รีเซต

แพทย์ทบทวนความรู้ “โควิด-19” หลังจากอยู่ด้วยกันมาร่วม 3 เดือน

แพทย์ทบทวนความรู้ “โควิด-19” หลังจากอยู่ด้วยกันมาร่วม 3 เดือน
มติชน
4 เมษายน 2563 ( 15:54 )
85
1
แพทย์ทบทวนความรู้ “โควิด-19” หลังจากอยู่ด้วยกันมาร่วม 3 เดือน

แพทย์ทบทวนความรู้ “โควิด-19” หลังจากอยู่ด้วยกันมาร่วม 3 เดือน

เกาะติดโควิด-19- เมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวความคืบหน้าสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19)

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า หลังจากที่โควิด-19 ได้แพร่ระบาดกว้างขวาง จึงอยากให้ประชาชนทบทวนข้อมูลของโรค สำหรับโรคโควิด-19 โดยทั่วไปจะแสดงอาการภายในวันที่ 5 ภายหลังจากการรับเชื้อ และระยะของการฝักตัว 10-14 วัน ความสามารถในการแพร่โรคของผู้ป่วยติดเชื้อจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยปกติจะใช้จำนวน 1 ผู้ป่วยต่อ 2.5 คนรับเชื้อ แต่ในบางกรณีที่มีผู้แพร่โรคให้กับคนอื่นได้มากกว่าปกติ หรือที่เรียกว่า super spreader และการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ความสามารถในการแพร่โรคจะสูงขึ้น เช่น สนามมวย สถานบันเทิง ซึ่งในช่วงนั้นประเทศไทยมีค่าความสามารถในการแพร่โรคอยู่ที่ 3.6 แต่ในขณะนี้ประเทศไทยมีค่าความสามารถในการแพร่โรคอยู่ที่ 1 เศษๆ

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า การติดต่อของโรคคือ 2 ทางหลัก ได้แก่ 1.ได้รับเชื้อไวรัสโดยตรง เมื่ออยู่ในระยะใกล้ชิดกับผู้ป่วย และมีผู้ที่ไอหรือจาม ที่ไม่มีการป้องกันตนเอง 2.ผู้ป่วยไอ จาม และมีละอองเชื้อฝอยทิ้งไว้ในพื้นผิวสัมผัสทั่วไป แล้วผู้อื่นก็มาจับละอองฝอยเชื้อเข้าสู่ร่างกายด้วยการนำมือสัมผัสใบหน้า ทางแก้ไขของปัญหาคือ ผู้ป่วยต้องสวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ซึ่งสามารถลดการแพร่กระจายของละอองเชื้อได้ถึงร้อยละ 97 เนื่องจาก ปริมาณละออง ความเร็ว ระยะทางที่เคลื่อนที่ไปได้จะลดน้อยลง และผู้ที่ยังไม่ป่วย แนะนำให้สวมหน้ากากชนิดผ้า เพื่อป้องกัน รวมถึงการทำความสะอาดพื้นผิวด้วยการเช็ดน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ และหลีกเลี่ยงการนำมือสัมผัสใบหน้าบ่อยๆ และหมั่นล้างมือให้สะอาด เชื้อไวรัสโควิด-19 โดยทั่วไปจะอยู่ในสภาพแวดล้อมได้ประมาณ 24-72 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะพื้นผิวและอุณหภูมิ หากอุณหภูมิสูงเชื้อจะมีอายุที่สั้นลง แต่ในประเทศไทย

นพ.ธนรักษ์ กล่าวต่อว่า อาการของโรคจะพบว่ามีความแตกต่างในเด็กและผู้ใหญ่ คือ เด็กจะมีอาการน้อยกว่าโดย ร้อยละ 42 จะมีอาการไข้ ร้อยละ 49 มีอาการไอ ร้อยละ 8 มีน้ำมูก ร้อยละ 7 มีอาการอ่อนเพลีย แต่หากเป็นผู้ใหญ่ ร้อยละ 89 จะมีอาการไข้ ร้อยละ 68 มีอาการไอ ซึ่งเป็นอาการหลักที่สำคัญ ร้อยละ 14 มีอาการเจ็บคอร้อยละ 15 จะมีอาการเจ็บคอ ร้อยละ 5 มีน้ำมูก ร้อยละ 38 มีอาการอ่อนเพลีย และหากมีอาการของปอดอักเสบจะเริ่มแสดงอาการ เหนื่อย หอบ หายใจเร็วและลำบาก ซึ่งช่วงอายุมีผลต่ออัตราการเสียชีวิต ในกลุ่ม 10-19 ปีมีโอกาสต่ำมาก ช่วงอายุ 50-59 ปี มีโอกาสเสี่ยงสูงและช่วงอายุ 80 ปีขึ้นไปมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก เช่น หากมีผู้ป่วยช่วงอายุนี้ 100 ราย จะมีอัตราเสียชีวิตถึงร้อยละ 15 นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อและมีอาการรุนแรงสูงกว่าคนทั่วไปและเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ได้แก่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โรคประจำตัว เช่น โรคหลอดเลือดสมอง/หัวใจ อัมพาต โรคไตวายเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง โรคอ้วน โรคตับแข็ง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และผู้ที่มีดัชนีมวลกว่ามากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ความรุนแรงของโรค แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยติดเชื้อทุกคนไม่ได้มีอาการที่รุนแรง โดยร้อยละ 80 เป็นผู้ป่วยมีอาการน้อยถึงน้อยมาก สามารถหายได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัส และในกลุ่มนี้จะมีจำนวนร้อยละ 30 เป็นการติดเชื้อและมีภูมิคุ้มกันแต่ไม่มีอาการ นับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่หากจะดีที่สุดคือการไม่ติดเชื้อเลย ร้อยละ 20 เป็นผู้ป่วยที่อาจจะต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลและในจำนวนนี้จำนวนร้อยละ 5 ที่มีอาการรุนแรงและจะต้องได้รับการรักษาพยาบาลในกรณีพิเศษ ส่วนกรณีการเสียชีวิตจะเฉลี่ยคือ ผู้ป่วย 100 รายจะมีผู้ที่เสียชีวิตร้อยละ 1.4 แต่ความรุนแรงของการเสียชีวิตจะแตกต่างกัน

นอกจากนี้ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการใช้ยาต้านไวรัสในการรักษาตามอาการ ได้แก่ Favipiravir ที่เป็นยาหลัก Remdesivir อยู่ในขณะศึกษาวิจัย ส่วนยากลุ่มเสริมคือ Lopinavir+Ritonavir / Darunavir+ Ritonavir เป็นยาต้านไวรัสเอดส์ และ Cloroquine ซึ่งเป็นยารักษาโรคมาลาเรีย โดยในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีน และในหลายประเทศได้เร่งทำการศึกษาวิจัยอยู่

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง