รีเซต

‘สทท.’ เตรียมกระทุ้งรัฐขอความชัดเจนข้อเสนอเก่า พร้อมเสนอแผนฟื้นฟูหลังโควิด-19 คลายตัว

‘สทท.’ เตรียมกระทุ้งรัฐขอความชัดเจนข้อเสนอเก่า พร้อมเสนอแผนฟื้นฟูหลังโควิด-19 คลายตัว
มติชน
13 เมษายน 2563 ( 09:42 )
85

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า จากการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ซึ่งสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้วย ทำให้การประชุมในวันที่ 13 เมษายนนี้ สทท. ได้เข้าร่วมด้วย

 

โดยจะมีการติดตามข้อเรียกร้องเดิม ได้แก่ การขอให้รัฐบาลพิจารณาช่วยเหลือแรงงานในภาคการท่องเที่ยวครอบคลุมทุกภาคส่วน การพิจารณาให้สำนักประกันสังคมช่วยเหลือเยียวยาแรงงานในภาคการท่องเที่ยวทุกกลุ่ม 13 สาขาอาชีพ หลังจากที่ได้เยียวยามัคคุเทศก์และแรงงานโรงแรมแล้ว รวมถึงมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ซึ่งในส่วนของสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำนั้น วงเงินที่ออกมาทั้งหมด ความจริงแล้วประเมินว่าเพียงพอกับความต้องการของผู้ประกอบการมาก เพราะมีขนาดใหญ่มาก แต่ผู้ประกอบการระดับกลางลงมา ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากเงื่อนไขในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ยังไม่เอื้ออำนวยมากเท่าที่ควร จึงอยากให้ภาครัฐเร่งพิจารณา เพื่อให้มีมาตรการที่ชัดเจนออกมาช่วยพยุงผู้ประกอบการ ให้ผ่านวิกฤตครั้งนี้อย่างเร็วที่สุด

 

“ข้อเสนอเดิมที่เคยเสนอไป อยากได้ความชัดเจนว่าติดขันที่ตรงไหน และจะสามารถออกมาได้เมื่อไหร่ เพราะหากประเมินในส่วนของแผนการก็ออกมาดี แต่เงื่อนไขในการเข้าถึงตรงนั้น จะต้องง่ายและเร็ว ทั้งแรงงาน ประกันสังคม และซอฟท์โลน โดยในช่วงที่ผ่านมา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ผลักดันให้ประกันสังคมจ่ายชดเขยการว่างงานของแรงงานในส่วนของโรงแรมแบบทุกกรณี แต่แม้จะพยายามไปแล้ว ก็ยังไม่ได้รับการดูแลทั้งหมด เพราะอาชีพอื่นยังไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียม"

 

"ทั้งที่ได้รับความเดือดร้อนไม่แตกต่างกัน อาทิ ทัวร์ ร้านอาหาร ร้านนวดแผนไทย-สปา ที่หากไม่มีคำสั่งของภาครัฐประกาศผิด ก็เข้าข่ายการเยียวยาของประกันสังคม จึงต้องการให้รัฐประกาศปิดชั่วคราว เพื่อให้เข้าข่ายการเยียวยาของประกันสังคม ในส่วนของสินเชื่อซอฟท์โลน หากดูตามเม็ดเงินก็น่าจะพอกับความต้องการ เพราะใหญ่มาก แต่ต้องดูว่าคนกลุ่มล่างเข้าถึงได้จริงหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ จากการที่ยังติดเงื่อนไขบางอย่าง อาทิ ต้องมีเครดิตบูโร 2.มีงบการเงิน 3.มีแผนการตลาด ซึ่งหากมองจากแค่ 3 ข้อนี้ก็แทบเข้าไม่ได้แล้ว โดยอยากให้ตรวจสอบในเรื่องการประกอบกิจการจริง เป็นบริษัทที่ถูกต้องหรือไม่ จัดตั้งมาแล้วกี่ปี เสียภาษีอย่างถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งหากประเมินจากส่วนนี้ ถูกต้องครบถ้วนก็ปล่อยสินเชื่อไป โดยแน่ใจว่าสินเชื่อจะสามารถกระจายไปได้ในกลุ่มล่างๆ มากขึ้น” นายชัยรัตน์กล่าว

 

นายชัยรัตน์กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอใหม่เพิ่มเติมที่จะนำเข้าหารือกับรัฐบาล เป็นแผนการดำเนินงานหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มนิ่งแล้ว โดยจะนำเสนอว่าแผนฟื้นฟูในภาคการท่องเที่ยวควรจะเป็นอย่างเร่งบ้าง ซึ่งเบื้องต้นวางไว้ว่าควรจะมีการอบรมผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถรับมือกับพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต รวมถึงรูปแบบการเดินทางใหม่ๆ ที่จะเข้ามาด้วย

 

รวมถึงจะต้องเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการสามารถรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต เนื่องจากขณะนี้ความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้น มาจากการที่ผู้ประกอบการไม่ได้มีการเตรียมตัวในการตั้งรับ ผลกระทบจึงสั่นสะเทือนไปทั้งอุตสาหกรรม เรียกว่าสะเทือนกันไปทั้งโลก ทำให้ต้องมีการหารือกันใหม่ว่า ต่อไปนี้ควรทำอย่างไร ควรแบ่งสัดส่วนรายได้จากทั้งหมดที่เท่าไหร่ เพื่อนำมาเก็บไว้รับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินในลักษณะนี้ หรืออาจต้องจัดตั้งอะไรขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกลางในการดำเนินการ รวมถึงแนวทางการบริการที่อาจเปลี่ยนแปลงไป เพราะนักท่องเที่ยวคงจะเดินทางมาเป็นกลุ่มน้อยลง และหากเกิดขึ้นแบบนี้ ควรจะบริการคนเหล่านั้นอย่างไร

 

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องเรียนรู้การทำตลาดผ่านช่องออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากการตั้งรับอย่างเดียวน่าจะไม่เพียงพอ ช่องทางออนไลน์จะต้องเข้าถึงได้ง่ายและเป็นงานด้วย เพราะหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ก็จะได้ไม่ลำบากมาก โดยขณะนี้การอาศัยขานแพคเกจท่องเที่ยวผ่านตัวแทนทัวร์อย่างเดียวคงไม่เพียงพอแล้ว ในขณะที่ต้องไม่ลืมการอบรมแรงงานร่วมด้วย เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับแรงงาน ซึ่งจะเป็นการยกระดับคุณภาพแรงงานไทยขึ้นมาอีกขั้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง