รีเซต

กยท. ชงครม.ไฟเขียว 2,400 ล้าน จ่ายเกษตรกรที่ยังตกค้างไม่ได้รับเงินโครงการประกันรายได้ระยะที่ 1

กยท. ชงครม.ไฟเขียว 2,400 ล้าน จ่ายเกษตรกรที่ยังตกค้างไม่ได้รับเงินโครงการประกันรายได้ระยะที่ 1
ข่าวสด
17 สิงหาคม 2563 ( 16:28 )
296

 

กยท. ชง ครม. พรุ่งนี้ อนุมัติ 2,400 ล้านบาท ค้างจ่ายโครงการประกันรายได้ระยะที่ 1 หวังจบโครงการในปีงบ 63 ก่อน ดันโครงการระยะ 2 ในปีต่อไป 35,000 ล้าน

กยท. ชงครม.ของบ 2,400 ล้าน - นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 ส.ค.นี้ จะมีการพิจารณางบประมาณโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 1 ที่อีกอยู่ 2,400 ล้านบาท เพิ่มเติมจากที่เคยอนุมัติไปก่อนหน้านี้ 25,000 ล้านบาท เนื่องจากยังค้างจ่ายกับเกษตรกรบางส่วน ส่งผลให้ไม่สามารถปิดโครงการฯระยะที่ 1 ได้ ซึ่งกยท. มีเป้าหมายที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2563 นี้ ดังนั้นหากครม. เห็นชอบงบประมาณดังกล่าว ก็จะเร่งรัดเบิกจ่ายทันที ซึ่งโครงการฯ ระยะที่ 1 นั้นดำเนินการไปแล้วกว่า 98-99%

 

สำหรับโครงการประกันรายได้ระยะที่ 2 วงเงินเบื้องต้นอยู่ที่ 35,000 ล้านบาท ซึ่งจะพิจารณาอีกครั้ง คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2564 แต่ทั้งนี้ เมื่อราคายางพาราปรับเพิ่มขึ้น ก็คาดว่าจะทำให้การชดเชยมีวงเงินที่ลดลงตาม ซึ่ง กยท. จะพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อให้เป็นประโยชน์ทั้งภาครัฐและเกษตรกรต่อไป

 

ทั้งนี้ มาตรการแก้ไขปัญหายางพาราโดยรวม รัฐบาลหวังให้มีการยกระดับการพัฒนายางทั้งระบบครบวงจร ให้ดีขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมา ทั้งในด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด เพื่อให้ไทยเป็นประเทศที่ยังคงรักษาสถานะผู้นำการผลิตและผู้ส่งออกยางอันดับหนึ่งของโลก มีศักยภาพในการแข่งขันด้านยางพาราในระดับโลกและมีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้สูงขึ้น ตลอดจนช่วยสนับสนุนการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมยางและเป็นสินค้าหลักที่สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ

 

โดย กยท. มี แผนเกิดการสร้าง Rubber Valley ที่ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในพื้นที่และใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการแปรรูปยางพารา ซึ่งกยท. มีพื้นที่พร้อมพัฒนาอยู่แล้ว 41,000 ไร่ อีกทั้ง ยังเป็นพื้นที่ปลูกยางจำนวนมาก เกษตรกรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพชาวสวนยาง มีตลาดกลางยางพาราในการประมูลซื้อขายยางพาราอยู่ในพื้นที่ เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางการค้าที่สำคัญของภาคใต้ เป็นแหล่งที่ตั้งของโรงงานผลิตภัณฑ์ยางชั้นนำของภูมิภาค ซึ่งเหมาะสมในการส่งเสริมให้เป็นแหล่งธุรกิจยางพาราภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้ กยท. ต้องผลักดันให้เกิดการพัฒนางานวิจัย คิดค้นนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ยางพารา โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ดำเนินตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้านระบบตลาดนำการผลิต เพิ่มช่องทางการขาย ลดต้นทุนการผลิต ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ได้ผลักดันนโยบาย Thailand 4.0 หวังให้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นชาวสวนยาง ภาครัฐบาล ภาคเอกชน ร่วมมือกัน มีแนวคิดเดียวกัน และเดินไปด้วยกัน เกิดเป็นความเข้มแข็งมีอำนาจต่อรอง ช่วยกำหนดราคายางให้เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งจะสมประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย เพราะเรามีวัตถุดิบน้ำยางดีที่สุดในโลกอยู่แล้ว

 

นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด) กล่าวว่า มีแนวคิดแผนแม่บทนำร่องโครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพาราให้ครบวงจรใน Rubber Valley เพื่อสร้างเป็นอาณาจักรด้านยางพาราทั้งระบบครบวงจร เป็นจุดศูนย์กลางในพื้นที่อาเซียน ในด้านแหล่งข้อมูล การเรียนรู้ การผลิต แปรรูป ส่งออก เต็มรูปแบบ รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมเฉพาะด้านยางพารา แก่ผู้ที่สนใจศึกษาดูงานด้านยางพาราได้อย่างครบวงจร ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้ทราบถึงข้อดี ข้อจำกัดในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริง

 

นอกจากนี้ กยท. ยังให้ความสำคัญด้านการวิจัย โดยการสนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านยางพารา ด้วยการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนายางพาราร้อยละ 5 ของทุกปี สำหรับใช้ศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์ และทดลองเกี่ยวกับยางอย่างมีระบบ และได้ร่วมสนับสนุนทุนวิจัยกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนทั้งในและนอกประเทศเพื่อสร้างบุคลากร ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ยาง รวมถึงการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรชาวสวนยาง ได้มีโครงการทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีสำหรับบุตรเกษตรกรชาวสวนยางด้วย

 

นายปัณณวิชญ์ วงศ์สุวัฒน์ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง กล่าวว่า กยท. เป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องพัฒนายางพาราของประเทศให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามยุทธศาสตร์ชาติ และขับเคลื่อนให้ประเทศเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา ซึ่ง กยท. ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาและดำเนินธุรกิจยางพารา โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยการสร้างความเข้มแข็งและทักษะที่จำเป็นสำหรับการเป็นแก่ผู้ประกอบการให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง เปิดโอกาสให้สถาบันเกษตรกรที่มีขีดความสามารถด้านยางพารา แต่มีข้อจำกัดในเรื่องของการลงทุน มีโอกาสเข้าถึงโรงงานการผลิตของ กยท. เพื่อส่งเสริมธุรกิจการผลิต สนับสนุนให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่แปรรูปยาง ปรับปรุง/พัฒนาคุณภาพยางแปรรูปให้ได้มาตรฐาน GMP ตลอดจนการพัฒนาปัจจัยสนับสนุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่มุ่งเน้นการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม รวมถึงลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการตลาด เพื่อให้มีตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ยาง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง