รีเซต

The Post-Covid World! โดย สุรชาติ บำรุงสุข

The Post-Covid World!  โดย สุรชาติ บำรุงสุข
มติชน
5 เมษายน 2563 ( 21:28 )
301
3
The Post-Covid World!  โดย สุรชาติ บำรุงสุข

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเมืองโลก ถ้าเราเปรียบเทียบว่า การต่อสู้กับการแพร่ระบาดครั้งนี้มีสภาวะคล้ายคลึงกับการต่อสู้ของรัฐที่เกิดในภาวะสงคราม ดังจะเห็นได้ในอีกด้านถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นนับชีวิตของผู้คนในสังคม ตัวเลขการติดเชื้อของคนทั้งโลกเกินหลักล้านแล้ว และเช่นเดียวกันที่ในบางสังคมมีการเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เสมือนหนึ่งเหมือนกับการเข้าสู่สงคราม อาจจะมีความแตกต่างที่ชัดเจนว่า นักรบในสงครามนี้กลายเป็นบุคลากรจากสายงานทางการแพทย์ ไม่ใช่กำพลทหารจากกองทัพ

การเปรียบเทียบการระบาดของเชื้อโรคในวงกว้างเป็นดังสงคราม ก็เพื่อชี้ให้เห็นถึงนัยของผลที่จะเกิดขึ้น กล่าวคือ หากการระบาดสิ้นสุดลง ก็อาจเทียบเคียงได้กับการสิ้นสุดของสงครามใหญ่ที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโลก ทั้งในบริบทชีวิตของรัฐและของสังคม (ที่รวมถึงชีวิตของบุคคล) คู่ขนานกันไป

ดังนั้น หากลองพิจารณาไปสู่สถานการณ์ใหม่ในอนาคต ที่เราอาจจะต้องเรียกว่า “โลกยุคหลังโควิด” (The Post-Covid World) เหมือนเช่นที่ครั้งหนึ่งในทางการเมืองระหว่างประเทศ เราเคยเรียกยุคหลังสงครามคอมมิวนิสต์ว่า “โลกยุคหลังสงครามเย็น” (The Post-Cold War World) ซึ่งสถานการณ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นในเวทีโลก อาจคาดคะเนถึงทิศทางหลัก 5 ประการ ดังนี้

1) กำเนิดระเบียบโลกใหม่

การสิ้นสุดของสงครามนำไปสู่การกำเนิดของระเบียบโลกใหม่ฉันใด การสิ้นสุดของการระบาดโควิด-19 ก็จะนำไปสู่การกำเนิดของระเบียบโลกใหม่ (new world order) ฉันนั้น

ระเบียบโลกใหม่ในยุคหลังโควิด จะเป็นอีกครั้งที่การจัดระเบียบนี้ไม่ผ่านเงื่อนไขของสงครามตามแบบโดยตรง (คล้ายคลึงกับระเบียบหลังสงครามเย็น ที่ไม่ใช่ผลผลิตโดยตรงของสงครามใหญ่) และเหมือนเช่นทุกครั้งที่มีการจัดระเบียบใหม่ เราจะเห็นถึงสถานะของรัฐมหาอำนาจที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในเวทีโลกใหม่ ในฐานะของการเป็น “ผู้ท้าทาย” (หรือเป็น “rising state” ในการเมืองโลก) ซึ่งวันนี้ทุกคนมีความเห็นตรงกันว่า หลังยุคโควิดแล้ว จีนจะก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมหาอำนาจของโลกอย่างชัดเจน และในทำนองเดียวกัน เราจะเห็นถึงการถดถอยของรัฐมหาอำนาจอีกฝ่ายหนึ่งคือ สหรัฐอเมริกา (ที่มีสถานะเป็น “ruling state” ซึ่งเป็นผู้ควบคุมระเบียบโลกแต่เดิม)

 

การเมืองโลกยุคหลังโควิดจึงอาจจะมีทั้งด้านการต่อสู้และความร่วมมือของรัฐมหาอำนาจใหญ่ และอาจจะต้องยอมรับว่า มิติของการต่อสู้ในยุคหลังโควิดอาจจะเข้มข้นมากขึ้นในเวทีโลก เพราะไม่เพียงรัฐมหาอำนาจเก่ายังต้องรักษาสถานะเดิมให้ได้ หากรัฐมหาอำนาจใหม่ก็จะต้องฝ่าฟันขึ้นไปสู่จุดที่เป็นที่ 1 ให้ได้ การต่อสู้ในระเบียบโลกหลังโควิดจึงน่าจะรุนแรงขึ้น

2) ดุลย์อำนาจใหม่

การมาของระเบียบโลกใหม่ยังมีนัยถึงการจัด “ดุลย์อำนาจใหม่” ในเวทีโลก เพราะอาการถดถอยของสหรัฐเห็นในชัดในสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้นำสหรัฐดำเนินนโยบายแบบ “ทอดทิ้ง” พันธมิตรในกรณีของยุโรป ในขณะที่จีนอาศัยช่องว่างตรงนี้แทรกเข้ามาสร้างบทบาทใหม่ การหันไปดำเนินนโยบายแบบ “โดดเดี่ยว” ของประธานาธิบดีทรัมป์ ภายใต้ชุดความคิด “อเมริกาต้องมาก่อน” (American First) จึงเท่ากับทำเนียบขาวละทิ้งบทบาทของการเป็นผู้นำในเวทีโลกไปอย่างน่าเสียดาย และชุดความคิดแบบของทรัมป์กลายเป็น “โอกาสทอง” ของการขยายบทบาทจีนในเวทีโลก โดยเฉพาะการเสนอขาย “โมเดลจีน” ในการแก้ปัญหาโควิด ในขณะที่สหรัฐเองกลับต้องพึ่งพาทั้งจีนและรัสเซียในกรณีนี้ และประสบกับปัญหาในระดับวิกฤตการณ์ใหญ่

หลังการสิ้นสุดของการระบาดแล้ว สถานะของทรัมป์น่าจะตกต่ำลงทั้งในเวทีการเมืองภายในและภายนอก ซึ่งก็รวมถึงการยอมรับต่อสถานะการเป็นผู้นำของสหรัฐในการเมืองโลกน่าจะถอยลงเช่นกันด้วย อันจะมีนัยอย่างสำคัญกับการจัดดุลย์อำนาจใหม่ในการเมืองโลก และทั้งยังน่าติดตามว่า บทบาทของทรัมป์ในการแก้ปัญหาโรคระบาดครั้งนี้จะยังเป็นโอกาสให้เขาชนะการเลือกตั้งในตอนปลายปี 2020 นี้ได้หรือไม่

3) ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่

หลายฝ่ายมีความกังวลกับสถานะของเศรษฐกิจโลกอย่างมาก และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่กำลังเกิดนั้น ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั้งในระดับโลกและระดับชาติโดยตรง สิ่งที่เป็นปัญหาอย่างมากก็คือ ผลที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิด “การถดถอยของเศรษฐกิจโลก” (global recession) หรือไม่ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในหลายปัจจัยที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกนั้น ล้วนอยู่ในภาวะถดถอยอย่างชัดเจน จนอาจกล่าวได้ว่า ผลกระทบนี้ยาวลงไปตั้งแต่จากระดับระหว่างประเทศ ลงไปถึงรัฐ ถึงชุมชน และลงไปสุดที่ชีวิตของผู้คนในสาขาอาชีพต่างๆ และเป็นผลกระทบที่เกิดในทางลบ และเกิดอย่างรุนแรง ดังเช่น ตัวเลขคนตกงานในสหรัฐทะยานขึ้นไม่หยุด หรือตัวเลขการปิดตัวลงของอุตสาหกรรมต่างๆ ก็เกิดไม่หยุดเช่นกัน

การถดถอยของเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้จะย้อนรอยภาวะดังกล่าวที่เกิดขึ้นในปี 1929-30 หรือไม่ อาจจะยังไม่มีใครตอบได้ แต่อย่างน้อยอาจตอบได้ว่า หลังจากการระบาดยุติลง อาจะนำไปสู่การกำเนิดของ “ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่” (new economic order) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ

ถดถอยทางเศรษฐกิจของโลกตะวันตกและสหรัฐ แม้จะยังไม่ชัดเจนว่า ในที่สุดแล้วจีนจะสามารถแบกรับการเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกในแบบที่สหรัฐเคยเป็นได้เพียงใด แต่เศรษฐกิจโลกหลังจากนี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง และอาจเห็นถึงการเติบโตของธุรกิจใหม่ๆ พร้อมกับการล้มลงของธุรกิจเก่าบางส่วน และที่สำคัญก็คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในอนาคตยังคงต้องใช้ระยะเวลา การฟื้นตัวอาจจะไม่รวดเร็วมากนัก

4) กระแสชาตินิยมใหม่

ผลจากการเกิดโรคระบาดในครั้งนี้ ทำให้ “กระแสชาตินิยมใหม่” เกิดขึ้นในรูปแบบของการ “ล็อกดาวน์” (lockdown) ประเทศ เช่น การปิดพรมแดน หรือการปิดรับการเข้ามาของบุคคลภายนอก หรือความพยายามที่จะพึ่งพาตนเองในด้านต่างๆ มากขึ้นในภาวะวิกฤตเช่นนี้ โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องการพึ่งพาตนเองในระดับชุมชน ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งต่อกระแสโลกาภิวัตน์ และสร้างทัศนะแบบต่อต้านกับองค์การระหว่างประเทศ ดังจะเห็นได้ว่า ทั้งสหภาพยุโรปและประชาคมอาเซียนมีบทบาทน้อยมากในสถานการณ์นี้ ฉะนั้นเมื่อการระบาดสิ้นสุดลงแล้ว สังคมภายในอาจจะรู้สึกว่าการเป็นสมาชิกองค์กรเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์

ความรู้สึกเช่นนี้จะมีผลอย่างมากต่อเอกภาพและอนาคตขององค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งเราได้เห็นมาแล้วจากกรณีการลาออกของอังกฤษจากอียู (BREXIT) มาแล้ว และในอีกด้าน วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ยังกลายเป็นโอกาสของผู้นำในการกระชับอำนาจ หรือนำไปสู่ความพยายามในการสร้าง “อำนาจรวมศูนย์” ที่เอื้อต่อผู้นำแบบเผด็จการมากขึ้น

5) แบบแผนของชีวิตทางสังคมใหม่

การใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อโรคนั้น เห็นได้ชัดถึงความเปลี่ยนแปลงของชีวิตในอนาคต เช่น ปฏิสัมพันธ์ของชีวิตในทางตรงจะลดน้อยลง เพราะกลัวการแพร่กระจายของเชื้อโรค ซึ่งการลดการติดต่อทางตรงเช่นนี้กลายเป็นโอกาสของการเติบโตของโลกดิจิตอล และปฎิเสธถึงบทบาทของโลกอินเตอร์เน็ตในชีวิตเราไม่ได้อีกแล้ว และยังรวมถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) อีกด้วย

ผลที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจึงไม่แต่เพียงการขยายตัวของการซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคทางออนไลน์ แต่รวมถึงการให้ความรู้ ให้ข้อมูลต่างๆ ในทางออนไลน์เช่นกันด้วย และการสื่อสารของสังคมก็จะยิ่งถูกผลักให้ไปอยู่ในโลกที่เป็นออนไลน์มากขึ้นด้วย และชีวิตทางสังคมในส่วนนี้ยังขยายไปถึงการจัดงานในรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด เช่น การจัดกิจกรรมทางสังคม การเรียนการสอน การแข่งขันกีฬา (ตัวอย่างเช่นการแข่งซูโม่ในญี่ปุ่นในแบบถ่ายทอดสด แต่ไม่อนุญาตให้มีผู้ชมในสนาม มีแต่ผู้ชมออนไลน์)

ผลสำคัญอีกส่วนคือ การเปลี่ยนแปลงชีวิตการทำงาน (ways of work) ของสังคม เช่น คนทำงานที่บ้านผ่านโลกออนไลน์ หรือครูสอนหนังสือผ่านห้องเรียนที่เป็นออนไลน์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้กำลังเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตแบบเดิมในสังคมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

 

อนาคตใหม่!

การเปลี่ยนแปลงทั้งห้าประการที่ทดลองนำเสนอในข้างต้น ต้องการชี้ให้เห็นว่า สังคมทั้งในระดับโลกและในระดับภายใน กำลังก้าวสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และเกิดผลกระทบจากระดับสูงสุดในเวทีโลก ลงมาจนถึงระดับล่างสุดที่เป็นชีวิตของผู้คนในสังคม และที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เป็นความท้าทายต่อวิสัยทัศน์และความสามารถของผู้นำรัฐบาลในฐานะของการเป็นผู้บริหารภาครัฐเป็นอย่างยิ่ง และยังมีนัยต่ออนาคตความอยู่รอดของรัฐนั้นๆ อีกด้วย

การนำเสนอเช่นนี้มีข้อสรุปสุดท้ายแต่เพียงประการเดียวคือ ชีวิตนับจากนี้ในยุคหลังโควิดจะไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกแล้ว … โลกยุคก่อนโควิดจบลงหมดแล้ว!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง