รีเซต

17 เหยื่อโรงงานสารเคมีรั่ว กลับบ้านแล้ว 'ปลัดฯนครปฐม' นั่งหัวโต๊ะ หาแนวป้องกัน หวั่นซ้ำรอย

17 เหยื่อโรงงานสารเคมีรั่ว กลับบ้านแล้ว 'ปลัดฯนครปฐม' นั่งหัวโต๊ะ หาแนวป้องกัน หวั่นซ้ำรอย
มติชน
24 กันยายน 2565 ( 17:06 )
59
17 เหยื่อโรงงานสารเคมีรั่ว กลับบ้านแล้ว 'ปลัดฯนครปฐม' นั่งหัวโต๊ะ หาแนวป้องกัน หวั่นซ้ำรอย

เมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลตำบลขุนแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม นายยงยุทธ สวนทอง ปลัดจังหวัดนครปฐม ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดจังหวัดนครปฐม เป็นประธานประชุมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชน ในพื้นที่อำเภอนครชัยศรี สามพราน และพุทธมณฑล เพื่อนำข้อมูลไปถ่ายทอดสู่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง จากกรณีเกิดเหตุน้ำมันในระบบทำความความร้อนรั่วไหล ของบริษัทอินโดรามาโพลีเอสเตอร์ อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ตำบลขุนแก้ว อำเภอนครชัยศรี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก เมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดไอระเหยและส่งกลิ่นเหม็น กระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง ในพื้นที่ 3 อำเภอดังกล่าว ไปจนถึงบางพื้นที่ในจังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร

 

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า เกิดการชำรุดรั่วไหลที่หม้อต้มน้ำมันร้อน (Hotoil Boiler) เป็นสารเคมีกลุ่มอะโรมาติกเบนซีน ชนิดไบฟินิลและไดฟินิลออกไซด์ มีคุณสมบัติน้ำหนักเบา จึงลอยไปได้ไกลจากจุดเกิดเหตุ ส่งผลกระทบเมื่อสัมผัส จะทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครปฐม ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 5 ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครปฐม ผู้แทนอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม นายอำเภอนครชัยศรี สามพราน และพุทธมณฑล เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชน

 

ด้านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม ได้รายงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เข้ารับบริการตรวจรักษาตามอาการ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 รวมทั้งสิ้น 17 คน มีที่ รพ.นครชัยศรี 5 คน รพ.พุทธมณฑล 9 คน และรพ.สามพราน 3 คน หลังจากการตรวจรักษาไม่พบอาการรุนแรง สามารถเดินทางกลับบ้านได้ตามปกติ โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. เฝ้าสังเกตและติดตามอาการ

 

ส่วนของจังหวัดนครปฐม ได้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสารเคมีรั่วไหล ของบริษัท อินโดรามา โพลีเอสเตอร์ อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุ วิธีการทางป้องกันและหาแนวทางเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ภายใน 15 วัน

 

อีกทั้งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม ได้มีคำสั่งตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรงงาน พ.ศ. 2535 ให้บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการโรงงานบางส่วน (ส่วนหม้อต้มน้ำมันร้อนที่ชำรุด) จนกว่าจะปรับปรุงให้แล้วเสร็จ พร้อมทั้งมีคำรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมก่อนเปิดใช้งาน

 

นอกจากนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ทำการตรวจวัดคุณภาพอากาศ ความเข้มของสารระเหยเบนซีน จำนวน 11 จุด ผลการตรวจวัดไม่เกินค่ามาตรฐาน ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง ขีดจำกัดความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายเบนซีน สำหรับการสัมผัสในระยะเวลาสั้นๆ ไม่เกิน 15 นาที พบค่าเบนซีน ไม่เกิน 5 ppm

สำหรับผลกระทบที่ประชาชนมีความกังวลเรื่องของสารก่อมะเร็งจากไอระเหยของน้ำมันที่รั่วไหล นางจันทนา ภาคย์ทองสุข ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 5 กล่าวว่า สารเคมีกลุ่มอะโรมาติกเบนซีน ชนิดไบฟินิลและไดฟินิลออกไซด์ เป็นสารที่มีกลิ่น ก่อให้เกิดความระคายเคือง เช่น แสบตา โพรงจมูก และระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งผู้ที่มีโรคประจำตัว เด็ก และผู้สูงอายุ อาจได้รับผลกระทบมากกว่าปกติ แต่ไม่ใช่สารก่อมะเร็งแต่อย่างใด ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานราชการ เพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง

 

นอกจากนี้ ได้จัดชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว พร้อมเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศ ออกปฏิบัติหน้าที่บริเวณที่ได้รับผลกระทบ หากประชาชนพบกลิ่นสารเคมีรั่วไหล สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ ได้ทีหมายเลขโทรศัพท์ 062-369-5198, 081-1955747 และ 094-5582884 เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างเร่งด่วน

 

ด้าน นายเอนก น้อยพิทักษ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองใหม่ อ.สามพราน กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการตื่นตัวในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ทำให้มีการประชุมกันในวันนี้ เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหา เพื่ออยู่ร่วมกันระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมกับชาวบ้านใน้องถิ่นนั่นๆ นอกจากปัญหาสารเคมีรั่วระเหยไปเป็นวงกว้างแล้วนั่น อยากขอความร่วมมือเรื่องน้ำเสียที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยทิ้งลงคูคลอง สาธารณะ และหรือน้ำเสียที่ล้นบ่อในช่วงฤดูฝน ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้อีกเรื่อง เพราะตำบลคลองใหม่ได้รับผลกระทบจากน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมรอบๆ พื้นที่อย่างมาก เนื่องจากประชาชนตำบลคลองใหม่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ต้องใช้น้ำในการเกษตร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง