ส.อ.ท.ชงรัฐตั้งกองทุนสู้โควิดแสนล.ช่วยลูกจ้างตกงาน-ธุรกิจปิดกิจการ
ส.อ.ท.ชงรัฐตั้งกองทุนสู้โควิด 1 แสนล.ต่อลมหายใจเอสเอ็มอี-ลูกจ้างตกงาน ชี้โรคระบาดทุบความเชื่อมั่นอุตฯดิ่งสุดในรอบ 21 เดือน ถ้าโรคระบาดลามระยะ 3-คนป่วยทะลุ1,000คนควรปิดประเทศ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับคณะกรรมการส.อ.ท. ถึงผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมแถลงตัวเลขความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่สำนักงานส.อ.ท. ว่า ส.อ.ท.อยู่ระหว่างติดตามและประเมินผลกระทบอย่างใกล้ชิด กรณีเลวร้ายสุดคือ กิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก(เอสเอ็มอี) ปิดกิจการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการ จนทำให้เกิดการเลิกจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม อาจส่งผลให้คนตกงาน 1 ล้านคน ทางส.อ.ท.จึงขอเสนอให้ภาครัฐจัดตั้งกองทุนรับมือสถานการณ์โควิด-19 วงเงิน 100,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และช่วยเหลือแรงงาน
“เดิมส.อ.ท.เข้าใจว่ามาตรการของรัฐที่ช่วยเหลือผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ2% วงเงินรวม 150,000 ล้านบาท และมาตรการยืดหนี้จะเพียงพอ แต่จนถึงขณะนี้หลังจากผู้ประกอบการสอบถามสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์แต่พบว่ามีความเข้มงวด อนุมัติยาก และมีโอกาสไม่ได้สูงเพราะธนาคารก็ไม่อยากให้เกิดหนี้เสีย
จึงเห็นว่ากองทุนฯนี้มีความจำเป็น รัฐบาลอาจต้องใช้วิธีกู้หรือออกพันธบัตรภาครัฐเพื่อระดมเงินโดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐดำเนินการ อัตราดอกเบี้ย 2% ระยะเวลาผ่อนชำระ 1 ปี นิติบุคคลละไม่เกิน 20 ล้านบาท เงื่อนไขผ่อนปรน สำหรับกลุ่มลูกจ้างที่ตกงาน รัฐอาจออกคูปอง วงเงิน 10,000-20,000 บาทต่อราย สำหรับการเพิ่มทักษะแรงงาน โดยเงินนี้ให้เปล่าแต่ต้องแลกกับทักษะแรงงานที่เพิ่มขึ้น หากตกงาน 1 ล้านราย จะใช้เงินประมาณ 10,000-20,000 ล้านบาท”นายสุพันธุ์กล่าว
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้หลายบริษัทและหน่วยงานต่างๆ ได้ปรับตัวค่อนข้างมากเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจรุนแรงขึ้น อาทิ การทดสอบระบบให้พนักงานทำงานจากที่บ้านหากการระบาดรุนแรงเข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งบางกลุ่มอุตสาหกรรมอาจปรับตัวโดยให้พนักงานลางานโดยไม่รับเงินเดือน หรือยังคงทำงานอยู่แต่ปรับลดเงินเดือน ดังนั้นหากมีกองทุนทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้างจะได้มีความเบาใจ มีที่พึ่ง