รีเซต

น่าห่วง! โควิดสายพันธุ์ย่อยดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากขึ้น เสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำ

น่าห่วง! โควิดสายพันธุ์ย่อยดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากขึ้น เสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำ
TNN ช่อง16
9 ธันวาคม 2565 ( 08:00 )
55
น่าห่วง! โควิดสายพันธุ์ย่อยดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากขึ้น เสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำ

โควิดสายพันธุ์ย่อยดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากขึ้นอย่างมาก เสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำ ย้ำฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง เสียชีวิต และ Long COVID

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า 9 ธันวาคม 2565 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 415,139 คน ตายเพิ่ม 1,062 คน รวมแล้วติดไป 651,988,170 คน เสียชีวิตรวม 6,653,441 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ บราซิล และสหรัฐอเมริกา

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 81.13 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 57.72

...อัพเดต Omicron สายพันธุ์ย่อยจาก WHO

องค์การอนามัยโลกออกรายงาน WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา

สัปดาห์ล่าสุด BQ.1.x นั้นมีสัดส่วนในการตรวจพบเพิ่มขึ้นเป็น 36.2% (เดิม 27.6%) ในขณะที่ XBB นั้นตรวจพบ 5% (เดิม 4.2%), BA.2.75 พบ 7.8% (เดิม 6.8%)

ข้อมูลข้างต้นชี้ให้เห็นความจำเป็นต้องเฝ้าระวังสายพันธุ์ย่อย BQ.1.x ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ย่อยที่น่ากังวล เพราะมีสมรรถนะการขยายตัวของการระบาดสูงกว่า BA.5 และดื้อต่อภูมิคุ้มกันทั้งจากการติดเชื้อมาก่อนและจากวัคซีนมากกว่าสายพันธุ์อื่นที่ระบาดมาก่อนหน้า

...รายงานจากสวิสเซอร์แลนด์

ข้อมูลของ Federal Office of Statistics ของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเพิ่งเผยแพร่เมื่อ 5 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา

ชี้ให้เห็นว่า ตัวเลขผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลในช่วงสองปีที่ผ่านมานั้น สูงกว่าที่เคยมีการรายงานราว 2 เท่า

...สถานการณ์ไทยเรา มีการติดเชื้อจำนวนมากในแต่ละวัน สังเกตได้จากคนรอบตัว ทั้งในครัวเรือน ที่ทำงาน หรืออื่นๆ

ข้อมูลการแพทย์ในปัจจุบัน ชี้ให้เห็นแล้วว่า สายพันธุ์ย่อยต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น BQ.1.1, XBB และอื่นๆ นั้น ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากขึ้นอย่างมาก จนทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำ รวมถึงดื้อต่อยาแอนติบอดี้ที่ใช้ในการรักษาแทบทั้งหมด แต่ข่าวดีคือ จากการศึกษาในห้องปฏิบัติการนั้น ยาต้านไวรัสมาตรฐานที่สากลใช้อยู่ ได้แก่ Paxlovid, Molnupiravir, และ Remdesivir ยังใช้ได้ผลต่อสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้

จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศ ต้องวางแผนเรื่องยาต้านไวรัสให้ดี เข้าถึงได้ เพียงพอ และทั่วถึง

เหนืออื่นใด การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องจำเป็น

ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง เสียชีวิต และ Long COVID

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อลงไปได้มาก



ข้อมูลจาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ภาพจาก TNN ONLINE


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง