รีเซต

สธ.เฝ้าระวังชายแดนใต้ สกัดโควิดมาเลเซีย วอนแม่บ้านเมียนมา ลดพบปะเพื่อนฝูง

สธ.เฝ้าระวังชายแดนใต้ สกัดโควิดมาเลเซีย วอนแม่บ้านเมียนมา ลดพบปะเพื่อนฝูง
มติชน
7 กุมภาพันธ์ 2564 ( 16:15 )
172

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า ขณะนี้พบปัญหาที่ชายแดนที่ติดกับเพื่อนบ้าน คือ เมียนมา ที่สถานการณ์ในประเทศยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ทำให้พบผู้ติดเชื้อเพศชาย สัญชาติเมียนมา ที่อาศัยใน อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นผู้ป่วยคนเดียว แต่กระจายเชื้อให้คนในครอบครัวเกือบ 10 ราย ทั้งลูก ลูกสาว ลูกสะใภ้ หลานและคนในครอบครัว สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อมีการติดเชื้อ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจะเป็นคนในครอบครัวที่อยู่ใกล้ชิด รวมถึงผู้ที่เข้าไปดูแลคนป่วย ผู้ไม่สวมหน้ากากอนามัย เป็นตัวอย่างที่จะเห็นว่า ติดเชื้อเพียง 1 ราย แต่กระจายให้ทั้งครอบครัวไปจนถึงในชุมชน ดังนั้นวันนี้ อ.แม่สอด จะมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชนอีกจำนวนมาก ซึ่งเป็นตามมาตรการสอบสวนโรค

 

“สิ่งที่สะท้อนเห็นว่า อ.แม่สอด วิถีชีวิตชาวบ้าน ยังไปๆ มาๆ กับชาวเมียนมา พบปะกันอยู่ถึงแม้จะลดลง แต่หากยังมีอยู่ก็จะทำให้การควบคุมเป็นไปได้ลำบาก และจะพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มๆ ขึ้นเป็นระยะ ฉะนั้น ประชาชนในอ.แม่สอด จะต้องเข้มข้น เพื่อลดความเสี่ยง” นพ.โอภาส กล่าว

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า อีกประเด็นหนึ่ง คือจังหวัดทางใต้ของไทยติดกับชายแดนมาเลเซีย โดยสถานการณ์มาเลเซียยังพบผู้ติดเชื้อ 2-3 รายต่อวัน และมีมาตรการผลักดันผู้ต้องขังชาวต่างชาติกลับสู่ประเทศต้นทาง ตอนนี้ไทยรับผู้ต้องขังเข้ามาในหลายด่านพรมแดนตามระบบผ่านการคัดกรอง เพื่อเข้าสถานกักกันโรค เช่น ด่านเบตง จ.ยะลา และด่านวังประจัน จ.สตูล รับเข้ามา 66 ราย ติดเชื้อ 19 ราย คิดเป็นร้อยละ 28.78 ถือว่าค่อนข้างสูง เนื่องจากก่อนเข้ามาไทย มีการอยู่รวมกันในห้องขัง ทำให้มีความเสี่ยงติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ามีการกักกันโรคในกลุ่มนี้เพื่อให้แน่ใจว่า เชื้อต่างๆ ในต่างประเทศจะไม่เข้าสู่ประเทศไทย

 

นอกจากนี้ นพ.โอภาส กล่าวว่า ชายแดนไทย-มาเลเซีย จะมีมาตรการไม่ให้รถเข้าสู่เขตชายแดนชั้นในเมือง จะให้วางสินค้าและเปลี่ยนที่จุดชายแดน หรือเรียกว่า เซฟตี้โซน โดยที่คนไทยและคนมาเลเซียไม่ปะปนกัน ไม่ให้ลงจากรถ ไม่เข้าสู่พื้นที่ชั้นใน พร้อมทั้งตรวจหาเชื้อเชิงรุกเป็นระยะ ซึ่งขณะนี้พบผู้คนขับรถส่งของจากมาเลเซียมายังเซฟตี้โซนติดเชื้อ 1 ราย จึงให้เขากลับเข้าสู่มาเลเซียเพื่อเข้าสู่ระบบรักษาแล้ว ส่วนประเทศไทยก็จะคัดกรองผู้สัมผัสกับเขา หากดำเนินการมาตรการอย่างเคร่งครัด โอกาสติดเชื้อเข้าสู่ประเทศก็จะน้อย ขณะที่ตัวอย่างที่ดีคือ อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ดำเนินการมาหลายเดือน แต่ยังไม่พบการติดเชื้อในกลุ่มนี้

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า สรุปสถานการณ์โควิด-19 ในการระบาดรอบใหม่ ภาพรวมจังหวัดต่างๆ ควบคุมได้ดี ขณะนี้มีรายงานผู้ติดเชื้อเพียง สมุทรสาคร ตาก กรุงเทพมหานคร (กทม.) และบางจังหวัด โดยสมุทรสาคร หลังจากค้นหาเชิงรุกแล้วทำให้ยังพบผู้ติดเชื้ออยู่ต่อเนื่อง ขณะนี้จึงมีการปรับมาตรการเรียกว่า บับเบิ้ลแอนด์ซีล โดยให้แรงงานเมียนมา อยู่ในโรงงานและที่พัก ให้ทำงานได้ปกติ ไม่ให้ปะปนกับชุมชน หากเจ็บป่วยก็จะเข้าสู่ระบบรักษา และมีข่าวดีว่าตลาดกลางกุ้ง น่าจะมีการเปิดให้ดำเนินชีวิตอย่างปกติเร็วๆ นี้ ซึ่งจะต้องติดตามในสมุทรสาครต่อไป

นพ.โอภาส กล่าวว่า ระยะของการควบคุมโรค 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การตรวจเชิงรุกในสมุทรสาคร เพื่อหาการกระจายของโรค พบว่ากระจายมากใน อ.เมือง และตลาดกลางกุ้ง ส่วน อ.บ้านแพ้ว และ อ.กระทุ่มแบน ติดเชื้อค่อนข้างน้อย หลังจากนั้น ระยะที่ 2 คัดกรองในโรงงานขนาดใหญ่และมีอัตราติดเชื้อสูงมากกว่าร้อยละ 10 โดยรอบ อ.เมือง และ อ.กระทุ่มแบน เป็นการปูพรมตรวจมากกว่าวันละหมื่นราย และระยะที่ 3 กำลังทำในขณะนี้เรียกว่า บับเบิ้ลแอนด์ซีล ให้คนงานอยู่เฉพาะที่ที่ทำงานและที่พัก ใช้ชีวิตได้ปกติ หากติดเชื้อก็เข้าสู่การรักษา ส่วนโรงงานขนาดเล็ก อัตราติดเชื้อน้อยก็จะพบผู้ติดดชื้อน้อย และลงตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชน ฉะนั้นทำให้พบผู้ติดเชื้อน้อยลง

นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วน กทม. จะพบรายงานแรงงานต่างด้าว มาทำงานบ้าน ติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ซึ่งติดเชื้อไปยังคนไทยได้ จึงต้องกำชับแรงงานว่าให้เลี่ยงการพบปะกับเพื่อน โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย และต้องระวังการรับประทานอาหารเป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง