เชียงใหม่ย้ำวัคซีนโควิดเพียงพอ ขอ ปชช.ร่วมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เตือนไม่รวมกลุ่ม-มั่วสุม ลดการระบาด
เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่ศูนย์บัญชาการสถานการณ์การระบาดโรค Covid-19 จังหวัดเชียงใหม่ นายกนก ศรีวิชัยนันท์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และ นพ.วรเชษฐ์ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ ร่วมกันแถลงสถานการณ์การระบาดของโรค Covid-19 ระลอกเดือนเมษายนจังหวัดเชียงใหม่ประจำวัน
ดร.ทรงยศ กล่าวว่า วันนี้จังหวัดเชียงใหม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 5 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 4,076 ราย รักษาหายแล้ว 3,828 ราย คิดเป็น 94% ของผู้ป่วยทั้งหมด ยังคงมีผู้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลทุกประเภท จำนวน 224 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มจากเมื่อวานนี้ ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมของจังหวัดเชียงใหม่อยู่ที่ 23 ราย
ดร.ทรงยศกล่าวว่า ขณะที่กลุ่มผู้ติดเชื้อที่ยังรักษาตัวอยู่นั้น แยกเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย (สีเขียว) 168 ราย อาการปานกลาง (สีเหลือง) 34 ราย อาการค่อนข้างหนัก (สีส้ม) 16 ราย และผู้ป่วยอาการหนัก (สีแดง) 6 ราย
“การตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเมื่อวานนี้ (26 พ.ค. 64) ทำการตรวจไปจำนวน 608 ราย พบผู้มีผลบวก 1.32% ซึ่งสอดคล้องกับยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ลดลง ด้านปัจจัยเสี่ยงพบว่าสาเหตุหลักยังคงเป็นการสัมผัสในครอบครัว และการสัมผัสในสถานที่ทำงาน และยังคงมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การสัมผัสในชุมชนและการนำเข้ามาจากต่างพื้นที่ก็เริ่มพบมากขึ้นเช่นกัน
“ผู้ติดเชื้อที่พบในวันนี้มีบางรายไปซื้อ หรือขายของที่ตลาด 4 มุมเมือง แล้วกลับเข้ามาในพื้นที่ และมีอีก 1 รายที่ติดจากการไปรับประทานหมูกระทะร่วมกับผู้ติดเชื้อ ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการที่ประชาชนไม่ให้ความร่วมมืออยู่บ้านหยุดเชื้อ ไม่รักษามาตรการป้องกันโรคอย่างจริงจัง จังหวัดเชียงใหม่ก็จะยังพบผู้ติดเชื้อและไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้” ดร.ทรงยศกล่าว
ดร.ทรงยศกล่าวต่อว่า สำหรับการตรวจคัดกรองเชิงรุกพื้นที่เสี่ยง วันนี้ทีมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่คัดกรองที่แคมป์คนงานต่างด้าวตำบลแม่เหียะ โดยเป็นการดำเนินงานร่วมกับทีมปกครองของอำเภอ เทศบาลเมืองแม่เหียะ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลบ้านท่าข้าม แม่เหียะ มีการตรวจหลักฐานบัตรประจำตัว สถานที่พัก ให้ความรู้และใช้รถนำเที่ยวรับไปตรวจคัดกรอง ณ จุดตรวจคัดกรองวัดต้นปิน โดยทำการตรวจทั้งหมด 95 ราย ส่วนการตรวจกลุ่มพนักงานขับรถขนส่งสินค้าได้ทำการตรวจไปแล้ว 192 ราย พบผู้มีผลบวก 5 ราย เป็นคลัสเตอร์บริษัทขนส่งสินค้าที่อำเภอสารภีเดิม ทั้งนี้ ขอประกาศเพิ่มเติมให้รถที่รับสินค้าจากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทุก 7 วัน ตามประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ เนื่องจากพบว่ายังคงมีการระบาดในพื้นที่อำเภอแม่สาย
ดร.ทรงยศกล่าวว่า ส่วนคลัสเตอร์วันนี้ มีคลัสเตอร์ที่ปลอดภัยแล้ว 6 คลัสเตอร์ คือคณะเภสัชศาสตร์ วิทยาลัยพายัพเทคโนโลยี บริษัทขายตรง ลานธรรมนำสุข โครงการหลวง ศูนย์เด็กเล็กแม่คือ และบ้านขุนบ่อหลวง อำเภอฮอด อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคลัสเตอร์เฝ้าระวังต่อเนื่อง 12 คลัสเตอร์ และคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด 3 คลัสเตอร์ คือคลัสเตอร์บ้านขุนแปะ ข่วงเปา คลัสเตอร์ขายของออนไลน์สันนาเม็ง และบริษัทขนส่งสารภี
“สำหรับยอดการจองวัคซีนของเชียงใหม่ขณะนี้อยู่ที่ 180,256 ราย และขอให้ความมั่นใจว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 นั้นปลอดภัย พร้อมเชิญชวนคนเชียงใหม่ร่วมใจกันฉีดวัคซีนให้มากกว่าร้อยละ 70 เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และเดินหน้าด้านการท่องเที่ยวต่อไปได้ ยืนยันว่ามีจำนวนวัคซีนที่เพียงพออย่างแน่นอน” ดร.ทรงยศกล่าว
ด้าน นพ.วรเชษฐ์ กล่าวชี้แจงรายละเอียดของผู้เสียชีวิต 3 รายล่าสุดเมื่อวานนี้ (26 พ.ค. 64) ว่า ผู้เสียชีวิตรายที่ 21 ของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นชายไทย อายุ 52 ปี มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไตวายเรื้อรัง อยู่ในพื้นที่เสี่ยงระบาด (เรือนจำ) โดยวันที่ 9 พฤษภาคม มีอาการอ่อนเพลีย ถ่ายเหลว หายใจเหนื่อยหอบ และตรวจพบเชื้อโควิด-19 วันที่ 10 พฤษภาคม มีอาการเหนื่อยมากขึ้น จึงถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนครพิงค์ วันที่ 23 พฤษภาคม อาการแย่ลง ระบบหายใจล้มเหลว ความดันต่ำ กระทั่งเสียชีวิตลงในวันที่ 25 พฤษภาคม เวลา 05.40 น.
นพ.วรเชษฐ์กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตรายที่ 22 ของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นชายไทย อายุ 47 ปี มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตรวจพบเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ที่โรงพยาบาลชุมชน และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลนครพิงค์ วันที่ 8 พฤษภาคม พบการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน ระบบหายใจล้มเหลว และได้รับการรักษาด้วยเครื่องปอด, หัวใจเทียม (ECMO) แต่อาการยังไม่ดีขึ้น และระบบหายใจล้มเหลว กระทั่งเสียชีวิตลงในวันที่ 25 พฤษภาคม เวลา 11.17 น.
“ผู้เสียชีวิตรายที่ 23 ของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นชายไทย อายุ 62 ปี มีโรคประจำตัวเป็นโรคซีด อยู่ในพื้นที่เสี่ยงระบาด (เรือนจำ) ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 3 พฤษภาคม และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามเรือนจำกลางเชียงใหม่ วันที่ 11 พฤษภาคม มีอาการเหนื่อยหอบมาก จึงถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนครพิงค์ วันที่ 23 พฤษภาคม พบติดเชื้อในกระแสเลือด และวันที่ 25 พฤษภาคม พบอวัยวะภายในล้มเหลวหลายส่วน กระทั่งเสียชีวิตลงในเวลา 12.48 น.” นพ.วรเชษฐ์กล่าว
ขณะที่ นายกนก กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเข้ามาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตามคำสั่งที่ 61/2564 ว่า เพิ่มการแบ่งกลุ่มผู้ที่เดินทางเข้าจังหวัดเชียงใหม่ออกเป็น 6 กลุ่ม โดยเพิ่มกลุ่มที่ 6 คือกลุ่มพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ/ขนส่งสินค้า และปรับเพิ่มเติมในกลุ่มที่ 1 เป็นผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนา หรือย้ายมาปฏิบัติราชการ/ปฏิบัติงานในจังหวัดเชียงใหม่เป็นการประจำ โดยทั้ง 6 กลุ่มมีแนวทางการปฏิบัติตนที่คล้ายกันคือต้องสแกน CM-CHANA การรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคในพื้นที่ การกักตนเองอยู่ในบ้านพัก การสังเกตอาการตนเอง กรณีผู้ใดที่รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว ให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่พนักงานควบคุมโรคในพื้นที่เพื่อขอรับสิทธิผ่อนผันในการปฏิบัติ
นายกนกกล่าวว่า สำหรับการปฏิบัติตนของกลุ่มพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ รถขนส่งสินค้าทางการเกษตร และผู้ขับรถขนส่งสินค้าประเภทอาหารทะเลหรือผลไม้ ที่มีการเดินทางเข้า-ออกจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ขอให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทุก 7 วัน ที่โรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชน หรือจุดตรวจเฉพาะกิจของกระทรวงสาธารณสุข หรือศูนย์วัณโรคเขต 10 เชียงใหม่ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนกว่าจะไม่มีการแพร่ระบาด พร้อมขอให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด และแสดงเอกสารผลการตรวจโควิด-19 ต่อเจ้าพนักงานที่ทำการตรวจสอบ