รีเซต

หมอทวีศิลป์ ยัน ตรวจแบบหว่านแหไม่คุ้มค่า มุ่งตรวจกลุ่มเสี่ยง ยังได้ผลดีอยู่

หมอทวีศิลป์ ยัน ตรวจแบบหว่านแหไม่คุ้มค่า มุ่งตรวจกลุ่มเสี่ยง ยังได้ผลดีอยู่
มติชน
13 เมษายน 2563 ( 14:46 )
146
หมอทวีศิลป์ ยัน ตรวจแบบหว่านแหไม่คุ้มค่า มุ่งตรวจกลุ่มเสี่ยง ยังได้ผลดีอยู่

หมอทวีศิลป์ ยัน ตรวจแบบหว่านแหไม่คุ้มค่า เผย ไทยไม่ใช่ประเทศร่ำรวย ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด ยกเคสภูเก็ตเจาะเฉพาะกลุ่มแต่พบติดเชื้อสูง

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 13 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงว่า ผู้ติดเชื้อใหม่ 28 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,579 ราย หายป่วยแล้ว 1,288 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย รวมเป็น 40 ราย มีผู้ติดเชื้อกระจายตัวใน 68 จังหวัด ผู้ป่วยกลับบ้านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยรายใหม่มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย และผู้ป่วยใน State Quarantine สะสม 62 ราย (เพิ่มขึ้น 3 ราย จาก สตูล 2 ราย และยะลา 1 ราย)

สำหรับผู้เสียชีวิตรายที่ 39 เป็นชายไทยอายุ 56 ปี มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 เริ่มป่วยวันที่ 7 มีนาคม วันที่ 14 มีนาคม รักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจ.สมุทรปราการ ด้วยอาการไข้ ไอ หอบเหนื่อย เบื้องต้นแพทย์วินิจฉัยเป็นไข้หวัดใหญ่ จึงส่งตรวจไข้หวัดสายพันธ์เอ และบี และส่งตรวจโควิด-19 ซึ่งผลตรวจไข้หวัดใหญ่เป็นลบ แต่ยืนยันว่าติดเชื้อไวรัส ต่อมาวันที่ 13 มีนาคม ผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อยมากขึ้น และเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 12 เมษายน และรายที่ 40 เป็นชายไทยอายุ 43 ปี อาชีพพนักงานบริษัท มีประวัติโรคประจำตัวคือ เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง และไขมันในเลือดสูง เริ่มป่วยวันที่ 23 มีนาคม ด้วยอาการไข้สูง ไอ มีน้ำมูก ถ่ายเหลว ต่อมาวันที่ 5 เมษายน เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่กทม. ได้รับการวินิจฉัยเบื้องต้นว่าเป็นปอดติดเชื้อ และส่งตรวจโควิด-19 ต่อมาผลยืนยันติดเชื้อ วันที่ 9 เมษายน อาการแย่ลง ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดลดลง หัวใจหยุดเต้น เสียชีวิตวันที่ 11 เมษายน ด้วยภาวะการหายใจล้มเหลว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การหาความเชื่อมโยงสำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 28 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ 1.ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 25 ราย 1.1ผู้ป่วยที่มีประวัติกับผู้ป่วยยืนยัน หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 18 ราย 1.2ผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 7 ราย แบ่งเป็น คนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 1 ราย ไปสถานที่ชุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 1 ราย อาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในสถานที่แออัด หรือทำงานใกล้ชิดสัมผัสชาวต่างชาติ 2 ราย บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข 3 ราย และ2.ผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้า State Quarantines 3 ราย ทั้งนี้ในจำนวน 28 ราย กระจายตัวอยู่ใน 9 จังหวัด ประกอบด้วย กทม. 12 ราย ภูเก็ต 6 ราย ชลบุรี ยะลา สตูล จังหวัดละ 2 ราย ชุมพร นครพนม นนทบุรี เลย จังวหัดละ 1 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สถิติจังหวัดที่รับรักษาผู้ป่วยยืนยันสะสมทั่วประเทศจำนวน 2,579 คนใน 68 จังหวัด พบผู้ป่วยในกทม. 1,306 ราย ภูเก็ต 182 ราย นนทบุรี 150 ราย สมุทรปราการ 105 ราย ยะลา 84 ราย ชลบุรี 78 ราย ปัตตานี 77 ราย สงขลา 56 ราย เชียงใหม่ 40 ราย ปทุมธานี 33 ราย อยู่ระหว่างการสอบสวน 72 ราย สำหรับ 9 จังหวัดที่ยังไม่มีรายงานการรักษาผู้ป่วยประกอบด้วย กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พิจิตร ระนอง สิงห์บุรี และอ่างทอง ส่วนอัตราป่วยติดเชื้อต่อประชากรแสนคน จำแนกตามจังหวัดที่รับรักษา จากจำนวน 2,579 คน ใน 68 จังหวัด พบว่า อันดับหนึ่งคือ ภูเก็ต อัตราป่วยต่อประชาชกรแสนคนอยู่ที่ 44.03 ตามมาด้วย กทม. 23.03 ยะลา 15.72 นนทบุรี 11.94 ปัตตานี 10.67 สมุทรปราการ 7.86 สตูล 5.27 ชลบุรี 5.04 สงขลา 3.90 และนราธิวาส 3.48 ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกทม. และภาคใต้

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มีหลายคนมาถามตนว่าจะไปบริจาคช่วยที่ไหนดี ตนก็เรียนว่า ถ้าท่านฟังข้อมูลที่ชี้แจงทุกวันท่านอาจจะไม่ต้องมาถามตน เพราะจะสามารถตัดสินใจได้เลยว่า ที่ไหนที่มีคนไข้เยอะท่านก็สามารถบริจาคที่นั่นได้เลย ถ้าอยู่ที่ภาคใต้ก็ไปที่ภูเก็ต เพราะยังมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องการอยู่จำนวนมาก ส่วนคนที่อยู่กทม.หรือนนทบุรี ก็สามารถนำมาบริจาคที่ส่วนกลางได้

นพ.ทวีศิปล์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีของ จ.ภูเก็ต วันที่ 26 มกราคม ตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อ 1 ราย ต่อมาภายในระยะเวลาประมาณ 2 เดือน จำนวนผู้ป่วยค่อยๆ พุ่งขึ้น ต่อมาในวันที่ 4 เมษายน มีการหาผู้ป่วยเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง จึงพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยการติดเชื้อของผู้ป่วย 160 ราย แบ่งเป็น สัมผัสใกล้ชิดกลับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ 33 ราย อาชีพเสี่ยง 33 ราย คนต่างชาติเดินทางมากจากต่างประเทศ 10 ราย คนไทยมาจากต่างประเทศ 4 ราย อาชีพเสี่ยง 4 ราย ไปสถานที่ชุมชน 3 ราย บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข 1 ราย สัมผัสจากผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ 1 ราย ทั้งนี้ผู้ป่วยกว่า 50% มาตรวจโควิด-19 หลังมีอาการภายใน 3 วัน และ 27% มาตรวจหลัง 1 สัปดาห์ คือมาตรวจช้า ถ้ามาตรวจช้าแบบนี้จะมีโอกาสที่ท่านจะเป็นพาหะนำโรคไปติดคนอื่นได้

ทั้งนี้จำนวนร้อยละของผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อจากการทำ Mass Screening การตรวจหาเชื้อในจ.ภูเก็ต ของแต่ละจุด ในช่วงวันที่ 5-7 และวันที่ 10 เมษายน 2563 พบว่า โรงพยาบาลป่าตอง จำนวนตรวจ 1,712 คน ตรวจเชื้อ 19 คน (1.11%) โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต (อ.เมือง) จำนวนตรวจ 763 คน ตรวจเชื้อ 2 คน (0.26%) รพ.สต.เชิงทะเล (อ.ถลาง) จำนวนตรวจ 103 คน ตรวจเชื้อ 5 คน (4.85%) โรงพยาบาลถลาง (อ.ถลาง) จำนวนตรวจ 337 คน ตรวจเชื้อ 0 คน (0.00%) หมายความว่าการเฉพาะเจาะจงในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ถือว่าไม่เป็นการสิ้นเปลืองหรือต้องใช้บุคลากรจำนวนมาก เช่น รพ.สต.เชิงทะเล ที่ตรวจจำนวนน้อย แต่ก็สามารถตรวจพบคนติดเชื้อได้เยอะ

“จากบทเรียนการควบคุมป้องกันโรคของทางจ.ภูเก็ตพบว่า การตรวจคัดกรองในวงกว้างแบบหว่านแห ถือว่าไม่คุ้มค่า ซึ่งคำถามที่ผมถูกถามบ่อยๆ ว่า เพราะประเทศไทยตรวจน้อย จึงพบคนติดเชื้อต่ำ ตัวอย่างของภูเก็ตบอกเราได้เลยว่า เราตรวจน้อย ตรวจเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เราประหยัด และตรวจพบได้เยอะ ยังเป็นคำตอบของเราอยู่ เพราะว่าประเทศไทยเราไม่ได้เป็นประเทศที่ร่ำรวย มีเงินมีทอง แต่เราใช้เงินอย่างประหยัด แล้วเทคโนโลยีการตรวจนี้ถึงแม้จะเข้ามาใหม่ ก็ต้องใช้เงินเคสหนึ่งหลายพันบาท ซึ่งเป็นเงินของพวกเราทั้งนั้น จึงไม่ควรที่จะต้องจ่ายไปมากมาย” โฆษก ศบค. กล่าว

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โลกพบว่าขณะนี้มีผู้ติดเชื้อรวม 1,853,155 คน รักษาหายแล้ว 423,625 และมีผู้เสียชีวิตรวม 114,247 คน โดยสหรัฐอเมริกามีผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุดจำนวน 560,433 คน สเปน 166,831 คน อิตาลี 156,363 คน และฝรั่งเศส 132,591 คน ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 48

ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม ถึง 13 เมษายน 2663 พบว่า จำนวนผู้รักษาหายต่อวัน และผู้รักษาหายสะสม 1,288 ราย ติดเชื้อใหม่รายวันก็ลดจำนวนลง หมายถึงว่ามาตรการป้องกันของเราทำได้ดีควบคู่กับการรักษา นั่นหมายความว่า เตียงจะว่างมากขึ้น นี่แหละที่ทำให้ไม่ตายแบบใบไม่ร่วง เพราะคนเข้ามาน้อย และคนออกไปก็เยอะขึ้น จึงมีเตียงรองรับคนป่วยได้เพียงพอ ด้านศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง รายงานว่า พบคนทำความผิดออกนอกเคหสถาน 820 คน แต่คนชุมนุมมั่วสุม 135 ราย

ด้านการจัดสรรหน้ากากอนามัย รายงานว่า จำนวนเข้า 16,036,500 ชิ้น ระหว่างจัดส่ง 1,869,500 ชิ้น จัดส่งแล้ว 14,167,000 ชิ้น โดยจัดส่งให้กระทรวงสารณสุข วันที่ 11 เมษายน 2,744,000 ชิ้น วันที่ 10 เมษายน 2,119,450 ชิ้น วันที่ 9 เมษายน 3,543,700 ชิ้น วันที่ 1,424,150 ชิ้น และ วันที่ 7 เมษายน 325,400 ชิ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง