รู้จัก “เดลตาครอน” (ไฮบริด) ลูกผสมเดลตากับโอมิครอนในไทย น่ากังวลมากแค่ไหน
สถานการณ์โควิด-19 ในไทย ยังคงมีการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากโควิดสายพันธุ์ใหม่อย่าง “โอมิครอน” หรือ “โอไมครอน” โดยล่าสุด สธ. เผย ไทยตรวจพบโควิดลูกผสม “เดลตาครอน” แล้ว 73 ราย คาดว่าไม่แพร่เร็ว ไม่พบข้อบ่งชี้ความรุนแรง และไม่ต้องกังวล เพราะไทยแทบไม่พบ “เดลตา” ให้ “โอมิครอน” ผสมเป็น “เดลต้าครอน” แล้ว หลัง WHO จัดเป็นสายพันธุ์เฝ้าติดตาม
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยข้อมูลการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เชื้อโควิด 19 ช่วง 12-18 มี.ค.2565 จากสุ่มตรวจประชาชนที่ติดเชื้อ กลุ่มคนที่เสียชีวิต บุคลลากรการแพทย์ กลุ่มก้อนการติดเชื้อใหม่ที่ติดเกิน 50 คนขึ้นไป รวมถึงคนที่ติดเชื้อหลังรับวัคซีนครบโดสแล้ว 1,982 ราย พบเชื้อเดลตาเหลือเพียง 1 รายเท่านั้น ทำให้สายพันธุ์เชื้อที่ครองการระบาดในไทย ร้อยละ 99.9 เป็นสายพันธุ์โอมิครอน
“เมื่อแยกเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอนขณะนี้ พบสายพันธุ์ย่อยเพียง BA.1 และ BA.2 ยังไม่พบ BA.3 และตามคาดคือ BA.2 ที่แพร่เร็วกว่า 1.4 แซงหน้า BA.1 ครองพื้นที่ระบาดคิดเป็น ร้อยละ 78.5 แล้ว จากสัปดาห์ก่อนที่พบเพียงร้อยละ 18 แต่ยังไม่พบข้อมูลบ่งชี้ว่า BA.2 แรงกว่า หรือแตกต่าง จาก BA.1 เพียงแค่แพร่เร็วกว่า ซึ่งจะเห็นจำนวนคนติดที่มากกกว่า แต่ความรุนแรงไม่ต่างจากเดิม” หมอศุภกิจ กล่าว
“เดลตาครอน” ในไทยเกิดขึ้นได้อย่างไร
ส่วนความกังวลเรื่องสายพันธุ์เดลตาครอน (ผสมกันระหว่างสายพันธุ์เดลตา กับโอมิครอน) เกิดได้ 2 แบบ คือ
- การติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ในคนเดียวแต่ไม่ได้ผสมรวมกัน
- การผสมกัน 2 สายพันธุ์ออกลูกมาเป็นเชื้อใหม่ที่เป็นลูกผสมของ 2 สายพันธุ์ (ไฮบริด)
ทั้งนี้ ทั่วโลกมีรายงานเข้าระบบ GISAID แล้วกว่า 4,000 ราย แต่ที่ยอมรับและรายงานเป็นทางการมีเพียง 64 ราย กว่า 50 รายอยู่ในฝรั่งเศส ส่วนที่ยังไม่ยืนยัน 4,000 ราย ต้องรอวิเคราะห์เพิ่มเติม รวมถึงกว่า 70 รายที่ไทยรายงานเข้าไปด้วย
“เดลตาครอน” ในไทยต้องกังวลมากแค่ไหน
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า กรณีนี้ไม่ต้องตกใจ ถ้าใช่ “เดลตาครอน” ก็คือใช่ แต่ขณะนี้ประเทศไทยสัดส่วนสายพันธุ์เดลตาในไทยที่ลดลงเรื่อยๆ โอกาสจะมีเดลตาผสมกับโอมิครอนจึงน้อยลง เพราะไม่มีเดลตาเหลือให้ไปผสมแล้ว
หากเป็นเดลตาครอน ผสมกันแล้วเชื้อจะมีอิทธิฤทธิ์หรือแพร่เร็ว กว่าโอมิครอนเดิม ถ้า “เดลตาครอน” แพร่เร็วขึ้น ก็อาจเข้ามาแทนที่สายพันธุ์ “โอมิครอน” แต่วันนี้ยังไม่เห็นวี่แววว่าจะรุนแรง เร็ว หรือหลบภูมิมากกว่า คิดว่าไม่น่ามีปัญหา ส่วนความรุนแรงก็ไม่มีข้อมูล
โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังจัดชั้นของ “เดลตาครอน” เป็นสายพันธุ์ที่ต้องติดตามดูข้อมูล ไม่ใช่สายพันธุ์ที่น่าสนใจ หรือสายพันฺธุ์ที่น่าห่วงกังวล
สรุปแล้วประเทศไทยเป็นโอมิครอนเกือบทั้งหมด เดลตาหายาก ส่วนอัลฟาและเบตาหายไปหมดแล้ว สายพันธุ์ย่อยโอมิครอนเป็น BA.2 ขึ้นมาเกือบ 80% และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วน BA.2.2 และ BA.2.3 เจอประปรายจากการตรวจถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว โดยจะตรวจว่ามีการเพิ่มมากน้อยแค่ไหน ขณะที่เดลตาครอน GISAID ยืนยันทางการ 64 ราย ยังรอการวิเคราะห์ทวนสอบข้อมูลอีก 4 พันกว่าราย ซึ่งรวมถึงของไทยที่ส่งไป 73 ราย แต่ยังเป็นแค่สายพันธุ์ที่ต้องติดตาม ไม่มีข้อมูลเพียงพอเรื่องแพร่เร็ว รุนแรง หรือหลบภูมิ ทั้งหมดไม่ใช่ตัวอย่างที่เกิดใน 1-2 สัปดาห์นี้ แต่เกิดขึ้นช่วง ธ.ค. 2564- ม.ค. 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่ยังมีเดลตากับโอมิครอนกันมาก ทำให้มีโอกาสผสมกันได้มาก โดยคนไข้ทั้ง 73 รายหายเรียบร้อยดีแล้ว ไม่มีเสียชีวิต อาจจะเป็นพันธุ์ผสมอันหนึ่งที่ไม่ได้หนักหนา และถ้าไม่แพร่เร็ว อีกสักระยะก็จะจบ หรือแม้ว่าจะเป็นสายพันธุ์หนักแต่ไม่แพร่เร็วเหมือนเบตาก็จะหายไป
ส่วนมาตรการป้องกันต่างๆ ยังใช้ได้ ต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพราะโอมิครอนหลบภูมิได้เยอะ หากภูมิไม่พออาจมีโอกาสติดเชื้อง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ยังต้องเร่งฉีดวัคซีน
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.
คลิกเลย >>> TrueID Community <<<