รีเซต

'เกษตรกร' เร่งหว่านข้าวนาปี ส่วนใหญ่ปลูกข้าวหอมมะลิ มั่นใจว่าได้ราคาดี

'เกษตรกร' เร่งหว่านข้าวนาปี ส่วนใหญ่ปลูกข้าวหอมมะลิ มั่นใจว่าได้ราคาดี
มติชน
12 มิถุนายน 2565 ( 10:42 )
117
'เกษตรกร' เร่งหว่านข้าวนาปี ส่วนใหญ่ปลูกข้าวหอมมะลิ มั่นใจว่าได้ราคาดี

ข่าววันนี้ 12 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณแปลงนา ริม ถนนเลี่ยงเมืองสายขอนแก่น-กาฬสินธุ์ ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น เกษตรกรในพื้นที่ ต.พระลับ ต่างเร่งทำการหวานข้าวนาปี ประจำฤดูกาลผลิตที่ 2565/66 ที่ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงการทำนาปีปีนี้กันแล้ว โดยส่วนใหญ่พบว่า จะทำนาปีต่อจากการทำนาปรังทันที หลังจากช่วงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ทำการเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังเสร็จเกษตรกรในเขต ต.พระลับ ที่อยู่ในเขตชลประทาน ต่างทำการไถกลบตอซัง และทำการบ่มดิน เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และเข้าสู่การทำนาปีทันที ทำให้ตลอดทั้งสัปดาห์นี้พื้นที่นาข้าวส่วนใหญ่เริ่มเข้าสู่การหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวแล้ว และจากการตรวจสอบพบว่า ข้าวนาปีปีนี้เกษตรในพื้นที่หันมาปลูกข้าวหอมมะลิ กันมากกว่าข้าวเหนียว เนื่องจากมั่นใจว่าปีนี้ข้าวหอมมะลินาปีจะมีราคาดี

 

นายสุขสันต์ โยคุณ ผู้ใหญ่บ้าน บ.พระคือ ม.3 ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ครอบครัวทำนาข้าวบนพื้นที่รวมกว่า 30 ไร่ โดยทำการปลูกข้าวปีทุกปี ขณะที่นาปรังต้องรอการประกาศจากจังหวัด และชลประทานในการบริหารจัดการน้ำ ในช่วงของการทำนาปีที่ผ่านมายอมรับว่าต้นทุนต่างๆ นั้นสูงมากโดยเฉพาะปุ๋ย ทำให้การใช้ปุ๋ยให้กับข้าวบางจุดไม่เต็มที่ หรือที่เรียกว่าข้าวไม่อิ่มตัว แต่นาปีปีนี้ที่ขณะนี้ครอบครัวเริ่มหว่านข้าวแล้ว ก็เน้นการทำข้าวหอมมะลิ เพราะจากการหารือร่วมกับโรงสีข้าวในพื้นที่ ต่างยืนยันว่านาปีปีนี้ราคาข้าวหอมมะลิ จะได้ราคาดี ทำให้ 30 ไร่ที่ทำการปลูกนาปีปีนี้นั้นปลูกข้าวหอมมะลิทั้งหมด

 

“ยอมรับว่าการทำนาปีปีนี้ต้นทุนนั้นขยับสูงขึ้น ทั้งราคาปุ๋ย ราคาน้ำมัน ราคายาคลุมวัชพืช, ยากำจัดหอย หรือแม้กระทั่งแรงงาน แต่โชคดีที่เมล็ดพันธุ์ข้าวนั้นครอบครัวมีเมล็ดพันธุ์ จากที่ทำการคัดแยก และจัดเก็บไว้แล้ว ทำให้ต้นทุนยังคงพอรับได้ แต่ถึงอย่างไร เมื่อหว่านข้าวแล้วเสร็จ ก็จะต้องพ่นยาคุลมวัชพืช ยากำจัดหอย และอาหารเสริมต่างๆ ที่พบว่ามีราคาที่แพงขึ้น ยังไม่นับรวมปุ๋ยต่างๆ ที่ก็ปรับแพงขึ้น ดังนั้นในระยะนี้เข้าสู่ช่วงทำนาปี รัฐต้องควบคุมราคาปุ๋ยและยาต่างๆให้คงที่อย่าผลักภาระต้นทุนมาให้เกษตรกร เพราะราคาน้ำมันที่สูงแบบนี้ก็ส่งผลต่อต้นทุนในเรื่องของการไถ และเครื่องจักรต่างๆที่ใช้ต้นทุนมากพออยู่แล้ว”

 

นายสุขสันต์ กล่าวต่ออีกว่า ราคาต้นทุนปีนี้ยอมรับว่าต่อไร่ขึ้นมาถึง 1,000-3,000 บาท ซึ่งเป็นต้นทุนที่เกษตรกรหลายคนนั้นคิดวิเคราะห์ และแยกแยะว่าจะทำข้าวนาปีเต็มพื้นที่หรือไม่ บางคนมีที่นาหลายสิบไร่ แบกรับต้นทุนไม่ไหวก็ทำนาปีปีนี้เพียง 50 % ของที่นาที่มีอยู่ และที่สำคัญยังคงไม่นับรวมในช่วงเก็บเกี่ยวผลิตทั้งค่ารถเกี่ยวข้าว ค่ารถขนข้าว และแรงงานที่ต้องจ้างมาหากรัฐไม่มีการควบคุมใดๆ ชัดเจนเกษตรกรก็จะต้องแบกต้นทุน และทำนาเพื่อพอให้ใช้หนี้ต่างๆ ก็พอแล้ว หรือหากจะมีสินชื่อแบบเข้าถึงง่าย และเข้าใจง่าย เพื่อเสริมสภาพคล่อง หน่วยงานของรัฐก็ต้องเร่งมาพูดคุยกับเกษตรกรให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม จากภาวะต้นทุที่เพิ่มขึ้นในการทำข้าวนาปีปีนี้โดยส่วนตัว คาดว่าราคาข้าวเปลือกนาปีปีนี้ ถ้าจะให้ดีควรอยู่ที่ กก.ละ 10-12 บาท ก็เพียงพอแล้วซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรในพื้นที่นั้นยอมรับได้ และมีกำไรบ้าง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง