่ไม่สามารถแยกกักที่บ้านได้ ซึ่งการจะเข้าศูนย์พักคอยในชุมชน(Community Isolation) จะต้องตรวจด้วยวิธี RT-PCR หรือไม่ ก็เป็นคำถามที่หน้างานพอสมควร ดังนั้น ช่วงเช้าในที่ประชุม EOC ของกระทรวงฯ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. จึงมอบหมายให้มีการชี้แจงเรื่องนี้อีกครั้ง

 

 

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า กระบวนการหากผู้ที่มีผลตรวจ ATK เป็นผลบวก โดยความจำเพาะของการตรวจจะให้ผลบวกลวงประมาณ 3-5% ทางระบาดวิทยาตกลงกันว่าเป็น “ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย หรือ Probable case” โดยจะเข้าได้ 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 เมื่อผล ATK เป็นบวกก็สามารถแยกกักที่บ้านได้ทันที ไม่ต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ ซึ่งแยกเป็นรายบุคคล ไม่มีการปนเปื้อนเชื้อกับรายอื่น หลังจากนั้นจะได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จัดงบประมาณให้โรงพยาบาล(รพ.) ทำการส่งอาหาร 3 มื้อให้ผู้ป่วยที่บ้าน 14 วัน พร้อมส่งอุปกรณ์ ได้แก่ เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวันออกซิเจนในกระแสเลือด ยาที่จำเป็น และอื่นๆ แต่กรณีที่ 2 ผลตรวจ ATK เป็นบวกแล้วต้องเข้า รพ./ฮอทพิเทล(Hospitel) หรือศูนย์พักคอยในชุมชน ที่ทาง กทม. และเอกชนร่วมกันทำโดยมีมากกว่า 100 แห่งใน 50 เขตในกทม. ที่มีประมาณ 5-6 พันเตียง ซึ่งเป็นการเข้าไปอยู่ร่วมกับผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ดังนั้น กรณีที่ผู้ตรวจด้วย ATK อาจให้ผลบวกลวง เราก็ไม่อยากให้คนที่ไม่ติดเชื้อ เข้าไปปนกับคนติดเชื้อ เราจึงต้องตรวจ RT-PCR คู่ขนานกัน

 

 

 

“ย้ำว่า ต้องไม่ให้การตรวจ RT-PCR เป็นตัวหน่วงรั้งการรับการรักษา ให้รับเข้าไปที่ รพ./ฮอทพิเทล(Hospitel) หรือศูนย์พักคอยในชุมชน โดยให้ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย หรือ Probable case เซ็นใบยินยอมการรักษาและทำ RT-PCR คู่ขนานกันไป ผมได้คุยกับผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพฯ ไปแล้วว่า ศูนย์พักคอยในชุมชนไม่มีปัญหารับเข้าไปได้เลย และทำ RT-PCR คู่ขนานกันไป โดยมีบางแห่งอยู่ระหว่างการจัดตั้ง คือ ให้รพ.เอกชน มารับตรวจหาเชื้อที่หน้างาน แต่ระหว่างนั้นก็จะให้ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย แยกการอยู่กับผู้ป่วยรายอื่นมากที่สุด เพื่อเป็นความปลอดภัยกับผู้ที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวกลวงได้” นพ.สมศักดิ์ กล่าวและว่า สำหรับผู้ป่วยเข้ารักษาในฮอสพิเทล เราให้นอนรวมกัน 2 ราย แต่กรณีที่เป็นการตรวจด้วย ATK และรอการยืนยันด้วยการตรวจ RT-PCR เราจะให้นอนแยกคนเดียวก่อน

 

 

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ประชาชนสามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ 1.สถานพยาบาล ที่อาจตรวจด้วย ATK/RT-PCR โดยทางรพ.ที่ตรวจก็จะรับเคสผู้ติดเชื้อเข้าข่ายเข้ารักษาเอง 2.การตรวจเชิงรุก เช่น ทีมแพทย์ชนบท ทีม CCRT ซึ่งส่วนใหญ่ขึ้นทะเบียนผู้ป่วยไว้เลย สปสช.ก็จะเก็บข้อมูลเพื่อจับคู่กับคลินิกชุมชนอบอุ่น หรือ รพ. หรือศูนย์บริการสาธารณสุขกรุงเทพฯ เพื่อทำการแยกกักที่บ้านหรือเข้าศูนย์พักคอยในชุมชน และ 3.ผู้ที่ตรวจหาเชื้อด้วยตัวเองด้วยชุดตรวจ ATK ตอนนี้หากใช้ชุดตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับรอง และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ขึ้นทะเบียนแล้ว เมื่อเป็นผลบวกให้ถ่ายภาพผลตรวจ และโทรไปที่สายด่วน สปสช. 1330 ที่ขยายเพิ่มถึง 3 พันคู่สายแล้ว หรือแอดไลน์บัญชีทางการผ่านคิวอาร์โค้ด เพื่อกรอกข้อมูลลงทะเบียน และรอการจับคู่สถานพยาบาล ซึ่งขณะนี้จะตอบรับภายใน 48 ชั่วโมง

 

 

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ประชาชนที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโควิด-19 หรือลงทะเบียนกับ สปสช. ผ่านสาย 1330 ไว้แล้วแต่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับ ต้องขอบคุณผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่สั่งการให้ทั้ง 50 เขตในกทม. มีเบอร์โทรศัพท์ประจำเขต ซึ่งมี 20 คู่สายต่อเขต รวมแล้วกว่า 1 พันคู่สายให้บริการ 24 ชั่วโมง แต่กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินให้โทร 1669 แต่หากไม่ใช่ผู้ป่วยวิกฤต ก็ขออนุญาตเก็บสายด่วนนี้ไว้ให้คนวิกฤต ให้ได้รับการดูแลตามสมควร

 

 

“เราพยายามดูแลนโยบาย การควบคุมโรค ระบบรักษาพยาบาล เร่งการฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งทุกภาคส่วนต้องช่วยกันเพื่อให้การควบคุมในประเทสไทยเป็นทีมที่ต่อสู้กับโควิด-19 ได้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

 

 

เมื่อถามถึงกรณีที่ผู้ตรวจด้วย ATK เป็นบวกแต่ทาง รพ.ไม่ยอมตรวจด้วย RT-PCR ซ้ำให้ ถือว่าเป็นความผิดหรือไม่ โดยทาง สธ. ได้ชี้แจงนโยบายดังกล่าวให้สถานพยาบาลรับทราบหรือไม่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า จริงๆ กรมการแพทย์มีหนังสือแจ้ง รพ.ทั่วประเทศในส่วนของภาครัฐ ว่าหากตรวจด้วย ATK เป็นบวก ขึ้นอยู่กับประชาชนเลือกที่จะใช้วิธีการรักษาอย่างไร หากเป็นการแยกกักที่บ้าน ก็ไม่ต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ ไม่ใช่เรื่องผิด แต่หากต้องเข้ารักษาใน รพ./ฮอสพิเทล หรือศุนย์พักคอยในชุมชน ต้องทำ RT-PCR คู่ขนานกันไป ซึ่งได้สั่งการในภาครัฐชัดเจนแล้ว ซึ่งทางภาคเอกชน ก็มีการตกลงกันแล้วว่า ขอให้ทำคู่ขนานกันไป

 

 

ส่วนถามว่าหากติดต่อที่สายด่วน 1330 แล้ว แต่ได้รับการตอบรับนานกว่า 48 ชั่วโมงจะต้องทำอย่างไร นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ตนพยายามคอนเฟิร์มกับสปสช. ตลอด ยอมรับอยู่ส่วนหนึ่งว่า จำนวนผู้ป่วยรายวันเพิ่มมาก อาจมีตกค้างเกิน 24 ชั่วโมง และทางสปสช. ก็พยายามเคลียร์ให้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง และต้องขอบคุณทางกทม. ที่มีสายโทรศัพท์ประจำแต่ละเขต เพื่อให้ประชาชนติดต่อไป โดยทางผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพฯ ยืนยันว่า ศูนย์บริการสาธารณสุข พร้อมให้การจับคู่ผู้ป่วยแล้ว ซึ่งภาระงานที่มากขึ้น ก็จะพยายามจับคู่ไปที่คลินิกต่างๆ แม้กระทั่งคลินิกความงาม ที่ สปสช.ได้พยายามเพิ่มเข้ามา และอบรมการให้การดูแลผู้ป่วย

 

 

เมื่อถามว่า กรณีปรับหลักเกณฑ์ให้ผู้ป่วยกลับเร็ว ยังไม่ครบกำหนด 14 วันจะมีปัญหาหรือไม่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการเลย เมื่อครบ 10 วันหรือบางราย 7 วันแล้วกลับบ้าน ต้องเป็นการแยกกักที่บ้าน มีหมอมีพยาบาลติดตามอาการด้วยเทเลเมดิซีน มีอาหาร 3 มื้อไปให้เพื่อไม่ต้องออกจากบ้าน มียา มีระบบติดตามตลอด ทั้งนี้ ที่ต้องทำเพราะเราพยายามรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ ซึ่งมีเชื้อมากกว่าคนที่อยู่ในรพ.มาก่อนแล้ว 10 วัน และทั้งหมดเป็นไปตามมาตรฐานการดูแล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง