เอกชนชี้ "แจกเงิน" ไม่ได้แก้ความยากจน-เหลื่อมล้ำ
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยในงานสัมมนา “สู้ชนะความจน บนฐานพลังความรู้ พลังภาคี” ว่า ปัญหาความยากจนและหนี้ครัวเรือนไทย เป็นปัญหาที่ฝังรากลึกมานาน เพราะยิ่งมีการพัฒนามากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำ ยิ่งพัฒนายิ่งมีคนจนโดยเปรียบเทียบมากขึ้นเรื่อย และในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาก็ถือเป็นการซ้ำเติมประชาชนฐานราก เพราะไม่สามารถทำมาหากินได้ เงินออมใช้หมด ต้องกู้ยืมเป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ
ดังนั้นการจะแก้ไขปัญหาได้จะต้องมาจากความเข้าใจว่าปัญหาเริ่มจากจุดไหน ความยากจน ความเหลื่อมล้ำเกิดจากอะไร และการที่หน่วยบริการและจัดการทุนด้านวิจัยระดับพื้นที่(บวพ.) นำข้อมูลมาชี้แจงในงานนี้ ทำให้รู้ว่าคนจนอยู่ส่วนไหน มีจำนวนเท่าใด และมองว่าการแจกเงินอย่างที่ผ่านมา ไม่ใช่คำตอบของการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำของไทย
หัวใจสำคัญจะต้องทำให้ชุมชนยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเองให้ได้ โดยมีเอกชนยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือด้านต่างๆ ซึ่งจะต้องประสานพลังกันทุกฝ่ายทั้งภาคเอกชนและรัฐบาล
นอกจากนี้ จะต้องสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ซึ่งในช่วงนี้ถือเป็นจังหวะที่ดี เพราะเศรษฐกิจกำลังฟื้นกลับมา เห็นได้จากภาคการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไทยจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้คนนับ 10 ล้านคนจะได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ และเมื่อคนมีรายได้ ก็จะส่งผลทำให้หนี้ลดลงด้วย
ขณะที่ถ้าอยากแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนในระยะยาว จะต้องให้ความรู้ประชาชนในเรื่องการเงิน สนับสนุนการทำบัญชีครัวเรือน เพราะบางคนเป็นหนี้โดยไม่รู้ตัว และพยายามดึงประชาชนออกจากหนี้นอกระบบให้มากที่สุด
ซึ่งที่ผ่านมาโครงการธนาคารชุมชน สามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงิน และไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 20 ต่อเดือน ทำให้ประชาชนสามารถชำระหนี้ได้ และมีเงินออมอีกครั้ง
ส่วนเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลัง สิ่งที่กังวล คือ เรื่องเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัวลง และความไม่แน่นอนทางการเมืองสหรัฐฯ และจีน ในช่วงปลายปี รวมถึงการเมืองไทยจะคลี่คลายเมื่อใดเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม
ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE
ที่มาภาพ : TNN