รีเซต

หมอห่วง "ฆ่าตัวตาย" พุ่ง! เร่งสร้าง "วัคซีนใจ" ต้านโควิด-19

หมอห่วง "ฆ่าตัวตาย" พุ่ง! เร่งสร้าง "วัคซีนใจ" ต้านโควิด-19
มติชน
22 เมษายน 2563 ( 17:41 )
182
1
หมอห่วง "ฆ่าตัวตาย" พุ่ง! เร่งสร้าง "วัคซีนใจ" ต้านโควิด-19

หมอห่วง “ฆ่าตัวตาย” พุ่ง! เร่งสร้าง “วัคซีนใจ” ต้านโควิด-19

กรมสุขภาพจิต- เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในมิติของสุขภาพจิต ว่า จากการประเมินสถานการณ์ฉากทัศน์ของการวางแผนด้านการดำเนินงานเรื่องสุขภาพจิต พบว่า ในระยะ 2 เดือน หลังจากเกิดวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จะเกิดปรากฏการณ์ทางด้านสุขภาพจิต เกี่ยวกับโรคทางจิตเวชศาสตร์ ที่เกิดจากปัญหาด้านเศรษฐกิจและความเครียด ทำให้เกิดภาวะ “หมดไฟ” ที่เป็นความเหนื่อยล้าสะสมในผู้ที่ทำงาน หรือเผชิญกับความเครียดเป็นระยะเวลายาวนาน

“สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ควบคุมโรคได้แล้ว แต่จากการที่กรมสุขภาพจิตได้สำรวจ 3 ครั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 เมษายน ใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเครียดรุนแรง กลุ่มเครียดปานกลาง กลุ่มเครียดน้อย พบว่าประชาชนคนไทยมีความเครียดมากขึ้น เฉพาะในกลุ่มบุคลากรสาธารณสุข และมีในจำนวนผู้เครียดน้อย จำนวนเพิ่มมากขึ้น นั่นหมายความว่า มีประชาชนส่วนหนึ่งสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และลดความเครียดลงได้ แต่ก็มีประมาณร้อยละ 10 ที่ปรับตัวไม่ได้ ซึ่งปัญหาหนึ่งที่ทำให้คนเครียดมาก คือการถูกตีตรา” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

ทั้งนี้ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตวางเป้าหมายในการดูแล 2 ประการ คือ 1.ลดผลกระทบด้านสุขภาพจิตระดับบุคล ต้องเข้าถึงบริการ ต้องได้รับการดูแล 2.การเพิ่มศักยภาพของครอบครัวและชุมชนเพื่อร่วมกันดูแลสุขภาพจิต หลักการคือ ประชาชนต้องรู้สภาวะเครียดกังวลของตัวเองว่าอยู่ขั้นไหน เพราะถ้าเครียดนาน เครียดมากจะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า และฆ่าตัวตาย

“ยิ่งผลพวงจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เราไปไหนมาไหนไม่ได้ ปัญหารอบด้านที่เข้ามามีผลต่อตัวเลขการฆ่าตัวตาย ซึ่งในสมัยต้มยำกุ้ง ประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 2 ต่อแสนประชากร หรือ 2 คน ต่อวัน และทำให้อัตราการการฆ่าตัวตายเฉลี่ยในช่วงนั้นไปถึง 8.59 ต่อแสนประชากร รอบนี้จะต้องช่วยกันไม่ให้มีการฆ่าตัวตายเพิ่มเกิน 1 คนต่อวัน และไม่ให้อัตราการฆ่าตัวตายเฉลี่ยไปถึง 8.59 ต่อแสนประชากร เหมือนตอนนั้น จากตอนนี้อัตราการฆ่าตัวตายของไทยอยู่ที่ 6.31 ต่อแสนประชากร” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จะให้อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) เคาะประตูบ้านกลุ่มเสี่ยงเพื่อคัดกรองสุขภาพจิต หากมีปัญหาก็ส่งต่อจิตแพทย์ดูแล อย่าแปลกใจหากมีบุคลากรทางด้านจิตเวชโทรไปหา ส่วนคนที่ยังไม่เสี่ยงการเคาะประตูบ้านยังไปไม่ถึงสามารถโหลดแอพพลิเคชั่น Mental Health Check Up เพื่อวัดระดับความเครียดของตัวเองก่อนได้ หากมีปัญหาให้รีบปรึกษาจิตแพทย์ หรือโทร. 1323

“ขณะเดียวกัน เราต้องสร้างวัคซีนใจด้วย โดยคนใครครอบครัว ชุมชนดูแลซึ่งกันและกัน มี 4 หลัก คือ 1.ทำให้สงบด้วยการมีสติ รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง 2.รู้จักวิธีป้องกันตัวเองได้ สร้างพื้นที่ปลอดภัยในบ้าน ในชุมชน 3.มีความหวัง สร้างความหวังเตรียมพร้อมเรื่องการประกอบอาชีพหลังมีการผ่อนปรนมาตรการ 4.ห่างกายเพื่อควบคุมโรคแต่ให้มีการพูดคุยกันได้อย่างสม่ำเสมอ ระหว่างญาติมิตร ทั้งโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวาร และดูแลสภาพจิตใจกันได้ และขอให้ยึดคาถา “อึด ฮึด สู้” ประเทศไทยเคยผ่านศึกมานับไม่ถ้วน อย่างน้ำท่วมปี 2554 คนได้รับผลกระทบกว่า 10 ล้านคน เราก็ผ่านมาได้ นี่ก็เป็นอีกศึกหนึ่งที่เราต้องอึด ฮึด สู้ ให้ได้” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง