รีเซต

บิ๊กตู่ สั่งตรวจสอบเข้ม 5 มาตรการคุมโควิด ฮึ่ม! "เวิร์ก ฟรอม โฮม " ต้องจริงจัง

บิ๊กตู่ สั่งตรวจสอบเข้ม 5 มาตรการคุมโควิด ฮึ่ม! "เวิร์ก ฟรอม โฮม " ต้องจริงจัง
มติชน
21 พฤษภาคม 2564 ( 13:53 )
43

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) กล่าวระหว่างแถลงสถานการณ์รายวัน ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า เนื่องจากสถานการณ์ในกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ที่มีความซับซ้อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงสั่งการให้ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจร่วมบูรณาการ และแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขในศูนย์โควิด-19 เพื่อร่วมมือกันทำงานกับทุกภาคส่วน ทั้งกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

 

 

 

 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า โดยเน้นในเรื่องหลัก ได้แก่ 1.ตรวจสภาวะสุขอนามัยของค่ายพักคนงานที่ยังไม่มีการติดเชื้อ ควบคุมไม่ให้มีการเดินทางข้ามเขตระหว่างค่ายที่พักคนงาน 2.จัดระเบียบตลาดนัด ร้านค้าในชุมชน 3.ดูแลสุขอนามัยผู้ประกอบการร้านอาหาร และพนักงานส่งอาหารตามบ้าน 4.จัดระเบียบการเดินทางระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภท และ 5.เน้นย้ำมาตรการทำงานจากที่บ้าน (Work from home) ต้องกำกับติดตามหน่วยงานว่ามีการปฏิบัติตามอย่างจริงจังหรือไม่

 

 

“โดยเฉพาะเรื่องการไล่ตามเชื้อ รายงานผู้ติดเชื้อประจำวัน นายกฯ บอกว่าจะต้องมีมาตรการป้องกันและควบคุมอย่างจริงจัง ขอให้ทาง สธ. เช่น กรมอนามัย หน่วยงานความมั่นคง ลงมาเสริมการปฏิบัติงานกำกับตรวจตราอย่างเต็มที่ เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาด” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

 

 

โฆษก ศบค. กล่าวว่า ที่ประชุมยกตัวอย่างบทเรียนเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ที่จัดการโควิด-19 ได้สำเร็จ ยุทธศาสตร์แต่งตามสภาพความเสี่ยงใน 4 ข้อ คือ 1.พื้นที่ยังไม่มีการระบาด ต้องป้องกันเข้มงวด มาให้นำเชื้อเข้ามา 2.พื้นที่เริ่มพบผู้ป่วย ให้ค้นหาผู้ป่วยและควบคุมการระบาด ป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อ 3.พื้นที่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน ต้องควบคุมการแพร่โรคให้มากที่สุด ป้องกันการแพร่ไปยังที่อื่น รักษาผู้ป่วยอย่างดีที่สุด และ 4.พื้นที่มีการระบาดอย่างมาก ควบคุมการแพร่เชื้อและเดินทาง และดูแลผู้ป่วยเป็นหลัก ซึ่งประเทศไทยใช้ยุทธศาสตร์นี้ในหลายประเด็น ทำให้เราประสบความสำเร็จในการรับมือโควิด-19 ใน 2 ระลอกที่ผ่านมา

 

 

“ฉะนั้น ขอให้ใช้ข้อมูลต่างๆ บูรณาการความร่วมมือและเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน รวมถึงภาคเอกชน เข้ามาร่วมกันบริหารจัดการให้ดีที่สุด ท่านนายกฯ เป็นห่วงเรื่องจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันที่สูงขึ้น ท่านแจ้งว่า แม้แต่รายเดียวที่สูญเสีย ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น จึงขอให้ฝ่ายการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยทุกแห่ง รวมถึงแพทย์จาก รพ.เอกชน ร่วมมือกัน วางยุทธศาสตร์ดูแลผู้ป่วยอย่างดีที่สุด” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง